ทิศทางและกลยุทธ์ของธุรกิจไทย รับความท้าทายในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ทิศทางและกลยุทธ์ของธุรกิจไทย รับความท้าทายในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ศาลสั่งร้านกาแฟในแคลิฟอร์เนียติดป้ายเตือนสารก่อมะเร็ง

Photo Credit : https://pixabay.com/en/adult-laptop-computer-business-3327336/

รัฐแคลิฟอร์เนีย จัดได้ว่าเป็นรัฐเป้าหมายของนักลงทุนหลายๆ คน  ซึ่งรัฐแคลิฟอร์เนียมีปัจจัยที่เหมาะกับการลงทุนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น รัฐแคลิฟอร์เนียมี GDP ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่สำคัญที่สุด และเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลก โดยธุรกิจที่มีการเติบโต ดึงดูดเงินทุน และสร้างงานให้กับรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกอบไปด้วย บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ธุรกิจสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences)

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน รัฐแคลิฟอร์เนีย เริ่มเผชิญกับความท้าทายหลายประการ จากต้นทุนการทำธุรกิจและค่าครองชีพที่สูง ปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงานที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับคนเข้าเมืองผิดกฎหมายของรัฐบาลกลาง ดังนั้น การจะส่งสินค้ามาเข้าตลาดหรือเข้ามาลงทุนในรัฐฯ จึงจำเป็นต้องมีความแตกต่าง เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความต้องการให้กับสินค้าและบริการชนิดนั้น ๆ

ทิศทางของธุรกิจไทยในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ธุรกิจไทยที่ได้ “ปักธง” ไว้อยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริการต่าง ๆ อาทิ ร้านอาหารไทย ร้านนวดไทย สินค้าและบริการที่มีคนไทย-อเมริกันเป็นลูกค้าหลัก และสินค้าส่งออกที่ติดตลาดแล้ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลายประเภท มีแนวโน้มที่เติบโตได้ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่จะมีการแข่งขันกันเองอย่างรุนแรงตามสภาพตลาด เนื่องจากมีร้านอาหารไทยและร้านนวดไทยตั้งอยู่หนาแน่น โดยเฉพาะในไทยทาวน์ นครลอสแอนเจลิส

ในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะธุรกิจนวดที่อาจมีประเด็นเรื่องการค้าประเวณีและการค้ามนุษย์เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการไทยทั้งนายจ้างและลูกจ้างควรปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด ทั้งกฎหมายแรงงาน (โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 คือ 10.5 – 11 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ชั่วโมง และจะเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และการนับชั่วโมงการทำงาน) กฎหมายภาษี และกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากจำต้องปรับขึ้นราคาอาหารและบริการเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับ “ต้นทุน” ที่เป็นค่าจ้างงานและภาษีตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไม่ควรเน้นการให้บริการเฉพาะตลาดล่าง อาทิ การขายอาหารแบบเน้นปริมาณและตัดราคากันเอง แต่ต้องเน้นการขายประสบการณ์ในการสัมผัสกับวัฒนธรรมไทย ชูภาพลักษณ์ เน้นการสร้างไลฟ์สไตล์และสร้างจุดขาย (unique selling point) อาทิ การตกแต่งร้านที่มีลักษณะเฉพาะ การสร้างแบรนด์ผ่านสัญลักษณ์ (mascot) ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนเอง

ในปี 2560 มีกรณีศึกษาของธุรกิจไทยที่ดำเนินธุรกิจแตกต่างและน่าสนใจ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย คือ 1. ผู้ประกอบการเชื้อสายฮ่องกงใช้เครือข่ายและตราโรงแรมดุสิตธานีเปิดโรงแรม Dusit D2 Hotel Constance Pasadena ที่เมืองพาซาดีน่า โดยเน้นความร่วมสมัยและใช้รถตุ๊กตุ๊กเป็นสัญลักษณ์ และ 2. บริษัท All Coco ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวน้ำหอม เปิด All Coco Café โดยสร้างเมนูขนมหวานที่ทันสมัยและหลากหลาย มีการบรรจุหีบห่อที่สวยงาม และมีการตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัส “Lifestyle” ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอมของไทย

นอกเหนือจากธุรกิจข้างต้น สินค้าที่มีโอกาสเติบโตในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้แก่

-ธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ อาหารแช่แข็งและอาหารพร้อมรับประทาน ตลอดจนสินค้าสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสินค้าเกษตรอินทรีย์ (ทั้งแบบ organic และ bio-dynamic)

-ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากรัฐแคลิฟอร์เนียมีชื่อเสียงและมีศักยภาพสูงในเชิงเทคโนโลยี จึงเป็นโอกาสของแรงงานฝีมือไทยและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการบ่มเพาะ หรือต่อยอดธุรกิจที่รัฐแคลิฟอร์เนีย

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจสตาร์ทอัพของสหรัฐฯ จะเน้นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่รวมเอาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน  ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเจ้าของความคิด สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย (ซึ่งมีองค์ความรู้) และภาคเอกชนขนาดใหญ่ (ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุน)  ดังนั้น ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยควรพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่มักจะเน้นการพัฒนาแอพลิเคชัน เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจพึ่งพา (sharing economy) มาเป็นการทำวิจัยและพัฒนาและเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษา ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับการสร้าง “ห้องปฏิบัติการวิจัย” ทั้งในมหาวิทยาลัย หน่วยราชการ และภาคเอกชน ซึ่งนอกจากจะช่วยสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในทางอ้อมแล้วยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-curve และ new S-curve ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 อีกด้วย

แหล่งข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส

683 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top