เจาะลึก 7 แนวทางสหรัฐฯ พิจารณาออกวีซ่าให้พ่อครัวแม่ครัวไทย
Photo Credit : https://www.pexels.com/@conojeghuo
นโยบายตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดขึ้นของประธานาธิบดีทรัมป์ได้สร้างความกังวลใจในกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ว่าการขอวีซ่าสำหรับพ่อครัวแม่ครัวไทยจะเป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน จึงได้จัดงานประชุมหารือ “การขอวีซ่าให้พ่อครัวแม่ครัวไทย” ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน โดยเชิญนาย Josiah Pierce หัวหน้าฝ่ายกงสุลจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไปร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในเขตกรุงวอชิงตัน แมริแลนด์ เวอร์จิเนีย งานยังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการร้านอาหารไทยจากรัฐที่อยู่ไกลออกไป อาทิ นิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย อิลลินอยส์ โอไฮโอ ฟลอริดา รวมถึงแคลิฟอร์เนีย
ปัจจุบัน วีซ่าที่ออกให้พ่อครัวหรือแม่ครัวไทยไปทำงานในสหรัฐฯ แบ่งได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ วีซ่าที่ออกให้กับพนักงานภายใต้การว่าจ้างของนักลงทุน หรือวีซ่ารหัส E-2 (E-2 Treaty Investors) และวีซ่าการจ้างงานถาวร (Permanent Workers) หรือวีซ่ารหัส EB-3 (Employment-Based Immigration: Third Preference EB-3)
ต่อไปนี้คือ 7 แนวทางพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการยื่นขอวีซ่าให้กับพ่อครัวแม่ครัวจากประเทศไทย ตามที่นาย Pierce ได้ชี้แจงและแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมงานในวันนั้น
ข้อแรก เตรียมข้อมูลให้หนักแน่นเพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นของตำแหน่งงาน
สหรัฐฯ พิจารณาวีซ่าตามความจำเป็น (“Essentiality”) ว่าตำแหน่งพ่อครัวแม่ครัวนั้นจะต้องใช้แรงงานไทยเท่านั้นหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องเตรียมชี้แจงให้ได้ว่า ทำไมพ่อครัวแม่ครัวไทยจึงจำเป็นต่อธุรกิจ และมีคุณสมบัติและทักษะพิเศษที่มากกว่าแรงงานสหรัฐฯ ทั่วไป โดยมีหลักฐานสำคัญ อาทิ คุณวุฒิหรือประกาศนียบัตรการจบหลักสูตรด้านอาหาร การโรงแรม ความรู้ทางด้านโภชนาการ หรือประสบการณ์การทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อสอง ต้องเข้าใจว่าการรู้ด้านภาษาไทยหรือภาษาต่างชาติไม่เข้าข่ายเป็นคุณสมบัติและทักษะพิเศษ
ตำแหน่งงานประเภททั่วไปในแผนกบริการส่วนหน้า (front of the house) อย่างบริกรและพนักงานต้อนรับ หรือแผนกบริการส่วนหลังอย่างพนักงานทำความสะอาดไม่ถือว่าเป็นแรงงานในข่าย “Essentiality” เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถจ้างแรงงานสหรัฐฯ ในตำแหน่งเหล่านี้ได้
ข้อสาม ต้องตระหนักว่าสถานที่ตั้งธุรกิจมีผลต่อการพิจารณา
เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก สหรัฐฯ พิจารณาแรงงานที่หาได้ในสหรัฐฯ เองก่อนเป็นหลัก ในบางกรณี สถานที่ตั้งของธุรกิจสามารถมีผลต่อการพิจารณา แรงงานที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการในเมือง Bozeman รัฐมอนแทนา อาจหาได้ยากลำบาก ขาดแคลน จึงมีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานไทย บนพื้นฐานเหตุผลของข้อจำกัดด้านจำนวนประชากรสหรัฐฯ ในพื้นที่ได้ เมื่อเทียบกับการหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติเพื่อมาทำงานในตำแหน่งเดียวกันในนครนิวยอร์กหรือนครลอสแอนเจลิสที่มีตัวเลือกของแรงงานสหรัฐฯ ในจำนวนมากกว่า
