สหรัฐฯ เดินเกม TPP มาตรฐานใหม่ “การค้าเสรีโลก”

2018-06-07T23:01:14-04:00December 11, 2015|Categories: เศรษฐกิจ|

สหรัฐฯ เดินเกม TPP มาตรฐานใหม่ “การค้าเสรีโลก”

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อน สำหรับความเป็นไปได้ที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบการค้าเสรี “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ TPP เพราะในขณะที่หลายภาคส่วนในประเทศยังถกเถียงกันถึงข้อดี – ข้อเสียที่ไทยจะได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าว ฝ่ายโต้โผใหญ่ของ TPP อย่างสหรัฐฯ ก็ออกมาแสดงความเห็นและชี้ถึงความคืบหน้าให้เห็นอยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะในประเด็นความพร้อมของฝ่ายไทย

TPP มาตรฐานใหม่การค้าเสรี

ถ้อยแถลงของนายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวถึงข้อตกลงการค้า TPP ว่าเป็น “ความร่วมมือที่มุ่งมั่นจะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการค้าของกลุ่มประเทศ สมาชิก ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของโลก และจะเป็นจุดเปลี่ยนของศตวรรษที่ 21 ในการขจัดอุปสรรคการค้า ทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษีขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความโปร่งใสของรัฐบาล ยกระดับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และทรัพย์สินทางปัญญา”

ขณะที่นางสาวคริสติน่า คาวิน ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของสถานทูตสหรัฐฯ ในไทย ก็ให้ความเห็นในงาน “Thailand Focus 2015: Opportunity Growth and Reform” ว่า กรอบ TPP เป็นตัวยกระดับมาตรฐานการค้าเสรีในยุคศตวรรษที่ 21 สำหรับชาติสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน เช่น สิงคโปร์และเวียดนาม ให้สามารถบรรลุข้อตกลงที่ยึดมั่นในหลักการว่า จะต้องแสวงหาผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกัน

โดยน.ส.คาวินยกตัวอย่างประเด็นอ่อนไหว เช่น สิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีความจำเป็น ในการรักษาโลกได้ยากขึ้น โดย น.ส.คาวินระบุว่า ภายใต้กรอบ TPP ชาติสมาชิกได้หาทางออกร่วมกัน โดยเคารพเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาทั้งยังทำให้หน่วยงานสาธารณสุขเข้าถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ถูกลง จากการกำจัดภาษีนำเข้าระหว่างกัน

ทั้งนี้ ผลการเจรจา TPP ได้ลดจำนวนปีในการถือครองสิทธิบัตรยาจากเดิม 12 ปี เป็น 8 ปี ทำให้เกิดข้อกังวลว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจลงมติให้สัตยาบัน TPP ของรัฐสภาสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีหน้า

แนบแน่นอาเซียน

นอกจากกรอบ TPP แล้วสหรัฐฯ ยังแย้มถึงความร่วมมือในกรอบอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (APEC) และอาเซียน โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุว่า การประชุม ASEAN – US Summit นอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ครั้งล่าสุด ยังมีการลงนามในข้อตกลง ASEAN – US Strategic Partnership เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่การเป็น “พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของสหรัฐฯ ในการคงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม การกระทำของสหรัฐฯ ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เป็นนโยบายถ่วงดุลย์อำนาจของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ เพราะขณะที่สหรัฐฯ ส่งเสริมกรอบเจรจา TPP โดยระบุถึงเงื่อนไขที่ชัดเจนและอิงการค้าเสรี แต่กลับไม่มีท่าทีผลักดันการเจรจาในกรอบอื่น ๆ ที่มีจีนเข้าร่วมด้วย อาทิ APEC โดยอ้างว่าการเจรจาในกรอบดังกล่าวนั้นครอบคลุมเนื้อหาที่กว้างเกินไป เช่น ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ยากต่อการเจรจา

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ระบุว่า การหารือในกรอบ TPP ที่เกิดขึ้นนอกรอบการเจรจา APEC เป็นที่รับรู้ของทุกประเทศตลอดมาแต่ชาติสมาชิก APEC หลายประเทศยังไม่พร้อมสำหรับเงื่อนไขที่สูงกว่าของกรอบ TPP จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมเอง

แนวโน้มไทยเข้าร่วม TPP

จริงอยู่ที่ว่าเมื่อปี 2556 การเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดี บารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลพลเรือนของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สหรัฐฯ ได้ออกปากเชื้อเชิญให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาในกรอบ TPP แต่เมื่อชาติสมาชิกผู้ก่อตั้ง 12 ประเทศ บรรลุข้อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว โอกาสที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ดูจะยืดเวลาออกไปอีก

คำกล่าวของ น.ส.คาวินย้ำชัดเจนว่าไทยยังต้องรอไปก่อนระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเปิดการเจรจากับสมาชิก TPP เนื่องจากขณะนี้ ทุกประเทศยังยุ่งอยู่กับกระบวนการทางกฎหมายภายในประเทศของตน สำหรับการให้สัตยาบันข้อตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะ 2 ประเทศหลักที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน TPP อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น มิเช่นนั้นจะไม่สามารถบังคับใช้ข้อตกลงได้ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของ TPP ยังมีอีกว่า หากสมาชิกผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบัน ก็สามารถบังคับใช้ข้อตกลงได้ภายในเวลา 6 เดือน

ขณะที่กระบวนการรับสมาชิกใหม่ยังไม่มีความ ชัดเจน แต่นายเดวีส์หยอดคำหวานว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะเจรจาและให้ความช่วยเหลือไทย ในการปฏิรูปเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐาน TPP และแนะว่ารัฐบาลไทยควรพิจารณาเงื่อนไขของข้อตกลง TPP อย่างรอบคอบ และตัดสินใจร่วมกันในวงกว้างว่าจะเข้าร่วม TPP ดีหรือไม่

แน่นอนว่าทุกการตัดสินใจย่อมมีทั้งผลบวกและผลลบตามมาเป็นงานหนักของไทยที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ข้อตกลงนี้ได้คุ้มเสียหรือเปล่า

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 4791 (3991) วันที่ 10 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558 หน้า 11

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Share This Post!

63 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top