ผู้เลี้ยงกุ้งยัน ปี 59 จุดพลิกฟื้น

2018-06-07T23:03:01-04:00December 21, 2015|Categories: เศรษฐกิจ|

ผู้เลี้ยงกุ้งยัน ปี 59 จุดพลิกฟื้น

ผู้ เลี้ยงกุ้งยันปี 59 จุดพลิกฟื้นอุตสาหกรรมกุ้งไทย คาดผลผลิตแตะ 2.9 แสนตัน สร้างความมั่นใจห้องเย็นมีของส่งลูกค้า สวนทางคู่แข่งทั้งเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย แนวโน้มผลผลิตวูบถ้วนหน้าจากโรคกุ้งรุมเร้า คาดส่งผลราคากุ้งปีหน้าปรับตัวขึ้นร้อยละ 10-20 วอนห้องเย็นอย่าขายตัดราคา ขณะปัจจัยเสี่ยงยังอื้อทั้งถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งเรื่องแรงงานทาส อียูตัดจีเอสพีทำขีดแข่งขันวูบ ภัยก่อการร้าย สงครามปัจจัยเสี่ยงใหม่

ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกุ้งไทย และนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย เปิดเผยว่า ใน ปี 2559 ทางผู้เลี้ยงกุ้งในภาพรวมทั่วประเทศมั่นใจว่าจะเป็นจุดพลิกฟื้นของ อุตสาหกรรมกุ้งไทย และโรงงานแปรรูป หรือห้องเย็นจะมีวัตถุดิบในการผลิตส่งมอบให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นผลจากในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหาการผลิตกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากโรคตาย ด่วน (EMS) ที่ประสบมาในช่วง 4 ปีได้อย่างมีนัยสำคัญทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

ขณะที่คู่ แข่งขันของไทยมีแนวโน้มผลผลิตที่ลดลง ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการทวงคืนตลาดต่างประเทศที่เคยครองอันดับ 1 มากว่า 20 ปี “ปัญหาเดียวที่เราเจอมา 4 ปี คือ ไม่มีของให้ลูกค้าแต่ตอนนี้มีข่าวดี ปี 2559 มีของแน่นอน แต่ที่ต้องระวัง คือ อย่าให้ผลผลิตกุ้งทะลักออกมาพร้อม ๆ กัน เพราะพอล้นตลาดราคาก็แกว่ง เมื่อหลายเดือนก่อนก็เจอปัญหานี้ ซึ่งคนเลี้ยงและห้องเย็นต้องประสานข้อมูลกันให้ดี ปัจจุบัน มีห้องเย็นที่จะทำกุ้งจริง ๆ เหลือแค่ 16 บริษัท ซึ่งอยากให้ห้องเย็นเปลี่ยนวิธีคิด อย่าคิดแบบเดิม ๆ คือ เสนอตัดราคาขาย รวมถึงที่น่ากังวล คือ ห้องเย็นเฉพาะกิจที่ไม่ได้ทำกุ้ง แต่พอมีวิกฤติราคากุ้งตกก็เข้าช้อนซื้อไปเร่ขายตัดราคาทั่วโลก ซึ่งจะกระทบกับมูลค่ารวมการส่งออกและสร้างความเดือดร้อนผู้เลี้ยงกุ้ง”

ขณะที่นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ปี 2558 คาดผลผลิตกุ้งของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 2.6 แสนตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ผลิตได้ 2.3 แสนตัน) ในจำนวนนี้จะส่งออกกุ้งสดและแปรรูปได้ ประมาณ 1.4 แสนตัน มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2559 คาดจะมีผลผลิตที่ 2.9 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีนี้ร้อยละ 10 ในจำนวนนี้คาดจะแปรรูปส่งออกได้ที่ 1.6 -1.8 แสนตัน มูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ จากผลผลิตกุ้งของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะสวนทางกับผลผลิตกุ้งของประเทศ คู่แข่งขันที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากที่สมาคมได้ไปหาข้อมูลสถานการณ์คู่แข่งขันพบในส่วนของเวียดนามผลผลิต กุ้งในปี 2558 คาดจะมีปริมาณ 2.1 แสนตัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีผลผลิต 3 แสนตัน หรือลดลงร้อยละ 30 ผลจากในเดือนเมษายนที่ผ่านมาราคากุ้งในเวียดนามดิ่งลงมาก ไม่จูงใจให้เกษตรกรลงกุ้ง ส่งผลถึงผลผลิตทั้งปีของเวียดนามจะลดลงไปมาก นอก จากนี้ ยังมีปัญหาโรคไมโครสปอริเดียน(EHP) หรือโรคกุ้งเลี้ยงแล้วไม่โต ค่อย ๆ ตาย หรือหากไม่ตายก็จะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น และได้กุ้งไซส์เล็ก ปัญหาโรค EMS ที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 และยังมีอยู่รวมถึงโรคขี้ขาว