ข้อสี่ เตรียมหลักฐานทางการเงินให้พร้อม
หลักฐานการเงิน ผลประกอบการ และประวัติการยื่นชำระภาษีรายได้ของผู้ประกอบการมีความสำคัญ แหล่งที่มาของเงินทุนจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceable) การยื่นขอเพิ่มจำนวนพ่อครัวแม่ครัวต้องแสดงให้เห็นถึงความสมเหตุสมผลเชิงธุรกิจการค้า ผู้ประกอบการจะต้องสามารถแสดงเอกสารหลักฐานทางการเงินที่สอดคล้องกับผลประกอบการปัจจุบันและเป้าหมายธุรกิจในอนาคต (present or future capacity to generate more than enough income)
ข้อห้า เตรียมเหตุผลให้ดีเมื่อเป็นการออกวีซ่าให้ญาติ
การขอวีซ่าให้กับแรงงาน/ลูกจ้างซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวหรือญาติเพื่อมาช่วยดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สามารถยื่นขอได้แต่จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างละเอียดและตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากสหรัฐฯ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะมาปฏิบัติหน้าที่โดยแท้จริงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ยื่นขอวีซ่า
ข้อหก การขอวีซ่าสำหรับแรงงานพื้นฐานที่ไม่มีทักษะ (Unskilled Labor) ภายใต้วีซ่ารหัส EB-3 จำเป็นต้องมีใบรับรองแรงงาน (Labor Certification) ก่อน
ผู้ยื่นขอวีซ่ารหัส EB-3 จะต้องขอใบรับรองแรงงานก่อนที่จะสามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวีซ่า ใบรับรองแรงงานอยู่ในอำนาจและดุลพินิจของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (US Department of Labor) โดยข้อมูลที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ต้องการทราบประกอบด้วย
- อัตราค่าจ้างที่แรงงานจะได้รับนั้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอัตราค่าจ้างของตลาดแรงงงานในปัจจุบันหรือไม่ และมีความสมเหตุสมผลเพียงพอกับค่าครองชีพในสหรัฐฯ หรือไม่
- ผู้ว่าจ้างได้พยายามหาแรงงานท้องถิ่นในสหรัฐฯ แล้ว แต่ไม่มีผู้ใดสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามคุณสมบัติและเงื่อนไขที่ต้องการ โดยคุณสมบัติด้านการศึกษา ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ และประสบการณ์การทำงานไม่ได้เป็นเงื่อนไขบังคับเนื่องจากเป็นแรงงานพื้นฐานที่ไม่มีทักษะ
ข้อเจ็ด เตรียมหลักฐานตามเงื่อนไขให้ครบถ้วน
การแสดงเอกสารหลักฐานที่สอดคล้องตรงตามเงื่อนไข และการให้ข้อมูลอย่างละเอียดและครบถ้วนถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนกระบวนการพิจารณาให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น นาย Pierce ยืนยันว่ากระบวนการพิจารณาคำขอวีซ่าของสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส (transparency) และการคาดการณ์ได้ (predictability)
แม้ท้ายที่สุด การอนุมัติให้วีซ่าจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ (United States Citizenship and Immigration Services – USCIS ) ภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (Department of Homeland Security) หวังว่าแนวทางข้างต้นจะช่วยนำทางให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมตัวฝ่าด่านนโยบายคนเข้าเมืองสหรัฐฯ ที่แสนเข้มงวด ให้สามารถพาพ่อครัวแม่ครัวไทยร่วมนำ “ครัวไทย” บุกตลาดสหรัฐฯ ได้สำเร็จ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน