โรบินฮู้ดสู่ธุรกิจหลายร้อยล้าน ‘สุชิน ประไพศิลป์’
โรบินฮู้ดสู่ธุรกิจหลายร้อยล้าน ‘สุชิน ประไพศิลป์’ ดังจากถิ่นลุงแซมย้อนมาไทย!! “บั้นปลายชีวิตอยากกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย เพราะเราห่างบ้านมานานแล้ว นานเกือบ 40 ปี อยากกลับมาถ่ายทอดความรู้กับประสบการณ์ให้คนรุ่นหลัง” …เป็นคำกล่าวของ “สุชิน ประไพศิลป์” นักธุรกิจสัญชาติไทยที่ประสบความสำเร็จบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ซึ่ง “กว่าจะมีวันนี้” ของเขาคนนี้…ก็น่าสนใจ และทีม “วิถีชีวิต” ก็มีเรื่องราวชีวิตเขามานำเสนอ…
สุ ชิน ประไพศิลป์ ในวัย 63 ปี ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธาน โกลบอล ฟู้ด มาร์เกต (Global Food Market) ซึ่งภายในซูเปอร์มาร์เกตที่เมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ของเขานั้น จำหน่ายสินค้ามากกว่า 45,000 รายการจากทั่วโลก โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 27,000 ตารางฟุต ซึ่งด้วยความที่เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง ทำให้ชื่อ “Suchin Prapaisilp” ปรากฏอยู่ในตำราหลายเล่ม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาเกิดความคิดว่า อยากจะนำความรู้ ประสบการณ์ชีวิตมาถ่ายทอด บอกเล่าให้คนไทยรุ่นใหม่ ๆ ได้รับรู้รับฟัง ซึ่งเขาคิดว่า จะน่าเสียดายมาก ถ้าไม่ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทย
นอก จากธุรกิจซูเปอร์มาร์เกตแล้ว เขายังมีกิจการอีกหลายอย่าง อาทิ ร้านของชำสมัยใหม่ ยูไนเต็ด โพรวิชั่น (United Provision) ภัตตาคารคิง แอนด์ ไอ (King & I Restaurant) ภัตตาคารญี่ปุ่นโออิชิ สเต๊ก เฮาส์ แอนด์ ซูชิ (Oishi Steak House & Sushi) ภัตตาคารโออิชิ ซูซิ (Oishi Sushi restaurant) และธนาคารซูพีเรียร์ (Superior Bank) ซึ่งเป็นกิจการใหม่ล่าสุด โดยกิจการต่าง ๆ มียอดขายแต่ละปีมากกว่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 825 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 262 คน เป็นคนอเมริกันถึง 240 คน ซึ่งมุมนี้ก็นับว่าน่าสนใจ เพราะไม่ง่ายเลยที่จะมี “คนไทยเป็นนายจ้างคนอเมริกัน” ในอเมริกา
“การ จะให้คนอเมริกันยอมรับนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเราต้องแสดงภาวะผู้นำให้เขาเห็น และต้องยุติธรรม หลักการทำงานของผม เวลาให้ลูกน้องทำงาน ผมให้อำนาจเขา 100% เพื่อให้เขาคล่องตัว เรามีหน้าที่วางนโยบายว่า ต้องการอะไร แบบไหน และสนับสนุนเขา” …เป็น “หลักคิดในการทำธุรกิจ” ของนักธุรกิจเลือดไทยคนนี้ เชื่อหรือไม่? ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ในวันเริ่มต้นชีวิตที่อเมริกาเมื่อราว 40 ปีก่อน เขามีเงินทุนติดตัวเพียง 750 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
โดย สุชิน เล่าย้อนว่า… เป็นชาวยะลา หลังเรียนจบ ปวส. โรงเรียนเทคนิค ไทย-เยอรมัน (ปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) ก็เดินทางไปอเมริกา ในปี 2518 ซึ่งจำได้แม่นว่าเป็นวันที่ 14 เม.ย. โดยคุณแม่ซื้อตั๋วเครื่องบินให้แบบวันเวย์ ไม่มีตั๋วกลับ พร้อมให้เงินจำนวนดังกล่าวติดตัวไป โดยมีจุดหมายปลายทางคือ ไปพบกับพี่ชายของเขา เขาเล่าว่า… ช่วงแรกทำงานหนักมาก ทำ 3 จ๊อบในวันเดียว ซึ่งตอนนั้นทำได้เพราะอายุยังน้อยอยู่ โดยคิดว่างานอะไรก็ได้ถ้าได้ทำจะทำให้เต็มร้อย และคิดเสมอว่า เจ้านายทุกคนคือผู้มีพระคุณ
