สหรัฐฯ เตรียมถอดคาราจีแนนออกจากบัญชีวัตถุดิบอาหารเกษตรอินทรีย์

สหรัฐฯ เตรียมถอดคาราจีแนนออกจากบัญชีวัตถุดิบอาหารเกษตรอินทรีย์

Photo Credit: กรมส่งเสริมการส่งออกระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

คณะกรรมาธิการมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (The National Organic Standards Board หรือ NOSB) มีการลงมติถอดถอนสารคาราจีแนน (Carrageenan) ออกจากบัญชีสารปรุงแต่งที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการผลิตสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ในระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ด้วยคะแนนเสียง 10 ต่อ 3 สารคาราจีแนนเป็นสารไฟเบอร์ประเภทหนึ่งที่สามารถสกัดได้จากสาหร่ายสีแดง (Red Seaweed) โดยสารดังกล่าวมักจะถูกนำใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหารเพื่อทำให้อาหารมีความเหนียวข้น มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าประเภทนม (Dairy Products) โปรตีนเชค หรือสินค้าอาหารทดแทนผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น

ทั้งนี้ มีการถกเถียงกันถึงเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคสารคาราจีแนนในกลุ่มนักวิชาการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนสินค้าอาหารธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ มาเป็นระยะเวลานาน โดยมีงานศึกษาวิจัยหลายฉบับพบว่า การบริโภคสารดังกล่าวในปริมาณมากอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค เช่น อาการอักเสบในช่องท้อง และระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration หรือ FDA) เคยปฏิเสธคำร้องของ Joanne Tobacman นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Physician Scientist) วิทยาลัยการแพทย์มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (The University of Illinois College of Medicine) เพื่อถอดถอนสารคาราจีแนนออกจากบัญชีสารปรุงแต่งเนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค มาแล้วในปี 2556

ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังอนุญาตให้ใช้สารคาราจีแนนในการผลิตสินค้าอาหารสำหรับเด็กทารกและอาหารเกษตรอินทรีย์อยู่ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 คณะกรรมธิการผู้เชี่ยวชาญด้านสารปรุงแต่งอาหาร (The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives หรือ JECFA) ซึ่งเป็นองค์กรร่วมระหว่างองค์การอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture Organization หรือ FAO) และ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ประกาศรับรองความปลอดภัยของการใช้สารคาราจีแนนในการผลิตอาหาร สำหรับเด็กทารก และอาหารพิเศษสำหรับผู้ป่วยหลังจากได้ที่ได้ศึกษารายงานการทดลองใช้สารดังกล่าวในลูกหมูซึ่งมีลักษณะทางการยภาพใกล้เคียงกับเด็กทารก โดยไม่พบความเสี่ยงของการใช้สารดังกล่าวในปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อลิตร

หลังจากการลงมติคณะกรรมาธิการมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งชาติได้ส่งเรื่องไปยัง กระทรวงเกษตรสหรัฐ (U.S. Department of Agriculture หรือ USDA) เพื่อพิจารณาถอดถอนสารดังกล่าวต่อไป โดยกระทรวงฯ มีระยะเวลาการพิจารณาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อไป

ศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร (The Center for Food Safety หรือ CFS) กล่าวว่า การ พิจารณาถอดถอนสารคาราจีแนนออกจากบัญชีสารอนุญาตสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นก่าวย่างสำคัญในการยกมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีการผ่อนผันอนุญาตให้ใช้วัตถุดิบที่ไม่ใช่วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์เพื่อการผลิตสินค้า อาหารเกษตรอินทรีย์ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า วัตถุดิบดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อ สุขภาพผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ต้องมีความจำเป็นใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า โดยเมื่อจากระยะเวลาผ่อนผันใกล้สิ้นสุดลงคณะกรรมาธิการมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งชาติจะต้องทบทวนข้อมูลการศึกษาวิจัยที่ เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการพิจารณาขยายระยะเวลาการผ่อนผันออกไปอีกครั้งละ 5 ปี ซึ่งสารคาราจีแนนเป็นหนึ่งในสารที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการพิจารณาผ่อนผันเป็นระยะเวลา 5 ปีโดยระยะเวลาผ่อนผันจะสิ้นสุดลงในปี 2561