อินเดีย คาดผลผลิตปี 2558 จะมีปริมาณ 3.8 แสนตัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีผลผลิต 4.2 แสนตัน หรือลดลงร้อยละ 10 โดยเสียหายจากโรคตัวแดง ขี้ขาว ที่สำคัญอินเดียเริ่มมีโรค EHP ที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งปัญหาเรื่องโรคจะทำให้ผลผลิตกุ้งของอินเดียในปี 2559 ลดลง

ส่วนจีนคาด ผลผลิตกุ้งในปีนี้จะลดลงเหลือ 3.5 แสนตัน(ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ) จากปีที่แล้วมีผลผลิต 4 แสนตัน หรือลดลงร้อยละ 13 ซึ่งเวลานี้จีนส่งออกกุ้งไม่ได้ เพราะเพิ่งถูกสหภาพยุโรป (อียู) สั่งเผาทำลายสินค้า หลังพบยาปฏิชีวนะตกค้าง เพราะผู้เลี้ยงทั่วไปใช้ยาตั้งแต่โรงเพาะฟักจนถึงการจับ

ขณะที่ อินโดนีเซีย มีปัญหาเรื่องโรคขี้ขาว กุ้งโตช้า (Slow Growth) ที่ยังไม่ยืนยันว่าเป็นไมโครสปอริเดียน หรือ EHP หรือไม่ โรคกล้ามเนื้อตาย (IMN) ที่เริ่มรับมือได้บ้าง แต่ยังพบอยู่หลายพื้นที่ ซึ่งกรณี EHP หากรับมือไม่ได้ คาดจะส่งผลให้อินโดนีเซียมีผลผลิตกุ้งที่ลดลงในปี 2559

“ภาพรวมผล ผลิตกุ้งของโลกในปีหน้าจะลดลง แต่ผลผลิตไทยจะเพิ่มขึ้นราคาวัตถุดิบจะแพงขึ้น ราคากุ้งของทั้งโลกก็น่าจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคากุ้งในประเทศของไทยมีเสถียรภาพดีกว่าปีนี้ เบื้องต้นน่าจะปรับตัวขึ้นได้ร้อยละ 10- 20 ขณะที่ดีมานด์หรือความต้องการกุ้งของโลกอาจปรับขึ้นได้เล็กน้อยเพราะสภาพ เศรษฐกิจของหลายประเทศยังไม่ค่อยดี” นายสมศักดิ์กล่าว และระบุถึงปัจจัยเสี่ยงการส่งออกกุ้งในปี 2559 ว่า ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ยังมีปริมาณสต๊อกกุ้งมาก และไทยมีปัญหาถูกอียูตัดจีเอสพี ทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าคู่แข่งขันทำให้เสียเปรียบ

ปัญหา เรื่องแรงงาน หรือแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงที่ไทยจะถูกกดดันจากสหรัฐฯ และอียูต่อไป ซึ่งต้องระวังเศรษฐกิจโลก สงคราม และการก่อการร้ายที่จะกระทบกับเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประเทศนั้น ๆ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจกระทบค่าเงินบาทไทยผันผวน ส่วนปัจจัยบวก เช่น ตลาดสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งทำให้มีโอกาสการขายสูงขึ้น อินเดียประสบ ปัญหาน้ำท่วมและโรคในกุ้ง โอกาสคู่ค้ากลับมาซื้อกุ้งไทยสูง ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มกลับมาแล้ว เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3115 วันที่ 20-23 ธันวาคม 2558 หน้า 6

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Share This Post!

44 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top