หอการค้าสหรัฐฯ เชื่อเศรษฐกิจ ปี 2561 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
Credit Photo: The U.S. Chamber of Commerce
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 นายโทมัส เจ โดโนฮิว (Thomas J Donohue) ประธานหอการค้าสหรัฐฯ ได้แถลงสภาวะธุรกิจสหรัฐฯ ประจำปี 2561(State of American Business 2018) ที่กรุงวอชิงตัน โดยนายโดโนฮิว กล่าวว่าภาคธุรกิจสหรัฐฯในปี 2561 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
โดยผลความสำเร็จของการปฏิรูประบบภาษี จะนำพาสหรัฐฯ ไปสู่ยุคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (new era of growth) ปี 2561 นี้ หอการค้าสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ ในการผลักดันการลดและเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมไปถึงการเร่งยกเลิกระบบประกันสุขภาพ “โอบามา แคร์”
ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปี 2560
ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง โดยเห็นได้จากการที่เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 3 หรือมากกว่า ติดต่อกันหลายไตรมาส อัตราการว่างงานต่ำที่สุดในศตวรรษที่ 21 อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ และดัชนีดาวโจนส์ที่ทุบสถิติทะยานเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 จุด
อย่างไรก็ดี นายโดโนฮิว เห็นว่าท่ามกลางปัจจัยบวกดังกล่าว ยังมีความเสี่ยงหลายเรื่องที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มที่จะถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) หรือการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาล นอกจากนี้สถานการณ์ความไม่มั่นคงระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ ปัญหาข้อพิพาทกับเกาหลีเหนือ และความไม่สงบในตะวันออกกลาง ความเสี่ยงต่อการถูกก่อการร้ายต่างๆ และการโจมตีทางไซเบอร์
แนวทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2561
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเฉียบพลันในปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจที่เติบโตไม่ได้กระจายสู่ครอบครัวชาวอเมริกันอย่างทั่วถึง ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบที่ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็ง ผลักดันนโยบายที่ทำให้เติบโตอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการกระจายโอกาสและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (strengthened, sustained, shared) โดยหอการค้าสหรัฐฯ มีความคาดหวังดังนี้
- เศรษฐกิจจะมีการเติบโตได้ 3% ในสองไตรมาสแรก เป็นจุดเริ่มต้นของปีนี้
- มีการพัฒนานโยบายที่สนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว
- ประชาชนทุกคนได้รับผลประโยชน์และโอกาสอย่างทั่วถึง พร้องทั้งรู้สึกมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
8 ประเด็นที่หอการค้าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2561
1.แรงงานคุณภาพเพื่ออนาคต โดยการปฏิรูปการศึกษาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (K-12 Education) ที่เน้นให้ผู้เรียนให้ความสำคัญกับกระบวนการการเรียนรู้ สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาสายอาชีพที่ประสบความสำเร็จได้เทียบเท่ากับสายสามัญ โดยไม่ลืมที่จะสนับสนุนให้แรงงานที่มีประสบการณ์ที่กำลังจะเกษียณให้มีทางเลือกที่จะอยู่ในตลาดแรงงานนานขึ้น จัดการเรื่องการใช้สารเสพติดในที่ทำงาน (opioid epidemic) ตลอดจนต้องปฏิรูประบบคนเข้าเมือง (immigration reform) เพื่อมิให้สหรัฐฯ สูญเสียแรงงานคุณภาพไป
2.การเปิดรับเทคโนโลยีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันประชากรราว 34 ล้านคนในสหรัฐฯ ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ซึ่งการทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงทุกพื้นที่จะช่วยเปิดโอกาสและเป็นการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงหอการค้าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อกฎระเบียบและข้อบังคับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่เข้มงวดจนปิดกั้นความก้าวหน้าของนวัตกรรม (techlash) และต่อการป้องกันธุรกิจและผู้บริโภคจากภัยคุกคามทางคอมพิวเตอร์ หรือการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา
3.การปรับปรุงและขยายโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะขยายการเติบโตและสร้างงานเป็นอย่างมาก ปี 2561 ต้องเป็นปีแห่งการลงทุนด้านนี้ โดยที่มีการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองทั้งสองพรรคอยู่แล้ว โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ควรเน้นโครงการที่ช่วยเศรษฐกิจให้เติบโตระยะยาวและเกิดการจ้างงาน ได้แก่ การปรับปรุงถนน ท่าเรือและสนามบิน
