การจัดตั้งธุรกิจในสหรัฐฯ2019-05-25T17:17:08-04:00

การจัดตั้งธุรกิจในสหรัฐฯ

(FORM A BUSINESS)

ก่อนที่จะจัดตั้งธุรกิจในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการควรทำการสำรวจตลาดและวางแผนการทำธุรกิจเสียก่อน เพื่อให้มีความเข้าใจในตลาด และมีความพร้อมในการเริ่มทำธุรกิจ

8 ขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจในสหรัฐฯ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเหลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จากหน่วยงาน Small Business Administration (SBA) และหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันกับ SBA  ซึ่งเป็นทำหน้าที่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ

ที่มา: https://www.sba.gov/business-guide/10-steps-start-your-business/

การเลือกรัฐและทำเลที่ตั้ง
ผู้ประกอบการ จะต้องมีการจดทะเบียนธุรกิจ จ่ายภาษี ขอใบอนุญาตต่างๆจากรัฐบาลระดับรัฐที่ผู้ประกอบการเลือกเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ เพราะฉะนั้นแล้ว นอกเหนือจากการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ที่ตั้งของคู่ค้าทางธุรกิจ (เช่น ผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ ผู้จัดจำหน่าย) และความชอบส่วนตัวแล้ว ผู้ประกอบการ ควรทำการวิเคราะห์โอกาส ต้นทุนทางธุรกิจ กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไปจนถึงสภาพแวดล้อมของทำเลที่ตั้งนั้นๆ เพื่อพิจารณาคัดเลือกรัฐ และทำเลที่เหมาะสมที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จ การเลือกรัฐและทำเลที่ตั้ง ควรคำนึงปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น

ค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามการเลือกสถานที่

ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายบางอย่างในการเริ่มทำธุรกิจ อาจจะสูงขึ้นหรือต่ำลงแปรผันไปตามสถานที่ที่เลือกใช้ประกอบการ ซึ่งต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่มักจะแปรผันตามสถานที่นั้นได้แก่ เงินเดือนเฉลี่ย ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย ค่าเช่าสถานที่ มูลค่าอาคาร ค่าประกันภัยธุรกิจ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต เป็นต้น

กฎหมายการแบ่งเขต (Zoning Ordinance)
ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเขตย่านธุรกิจหรือย่านค้าขาย ให้อยู่แยกกันกับย่านที่อยู่อาศัย และในบางพื้นที่ยังมีกฎในการจำกัดหรือห้ามธุรกิจบางประเภทประกอบการในย่านนั้นๆ

ธุรกิจที่มีหน้าร้าน อาจจะมีข้อจำกัดมากกว่า ธุรกิจที่ไม่มีหน้าร้าน แต่อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่อาจจะมีกฎหมายการแบ่งเขตบางอย่างที่บังคับใช้แม้ว่าเป็นธุรกิจที่ทำจากที่บ้านก็ตาม โดยกฎหมายเรื่องนี้จะออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองนั้นๆ ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาเรื่องกฎการจัดเขตย่านธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น

ภาษี
ระบบการจัดเก็บภาษีในสหรัฐฯ นั้นมีการจัดเก็บตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลาง (Federal) จนถึงระดับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งคือ รัฐ(State) เทศมณฑล(County) และเมือง(City) ทั้งนี้ภาษีที่จัดเก็บโดยระดับรัฐ เทศมณฑล และเมืองนั้น จะมีความแตกต่างกันออกไปตามกฎระเบียบและนโยบายในแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาษีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการเลือกที่ตั้งของสถานประกอบการ ซึ่งภาษีที่ถูกจัดเก็บโดยส่วนใหญ่นั้นจะมีภาษีรายได้ (Income tax) ภาษีการขาย (Sales tax) ภาษีที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ (Property tax) และภาษีนิติบุคคล (Corporate tax)
รัฐบาลระดับรัฐและท้องถิ่นมีการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นหรือสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น เช่นบางท้องถิ่นไม่จัดเก็บภาษีภาษีเงินได้ส่วนบุคคล เพื่อดึงดูดให้คนมาทำงาน หรือบางท้องถิ่นไม่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น อีกทั้งในบางรัฐยังมีนโยบายด้านภาษีเพื่อดึงดูดให้ธุรกิจบางประเภทมาลงทุน ซึ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี สถาบันการเงิน และโรงงานผลิตสินค้า มักจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันไปในประเทศสหรัฐฯ

ผู้ประกอบการ สามารถหาอัตราภาษีรวมทั้งสิทธิลดหย่อนต่างๆได้จากเว็บไซต์ของรัฐบาลของรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นที่ท่านสนใจ

สิทธิประโยชน์ (Incentives)
รัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่น
รัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่นบางแห่ง มีนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการมาลงทุนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี การให้กู้ยืมจากแหล่งเงินทุน การค้ำประกันเงินกู้ การระดมทุนสาธารณะ การให้เงินทุนสนับสนุน(Grant Program) เป็นต้น นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังมีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กในเรื่องของการให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ อาทิเช่น การทำแผนธุรกิจ การนำเข้าส่งออก การทำวิจัยตลาด การผลิตสินค้า การจัดซื้อสินค้า การทำสัญญา ทั้งนี้ผู้ประกอบการ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและค้นหาที่ตั้งของหน่วยงานในพื้นที่ได้ที่เว็บไซต์ SBA Offices Small Business Development Centers และ Women’s Business Centers

รัฐบาลกลาง
รัฐบาลกลางจะให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ทำธุรกรรมกันกับหน่วยงานรัฐบาล และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ หรือที่เรียกว่า HUBZone ซึ่งผู้ประกอบการ สามารถตรวจสอบพื้นที่ที่เข้าข่ายอยู่ใน HUBZone ได้ที่เว็บไซต์ Historically Underutilized Business Zones (HUBZone) program

ที่มา
https://www.sba.gov/business-guide/launch-your-business/pick-your-business-location

ก่อนที่จะจดทะเบียนนิติบุคคล ผู้ประกอบการต้องเลือกรูปแบบธุรกิจที่จะจัดตั้งเสียก่อน เพราะรูปแบบธุรกิจนั้นจะเป็นตัวกำหนดการเสียภาษี ความสามารถในการระดมทุน เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน และขอบเขตความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สิ้น

แม้ว่ารูปแบบธุรกิจอาจจะสามารถขอปรับเปลี่ยนได้ในภายหลัง กฎหมายของบางรัฐก็อาจมีข้อจำกัด ซึ่งการขอปรับเปลี่ยนภายหลังอาจจะยังมีผลกระทบไปถึงการเสียภาษีย้อนหลัง หรืออาจจำเป็นต้องเลิกธุรกิจนั้น รวมถึงความยุ่งยากอื่นๆ ดังนั้นผู้ประกอบการควรพิจารณาเลือกรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมก่อนจดทะเบียน การปรึกษาที่ปรึกษาด้านการจัดตั้งธุรกิจ ทนายความ หรือนักบัญชี อาจจะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น

กฎของแต่ละรัฐอาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของรูปแบบของธุรกิจ และในบางรูปแบบอาจจะไม่มีในบางรัฐ ทั้งนี้รูปแบบของธุรกิจโดยทั่วไปในสหรัฐฯ มีดังต่อไปนี้

1. กิจการเจ้าของคนเดียว (Sole Proprietorship)
กิจการเจ้าของคนเดียวคือธุรกิจที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของ ข้อดีของรูปแบบธุรกิจแบบนี้คือ สามารถจัดตั้งได้ง่าย เจ้าของกิจการสามารถควบคุมการดำเนินงานของกิจการได้ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว และแม้จะเป็นธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว ก็สามารถขอชื่อหรือเครื่องหมายการค้า (Trade name) ได้

หากธุรกิจไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นรูปแบบอื่นแล้ว ธุรกิจนั้นจะถูกกำหนดให้เป็นรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียวโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ดีธุรกิจในรูปแบบนี้ จะไม่มีการแยกทรัพย์สินและหนี้สินของธุรกิจ ออกจากทรัพย์สินและหนี้สินของส่วนตัวของเจ้าของกิจการ ดังนั้นเจ้าของกิจการจะได้รับรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ และในขณะเดียวกันก็จะต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินทั้งหมด โดยอาจจะทำให้ต้องใช้ทรัพย์สินส่วนตัว ชำระหนี้สินของธุรกิจที่เกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนี้จะไม่ค่อยมีความยุ่งยาก รัฐบาลท้องถิ่นในบางพื้นที่ได้มีการมีออกกฎให้ธุรกิจในรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียวจะต้องลงทะเบียน และขอใบอนุญาตทำธุรกิจตามกฎหมาย ธุรกิจในรูปแบบนี้มักจะขอระดมทุนได้ยาก เพราะไม่สามารถแบ่งหุ้นบางส่วนออกมาขายได้ และธนาคารมักจะไม่ค่อยเชื่อมั่นในการให้กู้ยืมเงิน

ธุรกิจในรูปแบบนี้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงมากนัก หรือเหมาะสำหรับนักธุรกิจที่อยากจะลองทดสอบสินค้าหรือบริการของตัวเองดูก่อนว่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะมีธุรกิจในรูปแบบที่เป็นทางการมากกว่านี้

2. ห้างหุ้นส่วน (Partnership)
ห้างหุ้นส่วนคือธุรกิจที่มีเจ้าของตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ห้างหุ้นส่วนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามขอบเขตการจำกัดความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินดังนี้

2.1 ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnerships หรือ LP)
ประกอบด้วยหุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สิน 1 คน และหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินอย่างน้อยอีก 1 คน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สิน จะมีสิทธิในการดำเนินงานของธุรกิจอย่างจำกัด โดยข้อตกลงมักจะถูกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาระหว่างหุ้นส่วน ทั้งนี้กำไรของธุรกิจจะถูกนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยที่หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบจะต้องเสียภาษีเงินได้ในรูปแบบผู้รับจ้างงานอิสระ (self-employment tax)

2.2 ห้างหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ (Limited Liability Partnerships หรือ LLP)
มีลักษณะคล้ายกันกับห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะมีความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินอย่างจำกัด ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนจะทำสัญญาการทำธุรกิจร่วมกันซึ่งกำไรและหนี้สินที่เกิดจากการทำธุรกิจจะถูกแบ่งเท่า ๆ กันตามจำนวนหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ต้องรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินที่เกิดจากหุ้นส่วนรายอื่น ๆ

ห้างหุ้นส่วนเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจที่มีเจ้าของมากกว่า 1 คน หรือการรวมกลุ่มกันของบุคคลากรด้านวิชาชีพ (เช่นทนายความ นักบัญชี) หรือกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการจะลองทดสอบสินค้าหรือบริการของตัวเองก่อนที่จะมีก่อตั้งบริษัทที่เป็นทางการกว่านี้ ห้างหุ้นส่วนจะมีสัญญาข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ถือหุ้น จึงทำให้หุ้นส่วนสามารถขอถอนหุ้น หรือสามารถเพิ่มหุ้นส่วนใหม่เข้ามาได้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญา

3. บริษัทจำกัด (Limited Liability Companies หรือ LLC)
บริษัทจำกัด LLC คือรูปแบบบริษัทที่ได้รับการอนุญาตจากทางรัฐบาลท้องถิ่นทั่วสหรัฐฯ ทั้งนี้กฎหมายของแต่ละรัฐอาจจะแตกต่างกันออกไป ผู้ประกอบการควรจะศึกษากฎหมายของรัฐที่ต้องการจดทะเบียนบริษัท ทั้งนี้รัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐฯส่วนใหญ่ ไม่มีข้อกำหนดบังคับในเรื่องของจำนวนสมาชิกหรือจำนวนผู้ถือหุ้น ของบริษัทจำกัด ในหลายๆรัฐ บริษัทจำกัดอาจมีสมาชิกหรือผู้ถือหุ้นเพียงแค่คนเดียวก็ได้

บริษัทจำกัดนั้นช่วยคุ้มครองผู้ถือหุ้นในการจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบภาระหนี้สิน โดยจะแยกความรับผิดชอบภาระหนี้สินของธุรกิจ ออกจากทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ถือหุ้น เช่น หากบริษัทจำกัดล้มละลาย หรือถูกฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดไม่ต้องนำบ้าน รถยนต์ หรือบัญชีเงินฝากธนาคารส่วนตัว มาจ่ายชำระหนี้

ผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัด สามารถนำกำไรหรือขาดทุนจากการประกอบธุรกิจมาเสียภาษีเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรูปแบบผู้รับจ้างงานอิสระ (self-employment tax) โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียเป็นภาษีแบบบริษัท แต่หากผู้ถือหุ้นไม่ต้องการเสียภาษีในลักษณะนี้ จะต้องแสดงจุดประสงค์ในการเสียภาษีแบบบริษัทแทน

บริษัทจำกัดนั้นอาจมีอายุการดำเนินงานจำกัดตามกฎหมาย กฎหมายในบางรัฐกำหนดไว้ว่า หากมีผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาเพิ่ม หรือผู้ถือหุ้นเดิมขอถอนหุ้นออก บริษัทจำกัดนั้นจะต้องถูกยกเลิก และจะต้องมีการจัดตั้งบริษัทจำกัดใหม่ที่ประกอบด้วยสมาชิกผู้ถือหุ้นรายใหม่ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีการกำหนดไว้ในสัญญาตั้งแต่ตอนจัดตั้งบริษัทแล้ว

บริษัทจำกัด เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับธรุกิจที่มีความเสี่ยงปานกลางไปจนถึงความเสี่ยงสูง ผู้ถือหุ้นจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในเรื่องการแยกความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินของธุรกิจออกจากทรัพย์สินและหนี้สินส่วนตัวของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นยังสามารถเลือกที่จะจ่ายภาษีเงินได้ ให้น้อยลงหากเลือกจากเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนการจ่ายภาษีแบบบริษัท

4. บริษัท (Corporation) มีหลากหลายรูปแบบดังต่อไปนี้

4.1 Corporation หรือ C corp
รูปแบบบริษัทแบบ C corp จะแยกกำไร ภาษี รวมถึงภาระหนี้สินของบริษัทออกจากกันอย่างชัดเจนจากของผู้ถือหุ้น ซึ่งทำให้รูปแบบบริษัทแบบนี้สามารถให้ความคุ้มครองในเรื่องความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินกับผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดีการจัดตั้งรูปแบบบริษัทในแบบนี้มักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดตั้งรูปแบบบริษัทในแบบอื่นๆ และบริษัทแบบ C corp จะมีความซับซ้อนกว่าในเรื่องของการทำบันทึกและรายงานบัญชีรายรับรายจ่าย มีกระบวนการดำเนินงาน (โครงสร้างองค์กร) ที่ชัดเจน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริษัท (Board of directors) เพื่อทำหน้าที่ในการเลือกและแต่งตั้งผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท

การจดทะเบียนธุรกิจแบบนี้จะเสียภาษีในรูปแบบของบริษัท (นิติบุคคล) และในกรณีที่มีการนำกำไรมาจ่ายเป็นเงินปันผล ก็จะทำให้ต้องมีการเสียภาษีสองต่อ นั้นคือบริษัทมีหน้าที่จ่ายภาษีจากกำไรสุทธิ และผู้ถือหุ้นจ่ายภาษีรายได้จากเงินปันผล