งาน ที่เขาทำก็มีตั้งแต่ร้านโดนัท ที่ทำตั้งแต่ตี 4 เลิกงานตอน 7 โมงเช้า จากนั้นก็ไปรับจ้างแพ็กของตอน 8 โมงเช้า ยาวไปจนถึง 5 โมงเย็น พอเสร็จจากงานที่ 2 ช่วงเย็น ตั้งแต่ 5 โมงครึ่งก็จะไปทำงานที่โรงแรมในตำแหน่ง Busboy นอกจากนี้ ช่วงปลายปีก็รับงานพิเศษ ส่งสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง ได้ค่าจ้างเล่มละ 5 เซ็นต์ “ช่วงเย็นไปทำงานที่โรงแรม ช่วยเก็บจานเติมน้ำจนกว่าร้านปิด บางครั้งแขกนั่งทานไวน์เลิกมืดมาก ก็อาศัยไปนอนหน้าร้านโดนัท เพื่อรอทำงานตอนตี 4 ไม่กล้ากลับบ้าน กลัวตื่นไม่ทัน จึงเอาชัวร์ ก็ไปนอนรอหน้าร้านเลย ผมคิดเรื่องความรับผิดชอบเป็นหลัก เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับผม”
สุ ชิน เล่าถึงเรื่องราวช่วงเริ่มต้นชีวิตในต่างบ้านต่างเมือง หลังทำงานจนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เขาก็ลงทุนเปิดร้านขายของชำ (JAY Grocery) ในปี ค.ศ. 1975 หรือ พ.ศ. 2518 ปีเดียวกับที่เดินทางไปจากไทย ด้วยเงิน 2,800 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกับกิจการแรกในอเมริกานี้ สุชิน เล่าว่า…คนไทยเวลาอยู่ต่างแดน อยากทานอาหารไทยที่เป็นอาหารบ้านเกิด จะหาวัตถุดิบไม่ค่อยได้ จึงอยากจะเป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับคนไทย ในเมืองเซนต์หลุยส์ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะหาสินค้ายาก โดยทุกสัปดาห์เขาต้องเดินทางไปหาของเข้าร้านไกลถึงย่านไชน่าทาวน์ เมืองซานฟรานซิสโก “โชคดีที่ตอนเปิดร้านแรก ๆ มีคนเวียดนามมาอยู่ใหม่ เขาก็ซื้อสินค้าจากร้านเราด้วย ก็ขายดีขึ้นทุกวัน ต่อมาจึงเริ่มนำสินค้าของชาติอื่นมาขายเพิ่ม เช่น เม็กซิกัน ก็ค่อย ๆ เรียนรู้จากลูกค้า แล้วก็ขยับขยายกิจการจนกลายเป็นซูเปอร์มาร์เกตในที่สุด ตอนนี้ในร้านก็มีสินค้าจากตะวันออกกลาง ยุโรป เอเชีย อเมริกาใต้ หมู่เกาะทะเลแคริบเบียน ก็ครอบคลุมหมด ที่ขยายกิจการไปไม่หยุด ก็เพราะคิดว่า คนเราถ้ามีโอกาสก็ต้องทำ ต้องอย่าหยุดนิ่ง ต้องรู้จักไขว่คว้าหาโอกาส ทำได้ต้องทำเลย” …เป็นคำบอกเล่าของ สุชิน กับธุรกิจที่บุกเบิกและก่อร่างสร้างขึ้นมา
หลัง เปิดร้านขายของชำสักพัก เขารวบรวมเงินได้ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงลงทุนเปิดภัตตาคารคิง แอนด์ ไอ ในปี ค.ศ. 1982 หรือ พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยแห่งแรกของเมืองเซนต์หลุยส์ เขาบอกว่า… เมื่อเกือบ 34 ปีก่อนการเปิดภัตตาคารไทยเป็นเรื่องยากมากจากหลายเหตุผล เช่น คนอเมริกันไม่รู้จัก รสชาติไม่คุ้น โดยนิสัยคนเซนต์หลุยส์อะไรใหม่ ๆ จะไม่ค่อยยอมรับ ไม่ค่อยเปิดกว้างเท่าไหร่ กว่าจะทำให้ยอมรับได้ก็ใช้เวลาหลายปี และต้องอาศัยความอดทน ต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ รวมถึงก็ต้องใช้กึ๋นมากพอดู “พอเราเข้าใจหลักการนี้ ต่อไปเวลาเราจะทำธุรกิจอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา เราก็ไม่กลัวแล้ว อะไรที่มันเป็นปัญหา มันบกพร่อง ก็มาแก้ไข อะไรที่เป็นสิ่งดี ๆ เราก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ง่าย ๆ แค่นี้” เขากล่าว