4.การตอกย้ำบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลก สหรัฐฯ ต้องเข้าถึงตลาดโลกและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่อ่อนแอลงหรือละทิ้งไป หอการค้าสหรัฐฯ สนับสนุนการปรับปรุงแต่ไม่ใช่การถอนตัวจาก NAFTA ที่มีมานานถึง 24 ปีและข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ (KORUS) และสนับสนุนการจัดการกับนโยบายด้านอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งควรร่วมมือกับพันธมิตรอย่างยุโรปและญี่ปุ่นเพื่อจัดการกับระบบทุนนิยมโดยรัฐของจีน (China’s state capitalism)
5.การส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจในประเทศ หอการค้าสหรัฐฯ พบว่าธุรกิจขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง การขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนส่งผลให้บริษัทไม่สามารถแปลงสภาพเป็นธุรกิจมหาชนที่เป็นแหล่งการจ้างงานได้ ขณะเดียวกันหลายบริษัทไม่ต้องการแปรสภาพเป็นธุรกิจมหาชนเพราะต้องเผชิญกับการเข้าไปมีบทบาทของบริษัทที่ปรึกษา (proxy advisory firms) หรือผู้ลงทุนที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันวาระเฉพาะกลุ่ม (special interest activist investors)
หอการค้าสหรัฐฯ จึงมุ่งเน้นการสะสมทุน (capital formation) สนับสนุนการขายหุ้นบริษัทแก่ประชาชน (initial public offering) พัฒนาหลักธรรมาภิบาลและการคุ้มครองนักลงทุน รวมถึงการลดฟ้องร้องทางกฎหมายที่พร่ำเพรื่อ
6.การฟื้นฟูเสถียรภาพการคลัง เศรษฐกิจต้องอยู่บนพื้นฐานการคลังที่เข้มแข็ง หอการค้าสหรัฐฯ มีความกังวัลกับความไม่ยั่งยืนของการจ่ายสวัสดิการสังคมของภาครัฐ (entitlement program) ซึ่งจะส่งผล กระทบต่อเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯในระยะยาวและส่งผลให้รุ่นลูกหลานต้องรับผิดชอบชำระหนี้ที่ไม่ได้ก่อ
7.การเลือกผู้นำที่หนุนให้เศรษฐกิจเติบโต (pro-growth leaders) ตามที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งกลางสมัย (mid-term election) ในปีนี้ หอการค้าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญและจะร่วมมือกับหอการค้าท้องถิ่นในการเฟ้นหาผู้ลงสมัครและผลักดันให้ภาคธุรกิจไปลงคะแนนเสียง เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้นำที่จะผลักดันเศรษฐกิจ และสนับสนุนธุรกิจให้เติบโต
8.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (free speech and civil discourse) ช่วงที่ผ่านมา การแสดงความเห็นอย่างเสรีโดนบั่นทอนจากการเถียงเพียงเพื่อจะเอาชนะ ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม หอการค้าสหรัฐฯ ต้องการเห็นการอภิปรายถกเถียงอย่างแท้จริงในเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับ ระบบเศรษฐกิจและสังคมสหรัฐฯ
ในตอนท้ายของการแถลงการณ์ นายโดโนฮิว กล่าวว่าหอการค้าสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยผลักดันประเทศให้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการเติบโตที่แข็งแกร่ง มีความได้เปรียบในการแข่งขันและมีความมั่นคง และหอการค้าสหรัฐฯ มั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จ
สิ่งที่หอการค้าสหรัฐฯ ประกาศว่าจะสนับสนุนและผลักดันในคำกล่าวของนายโดโนฮิวในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วในปี 2560 ซึ่งยังต้องใช้เวลาและยังไม่บรรลุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปสวัสดิการสังคมและระบบคนเข้าเมือง อย่างไรก็ดี เรื่องเหล่านี้สอดคล้องกับวาระที่สภาคองเกรสตั้งเป้าที่จะผลักดันในปี 2561 สะท้อนถึงน้ำหนักของหอการค้าสหรัฐฯ ในฐานะองค์กรล็อบบี้ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ (the nation’s largest business lobby) ในการพูดคุยและร่วมผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจกับฝ่ายการเมือง อาทิ ในช่วงต้นปีนี้ ได้เริ่มผลักดันข้อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มภาษีน้ำมัน (federal gas tax) อย่างจริงจัง เพื่อนำรายได้ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจสหรัฐฯ และนักเศรษฐศาสตร์ยอมรับและให้เครดิตต่อการนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เห็นด้วยกับท่าทีการถอนตัวจาก NAFTA และแนวทางการเจรจาข้อตกลงการค้าของรัฐบาลที่ไม่เอื้อกับการค้าระหว่างประเทศ ก็ตาม
คำแถลงการณ์ของนายโดโนฮิว ฉบับเต็มสามารถสืบค้นได้ที่ https://www.uschamber.com/speech/2018-state-american-business-address