อายุการดำเนินงานของบริษัท C corp จะไม่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ดั้งนั้นหากมีผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งลาออกจากบริษัทหรือขายหุ้นของตน บริษัทที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัทแบบนี้จะยังสามารถทำการดำเนินธุรกิจได้โดยอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องยุติการดำเนินงาน

C corp ยังมีข้อดีในเรื่องของการระดมทุน เพราะบริษัทจะสามารถหาเงินทุนได้จากการขายหุ้นของบริษัท และบริษัทสามารถให้หุ้นแก่พนักงานเพื่อเป็นหนึ่งในผลตอบแทนได้อีกด้วย

C corp เหมาะกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือความเสี่ยงสูง ธุรกิจที่ต้องการเงินทุน และธุรกิจที่วางแผนจะมีการขายหุ้นหรือเข้าสู่ตลาดหุ้นในอนาคต

4.2 S Corporation หรือ S corp
เป็นรูปแบบบริษัทแบบพิเศษที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจไม่ต้องเสียภาษี 2 ต่ออย่างในแบบ C corp
บริษัทแบบ S corp นั้นไม่ต้องเสียภาษีระดับบริษัท ผลกำไรและขาดทุนจะส่งผ่านมายังผู้ถือหุ้นเพื่อนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่างไรก็ดี กฎหมายของการเสียภาษีของบริษัทที่มีรูปแบบนี้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ รัฐบาลของหลายๆรัฐมีกฎหมายที่สอดคล้องกันกับของรัฐบาลกลาง (federal government) ซึ่งทำให้กำไรหรือขาดทุนของบริษัทถูกนำไปเสียเป็นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาตามที่กล่าวข้างต้น ในขณะที่บางรัฐมีการคิดภาษีของบริษัทด้วยถ้าหากบริษัทมีกำไรเกินกว่าระดับที่กำหนดไว้ และในบางรัฐ อาจไม่มีกฎหมายสำหรับการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบ S corp เลยก็ได้

บริษัทในรูปแบบ S crop ต้องยื่นเรื่องกับกรมสรรพากรของสหรัฐฯ (IRS) เพื่อขอรับข้อยกเว้นทางด้านภาษีนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่นอกเหนือไปจากการจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อจัดตั้งบริษัทกับรัฐบาลระดับรัฐ

บริษัท S corp ไม่สามารถมีผู้ถือหุ้นเกิน 100 คน และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องเป็นสัญชาติสหรัฐฯ (U.S. citizens) เท่านั้น บริษัทในรูปแบบนี้จะมีการดำเนินงาน การทำบัญชี การจัดตั้งคณะกรรมการบริษัทเหมือนกันกับบริษัทในรูปแบบ C corp

เช่นเดียวกันกับบริษัทแบบ C corp อายุการดำเนินงานของบริษัทแบบ S corp นั้นไม่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ถ้าผู้ถือหุ้นลาออกหรือขายหุ้น บริษัทแบบ S corp สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องหยุดการดำเนินงาน

S corp เป็นรูปแบบที่เหมาะกับธุรกิจที่มีคุณสมบัติที่สามารถเป็น C corp แต่มีลักษณะที่ตรงตามเงื่อนไขที่จะขอจดทะเบียนเป็นแบบ S corp เพื่อสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี

4.3 Benefit Corporation หรือ B corp
เป็นอีกหนึ่งรูปแบบบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไร แต่แตกต่างไปจากบริษัทแบบ C corp ตรงที่จุดประสงค์ของการดำเนินการ ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส ของธุรกิจ แต่ไม่มีความแตกต่างกับ C corp ในเรื่องของการจ่ายภาษี

นอกเหนือไปจากการแสวงหาผลกำไรแล้ว บริษัทแบบ B corp คือบริษัทที่มีจุดประสงค์ในการทำงานเพื่อสังคม บางรัฐกำหนดให้บริษัทแบบ B corp ส่งรายงานประจำปีที่แสดงถึงประโยชน์ หรือผลงานที่ได้ทำเพื่อสังคมด้วย

ในสหรัฐฯ มีธุรกิจที่ให้บริการในการออกใบรับรองว่าบริษัทนั้นเข้าข่ายเป็นลักษณะ B corp แต่ตามกฎหมายของรัฐที่ให้มีการจดทะเบียนบริษัทแบบ B corp นั้นไม่ได้กำหนดให้บริษัทที่ต้องการขอเป็นบริษัทแบบ B corp นั้นจะต้องมีการรับรองแต่อย่างใด

4.4 Close corporation
บริษัทในรูปแบบนี้มีลักษณะคล้ายกันกับแบบ B corp แต่มีโครงสร้างบริษัทต่างไปตรงที่บริษัทในลักษณะ Close corporation จะมีกฎระเบียบที่คล้ายกันกับบริษัทเล็กๆ และมีการลดความเป็นทางการหรือความยุ่งยากในการจัดตั้งแบบบริษัทใหญ่ๆลงไป

สำหรับ Close corporation กฎหมายของแต่ละรัฐนั้นมีความแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปคือห้ามมีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ Close corporation สามารถดำเนินการได้โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเพียงไม่กี่คน โดยไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริษัท (Board of directors)

4.5 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit corporation)
คือองค์กรที่ทำงานด้านการกุศุล ศาสนา การศึกษา วิทยาศาสตร์ หรือวรรณกรรม เนื่องจากองค์กรในลักษณะนี้มีจุดประสงค์หลักคือการทำประโยชน์ให้สังคม จึงได้รับการยกเว้นภาษี องค์กรไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลระดับรัฐ

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ต้องยื่นเรื่องกับกรมสรรพากรของสหรัฐฯ (IRS) เพื่อได้รับข้อยกเว้นทางด้านภาษีนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่นอกเหนือไปจากการจดทะเบียนนิติบุคคลกับรัฐบาลระดับรัฐ

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจะต้องปฎิบัติตามกฎที่มีขึ้นเป็นพิเศษสำหรับการจัดการกับกำไรที่ได้องค์กรได้รับ เช่น องค์กรไม่สามารถแบ่งผลกำไรจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกองค์กร หรือ ใช้สนับสนุนการหาเสียงของพรรคการเมืองได้

5. สหกรณ์ (Cooperative)
คือธุรกิจหรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นและดำเนินการโดยกลุ่มคนที่ใช้บริการของธุรกิจหรือหน่วยงานนั้น กล่าวคือกลุ่มคนเหล่านี้เป็นทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการจากสหกรณ์ กำไรที่ได้จากการดำเนินงานของสหกรณ์จะถูกจัดสรรและแบ่งให้สมาชิกของสหกรณ์

โดยทั่วไปแล้วสหกรณ์จะมีการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นผู้บริหารงานในสหกรณ์ ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆจะมีสิทธิในการเลือกลงคะแนนเพื่อควบคุมทิศทางการทำงานของสหกรณ์ สมาชิกสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสหกรณ์ได้ด้วยการซื้อหุ้นสหกรณ์ ทั้งนี้จำนวนหุ้นที่ถือไม่ได้มีผลต่อการออกเสียงได้มากหรือน้อยแต่อย่างใด

สรุปรูปแบบธุรกิจในสหรัฐฯ
ตารางด้านล่างแสดงลักษณะของแต่ละรูปแบบธุรกิจ อย่างไรก็ดีข้อกำหนดเรื่องจำนวนผู้ถือหุ้น ขอบเขตความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สิน ภาษี รวมไปถึงเอกสารที่ใช้ในการขอจดทะเบียนอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ

* จำกัดขอบเขตความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สิน หมายความว่าได้มีการแยกทรัพย์สินและหนิ้สินของบริษัทออกจากของส่วนตัวของผู้ถือหุ้น หากบริษัทล้มละลาย ผู้ถือหุ้นไม่มีภาระผูกพันที่ต้องชำระหนี้ของบริษัทด้วยทรัพย์สินส่วนตัวของตน

รูปแบบธุรกิจอื่นๆในสหรัฐ
นอกจากรูปแบบของธุรกิจที่พบเห็นได้โดยทั่วไปตามข้างต้นแล้ว ในสหรัฐฯ ยังมีรูปแบบธุรกิจประเภทอื่นๆอีก อาทิเช่น ทรัสต์ (Trust) การลงทุนร่วมกัน (Joint Ventures) การถือกรรมสิทธิ์รวม (Tenants in common) สมาคม (Association) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่เรียกว่า สาขา (Branches) ซึ่งคือการที่บริษัทต่างประเทศสามารถเปิดสาขาในรัฐหนึ่งในสหรัฐฯ ได้โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับบริษัท (Corporate Laws) ในระดับท้องถิ่น และจ่ายภาษีของรัฐนั้นๆ รวมถึงต้องขึ้นทะเบียนบริษัทต่างชาติ (Foreign Corporation) ด้วย

ที่มา
https://www.sba.gov/business-guide/launch-your-business/choose-business-structure

ชื่อเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับธุรกิจ และชื่อที่เหมาะสมนั้นควรที่จะสามารถแสดงความเป็นตัวตนของธุรกิจได้ ชื่อธุรกิจ (ชื่อบริษัท หรือชื่อร้านค้า) ไม่ควรขัดแย้งกับสินค้าหรือบริการที่ขาย หลังจากที่ผู้ประกอบการได้ชื่อธุรกิจแล้วควรลงทะเบียนกับหน่วยงานที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจรายอื่นใช้ชื่อเดียวกันได้

การจดทะเบียนชื่อมี 4 ประเภท แต่ละประเภทมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป และบางประเภทเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ธุรกิจจำเป็นต้องจดทะเบียนแบบนั้นๆ ทั้งนี้กฎระเบียบการจดชื่อธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจที่จัดตั้งและรัฐที่ตั้งของธุรกิจด้วย

การจดทะเบียนชื่อ 4 ประเภทนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันตามกฎหมาย กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าธุรกิจจะต้องใช้ชื่อเดียวกันในการจดทะเบียนแต่ละประเภท อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดเล็กมักพยายามที่จะใช้ชื่อเดียวกันในการจดทะเบียนชื่อแต่ละประเภทเพื่อให้ลูกค้าจำได้ง่ายขึ้น

1 ชื่อนิติบุคคล (Entity name)
ชื่อนิติบุคคล ถือเป็นชื่อตามกฎหมายของบริษัท (Legal entity name) การจดทะเบียนชื่อนิติบุคคล สามารถช่วยป้องกันการใช้ชื่อซ้ำกันได้ในรัฐนั้นๆ กฎระเบียบหรือข้อห้ามในการตั้งชื่อในแต่ละรัฐจะมีความแตกต่างกันออกไป ในหลายๆรัฐกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อซ้ำกับธุรกิจอื่น และในบางรัฐ อาจมีการกำหนดว่าชื่อจะต้องแสดงถึงประเภทของธุรกิจ

กฎหมายของบางรัฐ หรือรูปแบบของธุรกิจบางประเภท มีการกำหนดว่าธุรกิจจำเป็นต้องทำการจดทะเบียนชื่อนิติบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้ว หากธุรกิจจดทะเบียนในรูปแบบห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบริษัทจำกัด การจดทะเบียนบริษัทถือเป็นการจดทะเบียนชื่อบริษัทไปในตัว ในส่วนรูปแบบกิจการแบบเจ้าของคนเดียว ชื่อเจ้าของถือเป็นชื่อตามกฎหมายของธุรกิจไปโดยปริยาย ซึ่งหากเจ้าของธุรกิจต้องการดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่ออื่น จะต้องจดทะเบียนชื่อทางการค้า หรือเรียกว่า “Doing Business As” (DBA หรือ d/b/a)

ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบกฎระเบียบและจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลได้ที่รัฐบาลของรัฐ ที่ต้องการจัดตั้งธุรกิจ

2 เครื่องหมายการค้า (Trademark)
เครื่องหมายการค้า คือ ชื่อ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ตรา หรือคำ ที่ใช้บกบ่องถึงธุรกิจ สินค้า หรือบริการ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะทำให้ธุรกิจได้รับการคุ้มครองสิทธิ ไม่ให้ผู้อื่นในธุรกิจเดียวกันหรือใกล้เคียงลอกเลียนแบบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถช่วยป้องกันการใช้ซ้ำได้ในระดับประเทศ

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ตั้งชื่อบริษัทว่า Springfield Electronic Accessories และหนึ่งในสินค้าที่ขายคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อว่า Screen Cover 5000 การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของทั้งสองชื่อนี้ จะคุ้มครองไม่ให้ธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆในสหรัฐฯ ใช้ชื่อบริษัท และชื่อของสินค้า ที่คล้ายคลึงกันกับสองชื่อนี้ได้

ในสหรัฐฯ เครื่องหมายการค้า อยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ ก่อนใช้เครื่องหมายการค้าใด ผู้ประกอบการควรตรวจค้นว่าเครื่องหมายการค้าที่ต้องการใช้มีความเหมือนหรือคล้ายกันกับของธุรกิจอื่นหรือไม่ โดยสามารถตรวจได้จากระบบฐานข้อมูลของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐฯ (USPTO)

3 ชื่อทางการค้า (Doing Business As name หรือ DBA)
การจดทะเบียนชื่อประเภทนี้ ไม่ได้ให้การคุ้มครองตามกฎหมาย ในเรื่องของการใช้ชื่อซ้ำกัน หรือการลอกเลียนแบบชื่อ แต่กฎหมายในหลายๆรัฐและรูปแบบของธุรกิจบางประเภทนั้น บังคับให้ธุรกิจจำเป็นต้องจดชื่อในลักษณะนี้

แม้ว่าธุรกิจจะไม่ได้ถูกบังคับด้วยกฎหมายให้จดทะเบียนชื่อ DBA ชื่อ DBA นั้นทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้โดยใช้ชื่อที่ต่างไปจากชื่อของเจ้าของกิจการ (กรณีเป็นกิจการเจ้าของคนเดียว) หรือชื่อนิติบุคคล นอกจากนี้ การมีชื่อ DBA และมีเลขประจำตัวนายจ้าง (EIN) ยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดบัญชีธนาคารในนามธุรกิจได้อีกด้วย

ในหนึ่งรัฐ อาจมีมากกว่าหนึ่งธุรกิจที่ใช้ชื่อ DBA เหมือนกัน นั้นหมายความว่าผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการเลือกชื่อน้อยลง ผู้ประกอบการมีอิสระมากขึ้นในการเลือกใช้ชื่อเพื่อให้บ่งบอกถึงลักษณะของสินค้าหรือบริการได้ดีขึ้น เช่น เจ้าของกิจการใช้ชื่อนิติบุคคลของบริษัทว่า Springfield Electronic Accessories แต่ใช้ชื่อ TechBuddy เป็นชื่อ DBA ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในการตั้งชื่อ ผู้ประกอบการยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องของเครื่องหมายการค้า (trademark)