การ เปิดร้านอาหารไทย เป็นการเปิดแบบตกกระไดพลอยโจน เพราะตอนแรกเป็นการร่วมหุ้นกับคนไทยที่รู้จักกันคนหนึ่ง ร่วมกันเปิด เพราะเขาขอร้องให้ช่วยเหลือเรื่องเงินทุน เพราะจะถูกฝรั่งยึดมัดจำค่าเช่าร้าน พอทำไป 2 ปี เพื่อนเขากลับเมืองไทย จึงต้องรับทำร้านต่อ สุชิน เล่าอีกว่า… การดำเนินธุรกิจร้านอาหารในช่วงแรกของเขาเริ่มจากไปติดต่อโรงเรียนสอนภาษา อังกฤษของรัฐบาลให้ช่วยเหลือ ด้วยการส่งคนไปทาน หรือเวลามีกิจกรรมอะไรก็จะนำอาหารไปให้คนทาน เพื่อแนะนำอาหารไทยให้คนรู้จัก ซึ่งก็ต้องใช้เวลากว่า3 ปี จึงอยู่ตัว ส่วนปัญหาเรื่องวัตถุดิบอาหารไทยที่หายาก ก็ใช้วิธีประยุกต์เอา
โดย เขาบอกว่า… “คนเราบางครั้งต้องกล้า ถ้ากลัวเกินไปก็จะไม่ได้อะไร” ตอนตัดสินใจทำภัตตาคารไทย ก็มองแล้วว่าทำได้ อีกส่วนคือในเมืองมีคนจีน มีภัตตาคารจีน จึงอยากให้มีภัตตาคารไทยบ้าง เพื่อเป็นความภาคภูมิใจว่าคนไทยก็ทำได้ไม่แพ้ชาติไหน จนตอนนี้ในเมืองเซนต์หลุยส์มีภัตตาคารไทย 22 แห่ง ซึ่งอาหารไทยกลายเป็นที่นิยมของคนอเมริกันมาก เดี๋ยวนี้ในอเมริกามีร้านอาหารแบบนี้มากถึงกว่า 4,300 แห่งแล้ว เขาบอกด้วยว่า… ด้วยความที่ลูกค้าหลากหลาย ทั้งร้านอาหาร-ร้านขายของชำ เขาจึงต้องมี “หลักการขาย-หลักการให้บริการ” โดยสำหรับเขาจะเน้นการเคารพและให้เกียรติลูกค้าทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา เช่น มุมอาหารมุสลิมก็จะไม่เอาอาหารสุนัขมาวางไว้ใกล้ ๆ เพราะมุสลิมจะถือเรื่องนี้ หรือแยกมุมอาหารของแต่ละศาสนาให้ชัดเจน ลูกค้าก็ประทับใจ
ใน ส่วนของร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟที่เป็นคนไทยก็จะให้บริการด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนหวาน และอ่อนโยน ซึ่งเป็นเสน่ห์ ที่แขกบ้านแขกเมืองเวลามาเมืองเซนต์หลุยส์ก็มักจะมาทานอาหารที่ร้านของเขา จนกลายเป็นอีกหนึ่งภัตตาคารคู่บ้านคู่เมืองไปแล้ว
ธุรกิจ ล่าสุด อย่างธนาคารนั้น เขาเล่าว่า… ที่ทำธุรกิจนี้ เพราะต้องการช่วยเหลือคนเอเชียที่ต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งเขาเองก็ผ่านประสบการณ์แบบนี้มาก่อน จึงรู้ว่าลำบากมากที่คนเอเชียจะกู้เงินธนาคาร เพราะคนเอเชียมีรีพอร์ตการเงินค่อนข้างต่ำ ซึ่ง สุชิน มองว่า… แม้รีพอร์ตการเงินคนเอเชียจะต่ำ แต่สถิติการเบี้ยวหนี้นั้นน้อยมาก เพราะถือว่าการเบี้ยวหนี้เป็นสิ่งน่าละอาย น่าอับอาย “ผมคิดว่า ในฐานะที่เราเคยยืนอยู่บนจุดนั้น วันนี้เราพอช่วยได้ ก็อยากช่วย” เป็นอีกความรู้สึกของเขา
หลาย ปีมานี้ แม้จะมีธุรกิจหลากหลายในอเมริกาที่ต้องดูแล แต่ สุชิน ประไพศิลป์ ก็บินกลับมาไทยบ่อยขึ้น เนื่องจากได้รับเชิญจากหน่วยงานการค้า-หน่วยงานพาณิชย์ของไทย ให้ช่วยมาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “ธุรกิจอาหาร” ทั้งนี้ นักธุรกิจเลือดไทยที่สามารถสร้างโอกาสให้ชีวิตบนแผ่นดินต่างแดนรายนี้ได้แนะ นำทิ้งท้ายผ่านทางทีม “วิถีชีวิต” ไว้ว่า… ปัญหาของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะบุกตลาดโลกคือ ทุกคนมีสินค้า แต่ไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร หรือตลาดกำลังมองหาสิ่งใดอยู่ ซึ่งหลักสำคัญของนักธุรกิจ ต้องมองหาให้เจอ และตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีสอนในตำรา แต่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ใช้ประสบการณ์ล้วน ๆ และด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้เขาอยากกลับมาเมืองไทย เพื่อถ่ายทอดเส้นทางธุรกิจของเขา จาก… “ประสบการณ์จริงนอกตำรา”
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : เรื่อง
จุมพล นพทิพย์ : ภาพ
……………………………………………………………………………….
