ไทยขึ้นฮับมะพร้าวน้ำหอม

2018-06-07T21:11:26-04:00December 24, 2015|Categories: เศรษฐกิจ|

ไทยขึ้นฮับมะพร้าวน้ำหอม

สำนัก งานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้คัดเลือกศึกษาสินค้าเกษตร 3 ชนิดที่มีอนาคตในตลาดโลก คือ ข้าวแปรรูป ทุเรียน และมะพร้าวน้ำหอม

วันนี้ขอเริ่มพูดถึงศักยภาพการผลิตมะพร้าว ของไทยเทียบกับประเทศอาเซียน หลายปีที่ผ่านมาน้ำมะพร้าวน้ำหอมไทยได้รับความสนใจทั้งในตลาดในประเทศและ ต่างประเทศอย่างมาก ส่งผลทำให้ราคามะพร้าวน้ำหอมไทยเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งพันธุ์มะพร้าวก็มีราคาแพงตามไปด้วย ลูกละ 50 บาท

เมื่อพูดถึงการผลิตมะพร้าวของโลก ประเทศที่ผลิตมะพร้าวมากที่สุดทั้งพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตอยู่ในประเทศอา เซียน คือ “อินโดนีเซีย” และ “ฟิลิปปินส์” และหากรวมการผลิตของอินเดียด้วยแล้ว สามารถเรียกว่า สามประเทศหลัก (Big Three) ของมะพร้าวโลกคิดเป็นร้อยละ 80 ของการผลิตทั้งหมดในปี 2557

อินโดนีเซียมีพื้นที่เพาะปลูก 24 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 25 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของการผลิตมะพร้าวโลก (ปี 2557 ผลผลิตมะพร้าวของโลก 63 ล้านตันมีพื้นที่ปลูก 400 ล้านไร่) ให้ผลผลิต 1 ตัน/ไร่ อินโดนีเซียสามารถปลูกได้ในทุกเกาะ โดยปลูกบนเกาะสุมาตรามากสุด หรือร้อยละ 33 รองลงมาคือ เกาะชวาร้อยละ 23 เกาะกาลิมันตันร้อยละ 7 และเกาะสุราเวสีร้อยละ 20

ส่วนพื้นที่ปลูกมะพร้าวของฟิลิปปินส์มี 21 ล้านไร่ สามารถผลิตได้ 20 ล้านตัน มีผลผลิตต่อไร่เท่ากับ 692 กก. ปลูกใน 68 จังหวัด จาก 81 จังหวัด โดยปลูกบนเกาะมินดาเนา 11 ล้านไร่ ตามด้วยเกาะลูซอน 7 ล้านไร่

สำหรับไทยในปี 2539 มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 2.5 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 2 ล้านตัน แต่ปี 2556 มีพื้นที่ปลูกเหลือเพียง 1.3 ล้านไร่ แบ่งเป็นมะพร้าวแกง 1.1 ล้านไร่ ผลิตได้ 6 แสนตัน และมะพร้าวน้ำหอม 1.2 แสนไร่ ผลิตได้ 327,106 ตัน รวมผลผลิต 1 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของโลก มีผลผลิตต่อไร่เท่ากับ 775 กก. ซึ่งผลผลิตต่อไร่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากในปี 2548 ที่ผลิตได้เท่ากับ 1,128 กก./ไร่

ประเทศที่มีผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดในโลกคือ “บราซิล” 1.7 ตัน/ไร่ สำหรับ “เวียดนาม” มีผลผลิตอยู่ที่ 1.5 ตัน/ไร่ การที่พื้นที่ปลูกและผลผลิตต่อไร่ในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรไทยหันไปปลูกยางพารา ปลูกข้าว และปลูกปาล์ม เพราะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า

โดยข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิ จัย (สกว.) พบว่า ช่วงปี 2549-2553 ยางพาราให้ผลตอบแทน 9,580 บาท/ไร่ ทุเรียน 6,615 บาท/ไร่ สับปะรด 4,954 บาท/ไร่ ปาล์มน้ำมัน 3,982 บาท/ไร่ มะพร้าวเท่ากับ 3,129 บาท/ไร่ จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ 4 แสนไร่ และชุมพรกับสุราษฎร์ธานีอย่าง ละ 2 แสนไร่

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สำหรับปลูกมะพร้าวน้ำหอมส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดแถบภาคกลาง เช่น จ.ราชบุรี และสมุทรสาคร ช่วงที่ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมมากอยู่ คือ เดือน ก.ค.-ต.ค. ราคาขายส่ง ลูกละ 6 บาท หลังจากนั้นเป็นช่วงที่มีผลผลิตน้อยราคาขายส่งลูกละ 11 บาท สำหรับตลาดส่งออกน้ำมะพร้าวของไทยปี 2557 ที่ประกอบด้วยมะพร้าวทำให้แห้ง มะพร้าวน้ำหอม และ มะพร้าวอื่นๆ รวมทุกประเภทของไทย มีมูลค่าส่งออก 2 หมื่นล้านบาท (ปี 2557)