การจดทะเบียนชื่อประเภท DBA นี้สามารถทำได้ที่รัฐบาลของรัฐ เขต หรือเมืองที่ธุรกิจนั้นตั้งอยู่ กฎระเบียบการจดชื่อ DBA นั้นจะขึ้นอยู่กับกฎหมายระดับรัฐและระดับท้องถิ่น ผู้ประกอบการควรตรวจสอบกับหน่วยงานหรือเว็บไซต์ของรัฐบาลของรัฐและของท้องถิ่นก่อนเลือกชื่อและจดทะเบียนชื่อ

4 ชื่อโดเมน (Domain name)
ชื่อโดเมน หรือที่เรียกกันว่า ชื่อเว็บไซต์ หรือ URL การจดทะเบียนชื่อโดเมนนั้นเป็นการป้องกันไม่ให้มีการใช้ชื่อเว็บไซต์ซ้ำกัน

หากธุรกิจต้องการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง หรือเป็นธุรกิจที่ประกอบการบนโลกออนไลน์ ก็ควรเริ่มจากการขอจดทะเบียนชื่อโดเมน ซึ่งเมื่อจดทะเบียนแล้ว ธุรกิจอื่นก็จะไม่สามารถใช้ชื่อโดเมนนั้นได้อีก ชื่อโดเมนไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อบริษัท (ชื่อนิติบุคคล) เครื่องหมายการค้า หรือชื่อ DBA

การจดทะเบียนชื่อโดเมนจะทำผ่านผู้ให้บริการจดทะเบียนชื่อโดเมน ผู้ประกอบการควรจดทะเบียนผ่านผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ และอาจทำการปรึกษากับผู้ให้บริการเพื่อหาชื่อที่ปลอดภัย การจดทะเบียนชื่อโดเมนจะต้องมีการทำอย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่จะทำการจดทะเบียนกันเป็นรายปี

ที่มา
https://www.sba.gov/business-guide/launch-your-business/choose-your-business-name

การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจหรือนิติบุคคลนั้นเป็นการทำให้ธุรกิจมีตัวตนที่ถูกต้องตามกฎหมาย วิธีการจดทะเบียนและหน่วยงานที่รับจดทะเบียนนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละรูปแบบของธุรกิจและสถานที่ตั้งของธุรกิจ

ธุรกิจจำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคลหรือไม่
สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าธุรกิจจำเป็นต้องจดทะเบียนหรือไม่นั้นคือ สถานที่ตั้งของธุรกิจและรูปแบบของธุรกิจ

สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่การจดทะเบียนนั้นง่าย เพราะเพียงแค่ต้องทำการจดทะเบียนชื่อของธุรกิจเท่านั้น การจดทะเบียนชื่อสามารถทำได้ที่รัฐบาลของรัฐหรือของท้องถิ่นที่ธุรกิจตั้งอยู่

ในบางกรณี ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเป็นแบบกิจการเจ้าของคนเดียวและใช้ชื่อเจ้าของกิจการเป็นชื่อของธุรกิจ ในกรณีแบบนี้กฎหมายไม่ได้บังคับให้ธุรกิจจำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม การที่ไม่จดทะเบียนนั้น อาจทำให้สูญเสียโอกาสในการรับสิทธิคุ้มครองการลอกเลียนแบบ หรือรับสิทธิทางกฎหมายอื่นๆ รวมทั้งผลประโยชน์ทางด้านภาษี

การจดทะเบียนในระดับรัฐบาลกลาง (federal agencies)
ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำการจดทะเบียนใดๆกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางของสหรัฐฯเพื่อให้มีตัวตนตามกฎหมายหรือคือเป็นนิติบุคคล เพียงแค่ธุรกิจมีเลขประจำผู้เสียภาษี(EIN) ที่ออกโดยกรมสรรมพากรของสหรัฐฯ (IRS) ก็จะถือว่ามีตัวตนในเชิงกฎหมาย ในบางกรณีธุรกิจขนาดเล็กอาจมีการจดทะเบียนหน่วยงานของรัฐบาลกลางเพื่อขอคุ้มครองเครื่องหมายการค้า หรือเพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษี

ถ้าผู้ประกอบการต้องการป้องกันการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า แบรนด์ หรือชื่อของสินค้า ผู้ประกอบการจะต้องยื่นเอกสารกับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐฯ (USPTO)

สำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร ก็จะต้องยื่นเอกสารขอรับสิทธิการยกเว้นภาษีจากกรมสรรมพากรของสหรัฐฯ

ถ้าธุรกิจต้องการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบ S corp ผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบฟอร์ม 2553 กับกรมสรรมพากรของสหรัฐฯ

การจดทะเบียนในระดับรัฐ (state agencies)
ถ้าธุรกิจมีรูปแบบเป็น บริษัทจำกัด (LLC) บริษัท (corporation) ห้างหุ้นส่วน (partnership) หรือ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนนิติบุคคลในรัฐที่ธุรกิจมีการประกอบการ

โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายจะถือว่าธุรกิจมีการประกอบการหรือทำกิจกรรมอยู่ในรัฐนั้นก็ต่อเมื่อ
– สถานประกอบการตั้งอยู่ในรัฐนั้น
– มีการประชุมหรือนัดเจอลูกค้าที่อยู่ในรัฐนั้นบ่อยครั้ง (ไม่นับรวมการประชุมทางไกลหรือทางอินเทอร์เน็ต)
– รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากรัฐนั้น
– มีพนักงานของบริษัททำงานอยู่ในรัฐนั้น

หน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจดทะเบียนในแต่ละรัฐแตกต่างกันออกไป ซึ่งในหลายๆรัฐ อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน Secretary of State

บางรัฐมีการอนุญาตให้ธุรกิจทำการจดทะเบียนผ่านทางออนไลน์ได้ แต่บางรัฐกำหนดให้ธุรกิจจำเป็นต้องยื่นเอกสารด้วยตัวเองที่สำนักงานหรือทางไปรษณีย์

ตัวแทนรับจดทะเบียน (registered agent)
ถ้าธุรกิจมีรูปแบบเป็น บริษัทจำกัด (LLC) บริษัท (corporation) ห้างหุ้นส่วน (partnership) หรือ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ประกอบการอาจจะหาตัวแทนที่ช่วยดูแลเรื่องการจดทะเบียน

ตัวแทนที่รับจดทะเบียนทำหน้าที่รับและยื่นเอกสารต่างๆในนามของบริษัท ตัวแทนรับจดทะเบียนจะต้องตั้งอยู่ในรัฐที่บริษัทต้องการทำการจดทะเบียน
ผู้ประกอบการนิยมใช้ตัวแทนดำเนินการเพื่อทำการจดทะเบียน มากกว่าที่จะทำเรื่องด้วยตัวเอง

บริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือองค์กรจากต่างรัฐ
ถ้าบริษัทจำกัด (LLC) บริษัท (corporation) ห้างหุ้นส่วน (partnership) หรือ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีการดำเนินงานหรือทำธุรกิจในหลายรัฐ ผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อจัดตั้งบริษัทใน 1 รัฐ และยื่นเอกสารว่าเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือองค์กรที่มาจากต่างรัฐ (foreign) ในรัฐอื่นๆที่ประกอบการ
บริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือองค์กรจะถือว่าเป็นนิติบุคคลในรัฐที่ทำการจดทะเบียน (domestic) ในขณะที่จะมีสถานะเป็นต่างรัฐ (foreign) ในรัฐอื่นๆที่ประกอบการ การยื่นเอกสารในรัฐอื่นๆที่ประกอบการนั้นเป็นการแจ้งให้รัฐนั้นๆทราบว่ามีบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือองค์กรจากต่างรัฐมาประกอบการอยู่
โดยทั่วไปแล้วบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือองค์กรที่มีสถานะมาจากต่างรัฐต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมรายงานประจำปีให้กับทั้งรัฐที่ทำการจดทะเบียนนิติบุคคล และรัฐที่มีการยื่นแจ้งสถานะว่ามาจากต่างรัฐ
การยื่นขอสถานะเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือองคกรที่มาจากต่างรัฐ ผู้ประกอบการต้องยื่นหนังสือ Certificate of Authority ให้กับรัฐที่เข้าไปประกอบการ หลายๆรัฐยังขอหนังสือ Certificate of Good Standing จากรัฐที่ได้ทำการจดทะเบียนนิติบุคคล แต่ละรัฐมีการคิดค่าธรรมเนียมในการขอยื่นเอกสาร ซึ่งค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ และรูปแบบธุรกิจ

