แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2559
แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2559 นั้นประเมินไม่ง่ายนัก แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะมองว่าเศรษฐกิจโลกคงจะฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับแต่ก็มีความไม่แน่นอนสูงเพราะปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ
1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีจนต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ยุโรปและญี่ปุ่นยังต้องกดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์และทำคิวอีเพิ่ม ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน โดยเงินดอลลาร์ สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากเกินไป ก็อาจทำให้ต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่หากเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงเกินไป ก็จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่ามากขึ้นไปอีก ในอีกด้านหนึ่งหากญี่ปุ่นและยุโรปเร่งทำคิวอีเพิ่มตามการคาดหวังของตลาด ก็จะทำให้เงินเยนและเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
2. ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะคาดการณ์ (ผิด) ว่า น่าจะขยับขึ้นไปที่ 50 ดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ ยังมีนักวิเคราะห์บางค่ายมองว่า ราคาน้ำมันอาจลดลงไปต่ำถึง 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในกรณีที่มีการผลิตเกินความต้องการอย่างมาก จนหาที่กักตุนน้ำมันไม่ได้ แต่โอกาสดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากตามการประเมินของอีไอเอ (Energy Information Administration ของสหรัฐฯ) อย่างไรก็ดี ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (รัสเซีย สหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย) ต่างไม่ยอมลดกำลังการผลิต ในขณะที่อิหร่านยืนยันว่าเมื่อมีการยกเลิกการคว่ำบาตรแล้วอิหร่านก็พร้อมจะ เร่งการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทำให้อีไอเอประเมินว่ากำลังการผลิตที่เกิน ความต้องการนั้นจะยืดเยื้อไปถึงปี 2559 ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนไปในทางลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ (เช่น ยางพารา) และกระทบต่อสถานะทางการเงินของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งจะกดดันให้ประเทศดังกล่าวต้องขายสินทรัพย์ออกมาและทำให้ผู้ผลิตน้ำมัน ของสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการต้องพักชำระหนี้ที่ออกไปในรูปของพันธบัตรที่มีความเสี่ยงสูง (high-yield bonds) กล่าวคือจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดพันธบัตรที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเอง
3. ไอเอ็มเอฟได้กล่าวเตือนแล้วว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในปี 2559 คือการที่ประเทศตลาด เกิดใหม่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา โดย เฉพาะหนี้สินของบริษัทขนาดใหญ่ที่ขายพันธบัตร ทั้งที่เป็นสกุลท้องถิ่นและสกุลเงินต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นดอลลาร์) ทั้งนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่บริษัทสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือประเทศจีนและในระยะหลังนี้ ก็จะมีข่าวว่ามีบริษัทจีนหลายแห่งที่ไม่สามารถชำระคืนเงินต้นเมื่อพันธบัตร หมดอายุ และต้องขอเลื่อนการจ่ายคืนออกไป
ในขณะเดียวกันตลาดพันธบัตรที่มีความเสี่ยง สูงในสหรัฐฯ ก็มีปัญหาดังที่กล่าวในข้อ 2 ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนหวั่นไหวและต้องการลดความ เสี่ยงโดยการลดการถือพันธบัตรที่มีความเสี่ยงลงไปอีก โดยเฉพาะในปี 2559 ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 3-4 ครั้ง แต่หากนักลงทุนขายพันธบัตรก็ยิ่งจะเป็นการกดดันบริษัทที่ออกพันธบัตรให้ต้อง หาเงินสดมาคืนในสถานการณ์ซึ่งไม่เอื้ออำนวย จึงจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความผันผวนของดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนั้นก็จะกระทบต่อราคาหุ้นได้อีกด้วย
ประเด็นที่กล่าวข้างต้น เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ในบรรยากาศที่คาด การณ์ได้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ความเสี่ยงที่อัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยพันธบัตรจะปรับตัวขึ้น-ลงอย่างฉับ พลันนั้นน่าจะมีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2558 ทำไมจึงไม่ปล่อยให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปอีก 1-2 ปี เพราะเงินเฟ้อก็ต่ำ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มิได้ขยายตัวอย่างร้อนแรงแต่อย่างไร
ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็ไม่อยากปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ต้องยอมจำนนด้วยเหตุผลหลัก ๆ 3 ประการ คือ
1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรักษาเสถียรภาพทางราคา (ทำให้เงินเฟ้อต่ำประมาณ ร้อยละ 2 ต่อปี) และให้อัตราการว่างงานต่ำประมาณร้อยละ 5-5.5 เพราะหากต่ำกว่านี้จะทำให้แรงงานขาดแคลนและต้องปรับเงินเดือนขึ้น จนทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ แต่หากว่างงานมากกว่าร้อยละ 5.5 ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในภาวะปัจจุบันนั้นอัตราการว่างงานปรับลงมาที่ร้อยละ 5 แล้ว และอัตราการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นเดือนละกว่า 200,000 ตำแหน่งนั้น ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาง Janet Yellen ประเมินว่าจะทำให้อัตราการว่างงานลดลงต่ำกว่าร้อยละ 5 อย่างแน่นอน
2.อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปี 2558 นั้น แม้จะต่ำใกล้ศูนย์ก็จริง แต่เป็นผลมาจากสาเหตุ 3 ประการที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำเพียงชั่วคราว ได้แก่ 1. การลดลงของราคาน้ำมันซึ่งปัจจุบันน่าจะไม่ปรับลดลงต่อไปอีก แต่น่าจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2. การลดลงของราคาค่าบริการด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย Obama care ในปี 2558 ซึ่งเมื่อระบบใหม่เปิดดำเนินการเต็มที่ตามที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายแล้ว ต้นทุนค่าบริการก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามปกติและ 3. เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมากในปี 2558 แต่ไม่น่าจะแข็งค่าขึ้นมากนักในปี 2559 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะขยับขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 1.5-2.0 ซึ่งเป็นระดับปกติ
การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น (ดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืน) เพื่อควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจ หมาย ความว่าหากธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นช้าเกินไป ทำให้คนส่วนใหญ่กลัวว่าเงินเฟ้อจะปรับขึ้นในอนาคต ก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยระยะยาวนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากกว่าดอกเบี้ยระยะสั้น ใน กรณีดังกล่าวธนาคารกลางจะต้องเร่งการปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น เพื่อ “ไล่ตาม” ดอกเบี้ยระยะยาว ทำให้ธนาคารกลางสูญเสียความน่าเชื่อถือและเสี่ยงต่อการทำให้เศรษฐกิจเสียหาย เพิ่มเติมไปอีก
ดังนั้น นาง Janet Yellen จึงได้ยืนยันว่าจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นเสียแต่เนิ่นๆ จะได้สามารถปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะรักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของเศรษฐกิจได้ดีกว่าการรีรอ
ที่มา: ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 ธันวาคม 2558 http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636420#sthash.ukbz5E8H.dpuf