ไทย..ห้ามลืมรากเหง้า!!
ชีวิต ครอบครัวของ สุชิน ประไพศิลป์ นั้น ภรรยาคู่ชีวิตของเขาคือ สุดาวดี ประไพศิลป์ (อดีต Miss Oriental U.S.A คนแรก ปี ค.ศ.1980) มีลูกด้วยกัน 3 คน คือ ราเชน ปัจจุบันอายุ 27 ปี ทิพวดี หรือทิฟฟานี่ อายุ 23 ปี และ วสุ อายุ 20 ปี จุดเริ่มต้นความรักนั้น เขาเล่าว่า รู้จักกันทางโทรศัพท์ เพราะฝ่ายหญิงทำงานให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินอยู่ที่เมือง ชิคาโก แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้จีบ คุยแต่เรื่องงานกันอย่างเดียวเป็นปี ๆ จนมีโอกาสได้พบหน้ากัน ก็ตัดสินใจคบหากัน และแต่งงานกันในที่สุด
ด้าน สุดาวดี เธอเล่าว่า… เธอ และสุชิน มีอะไรที่คล้ายกัน และต่างก็เป็นอาสาสมัครช่วยงานวัดไทย ก่อนจะคบกัน ตอนนั้นเธอเรียนหนังสืออยู่ที่ชิคาโกและทำธุรกิจไปด้วย ซึ่งพอสุชิน ทราบว่าเป็นคนไทยก็อยากช่วยเหลือ ตอนแรกนั้นเธอเสนอค่าตอบแทนจากการขายตั๋วให้ 10% แต่เขายืนยันว่าไม่ได้ต้องการเงิน แค่อยากช่วยเหลือธุรกิจของคนไทยด้วยกัน ตอนคุยกับเขาก็ยังไม่เห็นหน้ากัน แต่ใจก็คิดว่าผู้ชายคนนี้ใช้ได้ จนมีงานเลี้ยงงานหนึ่งถึงมีโอกาสได้เจอกันครั้งแรก และสานสัมพันธ์กันเรื่อยมา
ทั้ง นี้ การเป็นพ่อแม่ลูก 3 กับหลักการเลี้ยงลูก สุชิน บอกว่าจะไม่ค่อยเข้มงวด แต่จะบอกลูก ๆ เสมอว่า “มีโอกาสดีกว่าพ่อแม่ ดังนั้น ควรใช้โอกาสให้ดีที่สุด” ขณะที่ สุดาวดี กล่าวว่า…จะเลี้ยงลูกแบบประยุกต์ เน้นเคารพสิทธิกันและกัน “เราเลี้ยงลูกแบบเปิดกว้างมาก พ่อแม่ผิดก็กล้าขอโทษ แต่ถ้าไม่ผิดลูก ๆ ต้องฟังคำอธิบาย ก็เปิดกว้างจนบางคนมองว่าเราเลี้ยงลูกแบบอเมริกันสไตล์ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เป็นการหยิบสิ่งดีของแต่ละวัฒนธรรมมาใช้ มาประยุกต์มากกว่า และที่เราทั้งคู่ย้ำกับลูก ๆ เสมอ คือ เราจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ก็ได้ แต่ห้ามลืมรากเหง้าความเป็นคนไทย”
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 มีนาคม 2558, http://www.dailynews.co.th/article/309140