การยื่นเอกสารและค่าธรรมเนียม
โดยส่วนใหญ่แล้ว ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนนิติบุคคลจะน้อยกว่า $300 แต่ค่าธรรมเนียมจะเปลี่ยนแปลงไปขึ้นกับรัฐและรูปแบบของธุรกิจ

ข้อมูลและเอกสารที่มักจะต้องใช้ในการจดทะเบียนมีดังต่อไปนี้
– ชื่อธุรกิจ
– ที่อยู่ของสถานประกอบการ
– เอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ รายชื่อผู้ถือหุ้น โครงสร้างการบริหารบริษัท และคณะกรรมการบริษัท
– ข้อมูลของตัวแทนรับจดทะเบียน
– จำนวนหุ้น และมูลค่าของหุ้น (ถ้าเป็นบริษัท Corporation)

เอกสารที่จำเป็นต้องใช้อาจจะแตกต่างกันไปตามกฎของแต่ละรัฐและรูปแบบธุรกิจ

การจดทะเบียนในระดับรัฐบาลของรัฐนอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในบางรัฐยังมีกฎระเบียบบังคับให้ธุรกิจต้องจดทะเบียนชื่อทางการค้าหรือ DBA อีกด้วยหากธุรกิจมีการใช้ชื่อดังกล่าว

การจดทะเบียนในระดับรัฐบาลท้องถิ่น (LOCAL AGENCIES)
โดยปกติแล้ว ธุรกิจไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนใดๆกับหน่วยงานรัฐบาลของเทศมณฑล(County) หรือเมือง(City) เพื่อจัดตั้งบริษัท

ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรตรวจสอบกับรัฐบาลท้องถิ่นที่จะจัดตั้งธุรกิจให้แน่ชัด เพราะรัฐบาลท้องถิ่นบางที่อาจมีการกำหนดกฎระเบียบในเรื่องของการจดทะเบียนชื่อทางการค้า(DBA) และการขอใบอนุญาตทำธุรกิจ

ข้อกำหนดอื่นๆ
บางรัฐกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องยื่นรายงานทางการเงินของธุรกิจทันทีหลังจากที่ทำการจดทะเบียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจที่จดทะเบียนด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสียภาษีในระดับรัฐ ซึ่งเป็นการยื่นเอกสารเบื้องต้นสำหรับการเสียภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนใหญ่รัฐมักกำหนดให้ยื่นเอกสารนี้ภายได้ 30-90 วันหลังจากทำการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกับรัฐ

ที่มา
https://www.sba.gov/business-guide/launch-your-business/register-your-business

เลขประจำตัวนายจ้าง (Employee Identification Number หรือ EIN) คือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่ใช้สำหรับทั้งระดับรัฐและระดับรัฐบาลกลาง เลขประจำตัวนายจ้างเป็นเลขหมาย 9 หลัก ทำหน้าที่คล้ายกันกับเลขประจำตัวประกันสังคม (SSN) แต่ไว้ใช้สำหรับธุรกิจ

การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของระดับรัฐบาลกลาง

เลขประจำตัวนายจ้าง (EIN) ก็คือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่ออกให้โดยหน่วยงานของรัฐบาลกลาง (Federal Tax ID) เลข EIN นั้นใช้ระบุตัวตนของธุรกิจ จ้างพนักงาน จ่ายภาษีแก่รัฐบาลกลาง เปิดบัญชีธนาคาร และขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

การขอเลข EIN นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการควรดำเนินการขอเลข EIN จากกรมสรรพากรสหรัฐฯ (Internal Revenue Service หรือ IRS) ทันทีหลังจากที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ (จดทะเบียนนิติบุคคล) แล้ว

ธุรกิจจำเป็นต้องมีเลข EIN หากธุรกิจนั้นทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  • มีการจ้างพนักงาน
  • มีเจ้าของมากกว่า 1 คน หรือมีหุ้นส่วน
  • ยื่นขอคืนภาษีที่เกี่ยวกับการจ้างงาน ภาษีสรรพสามิต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และอาวุธปืน
  • มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายของรายได้อื่นๆที่ไม่ใช่ค่าจ้าง ที่บริษัทจ่ายให้กับคนต่างด้าว (non-resident alien)
  • มีกองทุนผู้เกษียณอายุ (Keogh Plan)
  • มีการร่วมงานกับทรัสต์ (Trust) กองทุน IRA องค์กรทางธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษี อสังหาริมทรัพย์ โครงการที่ลงทุนเกี่ยวกับการให้จำนองอสังหาริมทรัพย์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สหกรณ์การเกษตร (รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ ที่นี่)

ผู้ประกอบการสามารถสมัครขอเลข EIN จากหน่วยงาน IRS ได้ทั้งทาง ออนไลน์ และ ช่องทางอื่น

ธุรกิจอาจต้องทำการขอเปลี่ยนเลข EIN หรือขอเลข EIN ใหม่หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  • เปลี่ยนชื่อธุรกิจ
  • เปลี่ยนที่อยู่ของสถานประกอบการ
  • เปลี่ยนเจ้าของ หรือหุ้นส่วน
  • เปลี่ยนผู้บริหาร
  • เปลี่ยนสถานะการจ่ายภาษี

ทั้งนี้ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนหรือขอเลข EIN ใหม่หรือไม่นั้นขึ้นกับรูปแบบของธุรกิจที่จัดตั้งด้วย ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่นี่


การขอหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีระดับรัฐ

ธุรกิจจำเป็นต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีระดับรัฐ (State tax ID) หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลระดับรัฐหรือไม่

ในบางครั้งผู้ประกอบการของธุรกิจรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว อาจใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีระดับรัฐ ทำธุรกรรมอื่นๆของกิจการแทนการใช้เลขประกันสังคมของตน เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อบังคับที่เกี่ยวกับการเสียภาษีมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ รวมไปถึงขั้นตอนในการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีระดับรัฐที่แม้ว่าจะคล้ายคลึงกับการขอเลขประจำตัวนายจ้าง แต่ก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ ผู้ประกอบการควรหาข้อมูลจากรัฐที่จัดตั้งธุรกิจ

ภาษีรายได้ของธุรกิจและภาษีการจ้างงาน เป็น 2 รายการหลักที่กฎหมายของหลายๆรัฐ กำหนดว่าธุรกิจขนาดเล็กต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลระดับรัฐ 

ภาษีรายได้ของธุรกิจและภาษีจากการจ้างงานที่เรียกเก็บในระดับรัฐ

กฎหมายของ 7 รัฐ (ไวโอมิง วอชิงตัน เทกซัส เซาท์ดาโคตา เนวาดา ฟลอริดา และอะแลสกา) นั้นไม่มีการเก็บภาษีรายได้ และกฎหมายของอีก 2 รัฐ (เทนเนสซี และนิวแฮมป์เชียร์) เก็บภาษีรายได้เฉพาะรายได้ที่มาจากเงินปันผลและดอกเบี้ยเท่านั้น สำหรับรัฐที่มีการเก็บภาษีรายได้ อัตราภาษีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจที่จัดตั้ง