Mr. Cameron Harsh ผู้จัดการอาวุโสด้านนโยบายสัตว์และเกษตรอินทรีย์แห่งศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหารกล่าวว่า คณะกรรมาธิการมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งชาติไม่พบความจำเป็นของการใช้ สารคาราจีแนนในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เนื่องจากพบผู้ผลิตหลายรายสามารถหาสารอื่นมาใช้ทดแทนในการผลิตสินค้าได้

สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (The Grocery Manufacturers Association) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งชาติควรที่จะพิจารณาต่ออายุการอนุญาตใช้สารคาราจีแนน เป็นสารปรุงแต่งต่อไปเนื่องจากสารดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้ง ยังไม่มีสารทดแทนอื่นที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าสารคาราจีแนน นอกจากนี้ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารทั่วโลกยังรับรองความปลอดภัยของการบริโภคสารดังกล่าวอีกด้วย

บทวิเคราะห์: ปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้นเนื่องจากเริ่มตระหนักว่าการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้องจะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคภัย    ต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต และโรคมะเร็ง เป็นต้น ส่งผลทำให้ตลาดสินค้าอาหารธรรมชาติสินค้าไม่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (Non-GMOs) และสินค้าเกษตรอินทรีย์มีอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ มีมูลค่าทั้งสิ้น 39,100 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.41 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังคาดว่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสะสม ต่อปี (Compound Annual Growth Rate หรือ CAGR) ร้อยละ 14 ในช่วงระหว่างปี 2557 – 2561

สารคาราจีแนนถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหารเพื่อเพิ่มความเหนียวและเข้มข้นให้เนื้ออาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านมและผลิตภัณฑ์จากนม เจลลี น้ำผลไม้ อาหารสำเร็จรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาสีฟันและ เจลน้ำหอมปรับอากาศอีกด้วย

สหรัฐฯ สามารถผลิตสารคาราจีแนนได้เองภายในประเทศโดยผู้ผลิตที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท Cargill Inc. บริษัท FMC Biopolymer และ บริษัท Ingredients Solutions Inc. เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังมีความต้องการนำเข้าสารคาราจีแนนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารในประเทศ ในระหว่างเดือนมกราคม – กันายน 2559 สหรัฐฯ นำเข้าสารคาราจีแนนเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 58.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 พันล้านบาท) โดยนำเข้าจากฟิลิปปินส์สูงที่สุดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 25.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9 ร้อยล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 43.61 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ชิลี ฝรั่งเศส สเปน และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ทั้งนี้ ไม่พบปริมาณการนำเข้าจากประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่พบปริมาณการนำเข้าสารคาราจีแนนโดยตรงจากไทยแต่พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีการใช้สารดังกล่าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตจากไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่อยู่ ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเหล่านี้อาจจะได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบใหม่ที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตได้

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ เป็นตลาดศักยภาพและมีแนวโน้ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยที่สนใจเจาะตลาดดังกล่าวควรที่จะศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำตลาดเพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ในการเจาะตลาดในอนาคต

การพิจารณาถอดถอนสารคาราจีแนนออกจากบัญชีสารปรุงแต่งที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการผลิต สินค้าเกษตรอินทรีย์จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และเครื่องดื่มสำเร็จรูป ดังนั้น ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยจึงควรที่จะเตรียมความพร้อมในการการวิจัยพัฒนาแสวงหา วัตถุดิบทดแทนโดยเน้นการคงคุณภาพและรสชาติของสินค้าเพื่อรับมือกับกฎระเบียบ เงื่อนไข และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยกเลิกการอนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอนาคตอันใกล้นี้

ขอขอบคุณข่าวจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่นี่

Share This Post!

336 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top