โครงสร้างและแนวโน้มทางการค้า2018-04-19T12:46:27-04:00

โครงสร้างและแนวโน้มทางการค้า

นโยบายทางการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของสหรัฐฯมุ่งเน้นการเปิดตลาดเสรีและความเท่าเทียมกันเป็นหลัก โดยสหรัฐฯ ปล่อยให้เศรษฐกิจมหภาคดำเนินไปอย่างเสรีภายใต้กลไกตลาด และถึงแม้ว่าการค้าการลงทุนจะมีข้อจำกัดบางประการ แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาหลายประเทศแล้ว การค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ถือว่ามีข้อจำกัดที่น้อยมาก ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงเป็นตลาดที่นักลงทุนและผู้ค้าทั่วโลกสนใจเปิดตลาดแห่งนี้ ในปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติต่างๆ มากมายส่วนทางด้านการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ได้มีการเจรจาและตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเรื่อยมา โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดตลาดการค้านี้ก็เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของทุกๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ครัวเรือน เกษตรกรรม ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรม ผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภค และหน่วยงานทางธุรกิจ ของทั้งสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ประเทศสหรัฐฯ ยังมีนโยบายในการขยายเขตการค้าเสรีกับอีกหลายๆ ประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯนับตั้งแต่การประกาศอิสรภาพในปี ค.ศ. 1776 รัฐบาลสหรัฐฯได้มีการสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เรื่อยมา ด้วยเหตุนี้เอง สหรัฐฯ จึงเป็นประเทศต้นกำเนิดของ นวัติกรรมสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน อินเตอร์เนต ไมโครชิพ เลเซอร์ โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น อีเมลล์ ไมโครเวฟ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีจอภาพ LCD และ LED บาร์โคด ตู้ ATM และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนโยบายสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังคงเป็นนโยบายหลักของการค้าและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จวบจนทุกวันนี้นอกเหนือจากนี้แล้ว สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนภาคเกษตรกรรมต่างๆ ซึ่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติของสหรัฐฯ เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำเหมือง และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ เนื้อที่อันกว้างขวางและภูมิอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ประเทศนี้สามารถเพาะปลูกให้ผลผลิตทางเกษตรกรรมตลอดปี

ทิศทางการดำเนินนโยบายทางการค้าสหรัฐฯ ในปี 2557

1. ภาพรวม

การดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2557 ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2556 ในการส่งเสริมการเปิดตลาดการส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการจ้างงานในสหรัฐฯ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งตัวเลขสถิติจากปี 2556 ชี้ให้เห็นว่า ทุก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับมาจากการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวช่วยสนับสนุนการจ้างงานในสหรัฐฯ จำนวน 5,500 คน และทุก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้จากการส่งออกบริการของสหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนการจ้างงานในสหรัฐฯ จำนวน 5,900 คน

2. การส่งเสริมการจ้างงานผ่านการค้า

2.1 Trans-Pacific Partnership (TPP) สหรัฐฯ จะผลักดันให้การสรุปผลการเจรจาความตกลง TPP ประสบผลสำเร็จภายในสิ้นปี 2557 ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินการหารือร่วมกับประเทศต่างๆ ที่ได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มเติมของความตกลงฯ ซึ่งสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกปัจจุบันทั้งหมดได้เน้นย้ำว่า ประเทศที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกใหม่จะต้องสามารถรับข้อกำหนดที่มีมาตรฐานสูงที่ได้เจรจาไปแล้ว

2.2 Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) สหรัฐฯ คาดว่าการเจรจาความตกลง TTIP ในปี 2557 จะมีความคืบหน้าในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะยังคงมุ่งเน้นการรักษามาตรฐานที่สูงในการเจรจาเรื่องสิทธิแรงงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยฝ่ายบริหารสหรัฐฯ จะดำเนินการหารือร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ และผู้ที่มีส่วนได้เสียตลอดระยะเวลาการเจรจา

2.3 Trade in Services Agreement (TiSA) ในการเจรจาความตกลงเพื่อส่งเสริมการค้าบริการระหว่างประเทศ (TiSA) สหรัฐฯ จะผลักดันเรื่อง (1) การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ให้บริการบนพื้นฐานของคุณภาพและความสามารถมากกว่าการจำกัดเป็นประเทศ (2) การเสริมสร้างความโปร่งใสด้านกฎระเบียบและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการ และ (3) การรองรับประเด็นใหม่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดโลก และการเปลี่ยนแปลงต่อวิธีการดำเนินธุรกิจการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

2.4 Information Technology Agreement (ITA) สหรัฐฯ จะรักษาบทบาทผู้นำในการขยายความตกลงว่าด้วยสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และผลักดันให้การเจรจาสรุปผลสำเร็จ

2.5 BITs: ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อไปในการเจรจาสนธิสัญญาการลงทุนทวิภาคี (Bilateral Investment Treaty: BIT) กับอินเดีย จีน และมอริเชียส และศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำสนธิสัญญา BIT กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ เช่น รัสเซีย กัมพูชา กานา กาบอง และกลุ่มประเทศ East African Community (EAC)

3. การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน

3.1 จีน : สหรัฐฯ จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น และผลักดันการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อเสถียรภาพและการเจริญทางเศรษฐกิจโลกของจีน โดยสหรัฐฯ จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้า และติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีของจีนต่อไปผ่านเวทีการหารือต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดสินค้าเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศและคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ สินค้าอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความโปร่งใส นอกจากนี้สหรัฐฯ จะผลักดันการเจรจาสนธิสัญญา BIT ให้มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และใช้การเจรจาในการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ (Government Procurement Agreement: GPA) ภายใต้ WTO ของจีน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprise: SOEs) ของจีน

3.2 รัสเซีย: สหรัฐฯ จะติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัสเซียภายใต้ WTO และมุ่งเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาที่เป็น systemic issues ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน

3.3 อินเดีย: สหรัฐฯ จะยังคงเดินหน้าต่อไปในการเจรจาสนธิสัญญา BIT กับอินเดีย และจะยังคงใช้เวทีการประชุม US-India Trade Policy Forum ในการหารือในประเด็นการค้าและการลงทุนที่สหรัฐฯ ยังมีข้อกังวล ได้แก่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายว่าด้วยการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

3.4 เอเปค: สหรัฐฯ จะมุ่งเน้นการเจรจาเรื่อง (1) supply chain performance (2) หลักปฏิบัติที่ดีในการออกกฎระเบียบ (3) global value chain (4) สินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม (5) นวัตกรรมและนโยบายการค้า

3.5 อาเซียน: สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนและผลักดันการสรุปผลการเจรจาภายใต้ Expanded Economic Engagement หรือ E3 Initiative และกรอบความตกลงการค้าการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ – อาเซียน (US-ASEAN TIFA)

4. การติดตามและบังคับใช้กฏหมายการค้าสหรัฐฯ

4.1 สหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อไปในการติดตามและบังคับใช้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ รวมถึงการผลักดันให้ประเทศคู่ค้ายกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ผ่านหน่วยงาน International Trade Enforcement Center (ITEC) และจะยังคงใช้แนวทางการหารือ และ/หรือ กระบวนการยุติข้อพิพาทภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง (1) การควบคุมจำกัดการส่งออกแร่ธาตุหายากของจีน (2) การห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ บางรายการ รวมถึงสินค้าสัตว์ปีก เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ ของอินเดีย (3) ข้อจำกัดของอินโดนีเซียในการนำเข้าสินค้าพืชสวนและสินค้าที่ผลิตจากเนื้อสัตว์ และ (4) การดำเนินมาตรการเยียวยาทางการค้าของสหรัฐฯ

4.2 สหรัฐฯ จะยังคงดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาต่อไปอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามการคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าภายใต้มาตรา 301 พิเศษ

5. การขจัดปัญหาความยากจนและเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก

5.1 GSP ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ ในการพิจารณาการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแบบทั่วไป (GSP) ที่ได้หมดอายุลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 โดยพิจารณาถึงบทบาทของโครงการ GSP ต่อการช่วยเหลือผู้ผลิตในสหรัฐฯ ให้สามารถนำเข้าปัจจัยการผลิตในราคาที่ถูกลงเพื่อนำมาใช้ในการผลิตภายในประเทศต่อไป รวมถึงการปฏิรูปโครงการ GSP โดยทบทวนถึงขีดความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของประเทศที่ได้รับสิทธิ และการติดตามการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ในการรับสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแรงงานในประเทศผู้รับสิทธิ เช่น บังกลาเทศ ซึ่งสหรัฐฯ จะติดตามการบังคับใช้แผนการดำเนินการ (action plan) ของบังกลาเทศเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคืนสิทธิ GSP

5.2 AGOA ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ ในการทบทวนสิทธิประโยชน์ภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้กฎหมาย African Growth and Opportunity Act (AGOA) เพื่อให้ได้รับการพิจารณาต่ออายุออกไปอีกหลังจากปี 2558

6. การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆ

6.1 แรงงาน สหรัฐฯ จะติดตามการบังคับใช้แผนการดำเนินการ (Action Plan) ของโคลัมเบีย ภายใต้ความตกลง FTA สหรัฐฯ –โคลัมเบียในเรื่องการป้องกันความรุนแรงต่อผู้นำสหภาพแรงงาน การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด และการคุ้มครองสิทธิแรงงาน นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะติดตาม (1) การดำเนินการของกัวเตมาลาในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้นำสหภาพแรงงานภายใต้ Labor Enforcement Plan ที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกันในเดือนเมษายน 2556 (2) การดำเนินการของบาห์เรนในการแก้ไขปัญหาเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในการเจรจาต่อรองและการเลือกปฏิบัติการจ้างงาน (3) การบังคับใช้กฎหมายแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำตาลของสาธารณรัฐ Dominican และ (4) การดำเนินการของฮอนดูรัสในการบังคับใช้กฎหมายแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม และการบริหารจัดการท่าเรือ จากการยื่นฟ้องของสมาพันธ์สหภาพแรงงาน AFL-CIO กลุ่มสหภาพแรงงานของฮอนดูรัส และองค์กร NGO ต่างๆ

6.2 สิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ จะติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า รวมถึงการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ความตกลงสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (Multilateral Environmental Agreements: MEAs) และผลักดันให้ข้อกำหนดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมภายใต้ความตกลง FTA ของสหรัฐฯ อยู่ภายใต้กระบวนการยุติข้อพิพาท และกลไกบังคับอื่นๆ

Go to Top