ในส่วนของภาษีที่เรียกเก็บสำหรับเงินที่ใช้ทำประกันให้แก่พนักงานรวมถึงค่าสินใหม่ทดแทนให้แก่พนักงานนั้น มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ

ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจกฎระเบียบและคิดคำนวณภาษีเหล่านี้ไปในค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในการจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงใช้ตัดสินใจเวลาที่เลือกรูปแบบของธุรกิจด้วย

ที่มา

https://www.sba.gov/business-guide/launch-your-business/get-federal-state-tax-id-numbers

โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจขนาดเล็กต้องขอใบอนุญาตจากทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐ ซึ่งกฎระเบียบและค่าธรรมเนียมนั้นขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ และสถานที่ตั้ง

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจออกโดยหน่วยงานของรัฐบาลกลาง
ธุรกิจบางประเภทมีกฎระเบียบ ข้อบังคับที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ซึ่งหากผู้ประกอบการประกอบธุรกิจประเภทเหล่านั้น จะต้องทำการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐบาลกลาง

ตารางด้านล่างนี้แสดงถึงประเภทธุรกิจที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐบาลกลาง

PICTURE

ประเภทธุรกิจคำอธิบายหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต
การเกษตรมีการนำเข้าหรือมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ เนื้อสัตว์ สินค้าชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ พืชผัก ต้นไม้ ระหว่างรัฐU.S. Department of Agriculture
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผลิต ขายส่ง ขายปลีก นำเข้า เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์Alcohol and Tobacco Tax and Trade Bureau
การบินธุรกิจที่เกี่ยวข้องการเครื่องบิน ขนส่งสินค้าหรือผู้โดยสารโดยใช้เครื่องบิน บำรุงรักษาเครื่องบินFederal Aviation Administration
อาวุธปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิดผลิต ค้าขาย นำเข้า อาวุธปืน กระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดBureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives
สัตว์ป่า สัตว์น้ำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ สัตว์น้ำต่างๆ
(ที่ไม่ใช่การประมงเชิงพาณิชย์)การนำเข้าหรือส่งออก
รวมถึงสินค้าที่ผลิตมาจากสัตว์เหล่านี้
U.S. Fish and Wildlife Service
การประมงเชิงพาณิชย์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมงเชิงพาณิชย์National Oceanic and Atmospheric Administration Fisheries Service
การขนส่งทางทะเล ทางเรือเดินสมุทรธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางหรือขนส่งทางเรือเดินสมุทรFederal Maritime Commission
เหมืองแร่ ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือเหมืองแร่Bureau of Safety and Environmental Enforcement
พลังงานนิวเคลียร์ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ หรือเกี่ยวข้องกับการแจกจ่ายและกำจัดพลังงานนิวเคลียร์U.S. Nuclear Regulatory Commission
สื่อสารมวลชนทางวิทยุ โทรทัศน์ธุรกิจที่สื่อสารข้อมูลผ่านวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิ้ล ดาวเทียมFederal Communications Commission
การขนส่งธุรกิจที่ใช้ยานพาหนะที่มีขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก ใบอนุญาตการใช้
ยานพาหนะขนาดใหญ่ หรือน้ำหนักมากนั้นจะออกโดยรัฐบาลระดับรัฐ
แต่สำนักงานขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ (U.S. Department of Transportation)
สามารถแนะนำหน่วยงานระดับรัฐที่ถูกต้อง เหมาะสมให้ได้
U.S. Department of Transportation


ใบอนุญาตประกอบธุรกิจออกโดยหน่วยงานระดับรัฐและระดับท้องถิ่น

ใบอนุญาตที่ออกโดยหน่วยงานรัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่นที่ต้องใช้นั้น ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและสถานที่ประกอบการ โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลระดับรัฐมีกฎเรื่องใบอนุญาตที่กว้างและครอบคลุมประเภทของธุรกิจมากกว่าที่รัฐบาลกลางกำหนด ตัวอย่างประเภทธุรกิจที่ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานระดับรัฐคือ ธุรกิจที่เป็นการประมูลสินค้า ก่อสร้าง ซักแห้ง การเกษตร ช่างประปา ร้านอาหาร ร้านค้า หรือเครื่องขายของแบบยอดเหรียญ

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจบางอย่างอาจมีการกำหนดวันหมดอายุ ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งการขอต่ออายุมักจะทำได้ง่ายกว่าขอใบอนุญาตใบใหม่

กฎระเบียบของแต่ละประเภทธุรกิจมีความแตกต่างกันไปตามกฎของรัฐและของท้องถิ่น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องตรวจสอบข้อมูลจากรัฐ(State) เทศมณฑล(County) และเมือง(City) ที่ต้องการประกอบการ

ใบอนุญาตอื่นๆ
นอกจากใบอนุญาตประกอบธุรกิจสำหรับแต่ละประเภทของธุรกิจแล้ว ธุรกิจอาจจะต้องขอใบอนุญาตหรือใบรับรองอื่นๆ เช่น การขออนุญาตดำเนินธุรกิจในพื้นที่ (Zoning Permit) ใบอนุญาตด้านความปลอดภัยอาคาร (Fire Department Permit) ใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ (Health Department Permit) ใบรับรองการจ่ายภาษีการค้า (Sales and Use Tax Certificate) เป็นต้น

ที่มา
https://www.sba.gov/business-guide/launch-your-business/apply-licenses-permits

โดยปกติแล้วบัญชีธนาคารสำหรับการทำธุรกิจจะประกอบไปด้วย บัญชีกระแสรายวัน (checking account) บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (saving account) และบัญชีสำหรับบริการรับบัตรเครดิตหรือเดบิต (merchant service account)

ผู้ประกอบการสามารถเปิดบัญชีในนามของธุรกิจได้หลังจากที่ได้รับเลขประจำตัวนายจ้าง (Employee Identification Number หรือ EIN) แล้ว

การเปิดบัญชีธนาคารในนามของธุรกิจมีประโยชน์หลายอย่างที่แตกต่างไปจากบัญชีธนาคารของบุคคลธรรมดา เช่น

  • บัญชีธนาคารในนามธุรกิจจะช่วยคุ้มครองเจ้าของธุรกิจในการจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบภาระหนี้สิน เพราะจะมีการแบ่งแยกเงินทุนของธุรกิจออกจากเงินทุนส่วนตัวของเจ้าของธุรกิจ นอกจากนี้บัญชีสำหรับบริการรับบัตรเครดิตหรือเดบิต (merchant service account) ยังช่วยคุ้มครองเรื่องการชำระเงินของลูกค้า และทำให้แน่ใจว่าข้อมูลส่วนตัวของลูกค้านั้นถูกเก็บเป็นความลับ
  • ลูกค้าสามารถชำระเงินให้กับธุรกิจผ่านทางบัตรเครดิตและเช็ค โดยไม่ต้องผ่านบัญชีส่วนตัวของเจ้าของธุรกิจ ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจยังสามารถทำการอนุญาตให้สิทธิ์แก่ลูกจ้างหรือพนักงานในการทำธุรกรรมกับธนาคารแทนได้อีกด้วย
  • บัญชีธนาคารในนามธุรกิจมักจะมาพร้อมกับวงเงินสินเชื่อ (line of credit) ซึ่งทำให้เจ้าของธุรกิจมีความพร้อม หากจำเป็นต้องกู้ยืมฉุกเฉินมาใช้อย่างเร่งด่วน
  • บัญชีบัตรเครดิตของธุรกิจนั้น ทำให้ธุรกิจมีอำนาจซื้อที่มากขึ้น ธุรกิจจะสามารถซื้อของได้มากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการเริ่มต้นเปิดกิจการ และยังช่วยสร้างประวัติข้อมูลเครดิต (credit history) ให้กับธุรกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการขอสินเชื่อในอนาคตอีกด้วย


