กุ้งโงหัวผลผลิต – ส่งออกขาขึ้น

กุ้งโงหัวผลผลิต – ส่งออกขาขึ้น

กุ้งไทยโงหัว ผลผลิต – ส่งออกเริ่มคึกคัก บิ๊กไทยยูเนี่ยนฟันธงผ่านช่วงต่ำสุดแล้ว คาดผลผลิตปีหน้าไต่ระดับ 2.8 – 3 แสนตัน เรียกความมั่นใจลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าไทย เกษตรกรดี๊ด๊า ราคากุ้งขยับ เมินส่งสินค้าเข้าโครงการประกันราคา มั่นใจปี 2559 ส่งออกกุ้งไทยทั้งแง่ปริมาณและมูลค่าโตระดับ 2 หลักนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจกุ้ง บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ถือเป็นสัญญาที่ดีที่ล่าสุดผลผลิตและราคากุ้งของไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นจากที่ ผ่านมาการเลี้ยงกุ้งของไทยได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน (EMS) มาตั้งแต่ปลายปี 2554 ทำให้กุ้งที่เคยเลี้ยงและได้รับผลผลิต 4-5 หมื่นตันต่อเดือน เหลือบางเดือนแค่หลักหมื่นตัน ล่าสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การเลี้ยงกุ้งของไทยมีอัตรารอดดีขึ้น โดยผลผลิตขึ้นมาอยู่ที่ระดับเกือบ 3 หมื่นตันเป็นครั้งแรก ซึ่งสวนทางกับราคากุ้งในเดือนตุลาคมตกต่ำมาก“ราคากุ้งที่ตกต่ำมากในเดือนตุลาคมที่ผ่าน มา เพราะมีผลผลิตออกมาก ขณะที่โรงงานแปรรูปหรือห้องเย็นก็รับกุ้งได้ไม่หมด เพราะซื้อกุ้งเข้าโรงงานเท่าที่มีออร์เดอร์ไม่ซื้อตุน ขณะที่ก่อนหน้านี้ห้องเย็นได้เลิกจ้างคนงานจำนวนมากเพราะไม่มีกุ้งผลิต แต่พอกุ้งมีมากก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งล่าสุดกระทรวงแรงงานได้เปิดรับจดทะเบียน และทำบัตรแรงงานต่างด้าวเฉพาะกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ทำให้ห้องเย็นสามารถเร่งการผลิตเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าได้”

ทั้งนี้ จากที่โรงงานแปรรูปได้กลับมาขยายการผลิตและซื้อกุ้งจำนวนมาก ๆ อีกครั้ง มีผลให้เวลานี้ราคากุ้งในตลาดได้ปรับตัวสูงเป็นที่น่าพอใจ เช่น กุ้งไซซ์ขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม ช่วงราคาตกขายได้เฉลี่ยไม่ถึง 100 บาท แต่เวลานี้ราคากุ้งหน้าบ่อไซซ์ดังกล่าวขายได้ราคาสูงถึง 140 – 150 บาทต่อกิโลกรัม

จากราคากุ้งที่ปรับตัวดีขึ้นดังกล่าว นายฤทธิรงค์ระบุว่า ได้ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันราคากุ้งขั้นต่ำของบริษัทได้ขาย กุ้งให้กับตลาดทั่วไป ไม่มาขายให้กับโครงการ ที่มีเกษตรกรแสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการคิดเป็นปริมาณกุ้งรวม 1.8 หมื่นตัน (ระยะเวลาโครงการ ต.ค. 58 – มี.ค. 59) ซึ่งทางบริษัทก็ไม่ว่าอะไรเพราะในสัญญาก็ระบุไว้แล้วว่า หากราคาข้างนอกดีกว่าราคาประกันก็สามารถขายได้ แต่หากราคาข้างนอกขายได้ราคาต่ำกว่าก็มาขายราคาประกันกับบริษัท เพราะโครงการมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นใจในการเลี้ยงและ ช่วยพยุงราคากุ้งในประเทศไทย

“โครงการประกันราคากุ้งของบริษัทมีเป้า หมาย 1.2 หมื่นตันในระยะเวลา 6 เดือน แต่ล่าสุดมีเกษตรกรนำกุ้งมาขายให้กับเราเพียงหลักหลายร้อยตันในช่วงเดือน ตุลาคมที่ราคากุ้งตกต่ำมากเท่านั้น ดังนั้น จึงมองว่าเวลานี้ผลผลิตกุ้งของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยในปี 2558 คาดจะมีผลผลิตที่ 2.4 – 2.5 แสนตัน และปีหน้าหากเกษตรกรมีความมั่นใจในการเลี้ยงและมั่นใจเรื่องราคามากขึ้น คาดผลผลิตจะขึ้นไปได้อย่างน้อย 2.7 – 2.8 แสนตันหรืออาจขึ้นไปถึงระดับ 3 แสนตัน ซึ่งจะเรียกความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เวลานี้เริ่มกลับมาซื้อกุ้งไทยกันอย่างคึกคัก เพราะแม้จะมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง แต่เชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า สั่งแล้วได้ของ และบริการจัดส่งตรงเวลา”

นายฤทธิรงค์ กล่าวถึงธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ในอดีตที่ผลผลิตกุ้งของไทยเป็นปกติ (ผลิตได้ที่ระดับ 5 – 6 แสนตันต่อปี) บริษัทสามารถผลิตและส่งออกกุ้งได้ 6 – 7 หมื่นตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันผลิตลดลงมามาก แต่ยอดขายก็ยังใกล้เคียงเดิมเพราะราคาขายสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งนี้ เชื่อว่าการส่งออกกุ้งของไทยในปี 2559 จะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกคือ 1. ผลผลิตจะปรับตัวดีขึ้น 2. ปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ไทยมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้คู่ค้ามั่นใจ และ 3. ต่างชาติยังเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทยคุณภาพมาตรฐานดีที่สุดในโลก เชื่อในปี 2559 การส่งออกกุ้งไทยทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่าจะขยายตัวจากปีนี้ในระดับตัวเลข 2 หลัก

แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3111 วันที่ 6 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558 หน้า 5

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

46 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top