การหาธนาคาร และสิทธิประโยชน์

เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เจ้าของธุรกิจอาจเลือกที่จะเปิดบัญชีกับธนาคารที่เจ้าของธุรกิจนั้นเป็นลูกค้าประจำหรือมีบัญชีส่วนตัวอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี ค่าธรรมเนียม ตัวเลือกเสริม หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ มักจะมีความแตกต่างกันในแต่ละธนาคาร ดังนั้นเจ้าของธุรกิจควรจะทำการศึกษาหาข้อมูลจากหลากหลายธนาคาร เพื่อเปรียบเทียบหาตัวเลือกที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด หรือให้ผลประโยชน์มากที่ดีสุด

ในกรณีที่เป็นนักลงทุนจากประเทศไทยและไม่เคยมีบัญชีที่สหรัฐอเมริกามาก่อน ควรเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารที่น่าเชื่อถือ มีชื่อเสียง มีหลายสาขา และสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้

การเลือกเปิดบัญชีออมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวัน ควรจะคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้

  • สิทธิประโยชน์หรือโบนัสในการเปิดบัญชี
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับบัญชีออมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวัน
  • อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงิน จากวงเงินสินเชื่อ (line of credit)
  • ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม (transaction fees)
  • ค่าธรรมเนียมในการปิดบัญชีเร็วกว่าที่กำหนด
  • ค่ารักษาบัญชี กรณีมีเงินเหลือน้อยกว่าขั้นต่ำที่กำหนด

และการเลือกเปิดบัญชีสำหรับบริการรับบัตรเครดิตหรือเดบิต ควรจะคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้

  • อัตราค่าธรรมเนียมการรับบัตรเครดิต (Merchant Discount Rate) โดยมักจะเรียกเก็บเป็นร้อยละของยอดซื้อแต่ละรายการที่ถูกชำระด้วยบัตรเครดิต
  • ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ซึ่งคือค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายสำหรับทุกธุรกรรมที่ธุรกิจรับเงินผ่านบัตรเครดิต
  • ค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบความถูกต้องของที่อยู่ของผู้ถือบัตรเครดิต (address verification service – AVS)
  • ค่าธรรมเนียมที่ธุรกิจทำการตกลงจำนวนเงินได้รับผ่านบัตรเครดิตต่อวัน (ACH daily batch fee)
  • ค่าธรรมเนียมหากธุรกิจไม่ได้มียอดการรับชำระผ่านบัตรเครดิตตามจำนวนขั้นต่ำที่ตกลงไว้ต่อเดือน

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีบริษัทที่จัดการเรื่องการชำระเงินโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า Payment processing company ยังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยบริษัทเหล่านี้มักจะมีข้อเสนอพิเศษอื่นๆเพิ่มเติม เช่น มีอุปกรณ์ติดที่โทรศพท์มือถือเพื่อรองรับการจ่ายเงินผ่านบัตร  ซึ่งค่าธรรมเนียมในการใช้บริการจากบริษัทเหล่านี้จะคล้ายคลึงกันกับการเปิดบัญชีบริการรับบัตรเครดิตหรือเดบิต (merchant service account) กับธนาคาร

เอกสารที่ใช้ในการเปิดบัญชี

โดยทั่วไปแล้ว เอกสารที่ใช้ในการเปิดบัญชีประกอบด้วย

  • เลขประจำตัวนายจ้าง (Employee Identification Number หรือ EIN) หรือเลขประกันสังคมของเจ้าของกิจการหากเป็นการจดทะเบียนเป็นแบบกิจการเจ้าของคนเดียว (Sole proprietorship)
  • เอกสารการจัดตั้งธุรกิจ
  • ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (Business License)
  • ข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น (Ownership Agreements)

ที่มา
https://www.sba.gov/business-guide/launch-your-business/open-business-bank-account

การทำประกันภัยสำหรับธุรกิจเป็นการป้องกันไม่ให้ธุรกิจจำต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด

การคุ้มครองที่ธุรกิจได้รับจากการจดทะเบียนเป็นธุรกิจบางรูปแบบ เช่น รูปแบบ LLC  หรือ Corporation นั้น เป็นการจำกัดความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สิน ที่ผู้ประกอบการหรือผู้ถือหุ้นไม่ต้องใช้ทรัพย์สินส่วนตัวมาชำระหนี้ของธุรกิจ แต่การคุ้มครองก็ค่อนข้างที่จะจำกัด

การทำประกันภัยจะช่วยคุ้มครองธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น เพราะสามารถคุ้มครองทั้งทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ประกอบการหรือผู้ถือหุ้น และทรัพย์สินของธุรกิจ จากค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ หรือการฟ้องร้องค่าเสียหาย ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด

ในบางกรณี กฎหมายมีการบังคับให้ธุรกิจต้องทำประกัน เช่น กฎหมายของรัฐบาลกลางกำหนดไว้ว่า ทุกธุรกิจที่มีการจ้างพนักงานจะต้องทำประกันชดเชยแรงงาน (compensation insurance) ประกันการว่างงาน (unemployment insurance) และประกันทุพพลภาพ (disability insurance) ในส่วนของรัฐบาลระดับรัฐ กฎระเบียบในการทำประกันมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละรัฐนั้นๆ ด้วย

ประกันภัยสำหรับธุรกิจ 6 ประเภทที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

หลังจากที่ซื้อประกันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้ประกอบการสามารถซื้อประกันเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสี่ยงอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการควรซื้อประกันไว้สำหรับสิ่งที่คิดว่าจะไม่สามารถชำระเงินจ่ายได้เองในอนาคต

ประกันภัยสำหรับธุรกิจที่เป็นที่นิยม แบ่งเป็น 6 ประเภท ดังนี้

 

4 ขั้นตอนในการซื้อประกันภัยสำหรับธุรกิจ

1. ประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ

ผู้ประกอบการควรพิจารณาดูว่าธุรกิจอาจเผชิญอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรือการฟ้องร้องใดได้บ้างที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจ ผู้ประกอบการอาจศึกษาวิธีการเลือกประกันภัยหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมจาก National Federation of Independent Businesses (NFIB)

2. หาตัวแทนขายประกันที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ

ตัวแทนขายประกันอาจสามารถช่วยหากรรมธรรม์ที่เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจได้ เนื่องจากตัวแทนขายประกันจะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันจากการขายประกัน ดังนั้นผู้ประกอบการควรหาตัวแทนที่ได้รับใบอนุญาตและใส่ใจในธุรกิจของผู้ประกอบการ

3. เปรียบเทียบจากหลายๆบริษัท

ผู้ประกอบการควรทำการเปรียบเทียบราคา เงื่อนไข และผลประโยชน์จากหลายๆบริษัท นอกจากเปรียบเทียบจากหลายๆบริษัทแล้ว ผู้ประกอบการควรทำการเทียบราคาจากตัวแทนหลายๆเจ้าด้วยเช่นกัน

4. ประเมินแผนประกันทุกปี

เมื่อธุรกิจเติบโต  ความรับผิดชอบต่างๆก็สูงขึ้นด้วย ถ้าธุรกิจมีการซื้อหรือเปลี่ยนเครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำงานใหม่ หรือขยายกำลังการผลิต ผู้ประกอบการควรติดต่อตัวแทนประกันเพื่อทำแผนประกันใหม่ให้ครอบคลุมถึงสิ่งที่ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงด้วย

ที่มา
https://www.sba.gov/business-guide/launch-your-business/get-business-insurance

Go to Top