โดยน้ำกะทิสำเร็จรูปส่งออกมากที่สุดร้อยละ 50 หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐ ได้แก่ น้ำกะทิกระป๋อง มะพร้าวอบกรอบ และน้ำมันมะพร้าว เป็นต้น นอกจากตลาดสหรัฐฯ แล้ว ไทยส่งออกไปยังจีน ซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะมะพร้าวที่ปอกเปลือก และมะพร้าวที่ปอกเปลือกเหลือแต่กะลา และส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียอีกด้วย

ขณะที่ตลาดส่งออกหลักของอินโดนีเซีย คือ จีน มาเลเซีย และบราซิล ผลผลิตมะพร้าวของอินโดนีเซีย ส่งออกร้อยละ 40 ที่เหลือบริโภคและใช้ในประเทศ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันมะพร้าวสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 มูลค่าส่งออกในตลาดโลกเท่ากับ 17,322 ล้านบาท ส่วนน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มูลค่า 13,297 ล้านบาท ที่เหลืออื่น ๆ เป็นมะพร้าวขูดฝอยและมะพร้าวแห้ง เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่า 8,500 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกมะพร้าวของฟิลิปปินส์มีสัด ส่วนร้อยละ 70 และที่เหลือใช้บริโภคในประเทศ โดยส่งออกน้ำมันมะพร้าวมูลค่า 24,747 ล้านบาท และส่งออกน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เท่ากับ 18,892 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการส่งออกมะพร้าวอื่น ๆ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ตลาดหลักของฟิลิปปินส์ คือ สหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตน้ำมันมะพร้าวของฟิลิปปินส์คิดเป็นร้อยละ 46 ของการผลิตโลก อินโดนีเซียร้อยละ 26 อินเดียร้อยละ 12 ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำมันมะพร้าวและบริสุทธิ์ของไทยเทียบไม่ได้เลยกับการ ส่งออกของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ไทยส่งออก น้ำมันมะพร้าว 210 ล้านบาท ตลาดหลักเป็นญี่ปุ่น และส่งน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ 161 ล้านบาท ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่นอีกเช่นกัน มะพร้าวของไทยเป็นพืชที่มีอนาคตให้ตลาดโลก แต่เราต้องหันมาส่งเสริมกันอย่างจริงจัง หนึ่งต้องมีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลมะพร้าวทั้งระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เหมือนฟิลิปปินส์มีหน่วยงานเฉพาะดูแล เช่น Philippines Coconut Authority, Coconut Council, Philippines Coconut Research Institute และ National Coconut Corporation เป็นต้น

สอง ต้องควบคุมพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ใช้ต้องเป็น “พันธุ์ก้นจีบ” และต้องเป็นพันธุ์แท้ เมื่อเกษตรกรนำไปปลูกแล้วต้องไม่กลายพันธุ์ เพราะพันธุ์ก้นจีบเป็นพันธุ์หนึ่งเดียวของโลกที่ไม่มีประเทศใดมี และมีจุดเด่นด้านรสชาติและคุณภาพที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียว กันจากประเทศคู่แข่งที่มีรสชาติไม่หอมหวานและมีรสปร่าหรือรสชาติไม่คงที่

สาม ต้องส่งเสริมและจูงใจให้สิทธิพิเศษลงทุนในการตั้งโรงงานแปรรูปมะพร้าวจากมะพร้าวแกงเพื่อไปทำน้ำมันมะพร้าวและน้ำมะพร้าวบริสุทธิ์

สี่ เร่งขยายพื้นที่มะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวแกง

ห้า สร้างตลาดเฉพาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ (Niche Market) ทั้งในอาเซียนและตลาดโลก โดยเน้นการปลูกและผลิตมะพร้าวที่ไร้สารพิษ เนื้อที่เพียง 17 ไร่ สามารถสร้างรายได้ เดือนละ 5 หมื่นบาท มะพร้าว 1 ต้น ให้ผลมะพร้าว 150 ลูก/ปี ราคาเฉลี่ยลูกละ 6 บาท และ 1 ไร่ ปลูกได้ 40 ต้น

ข้อสุดท้าย ซึ่งสำคัญที่สุดคือ การประกาศว่า “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตมะพร้าวน้ำหอมของอาเซียน” ทั่วโลกถ้าหากอยากชิมสุดยอดน้ำมะพร้าวของโลกต้องมาที่ประเทศไทยเท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ปีที่ 13 ฉบับที่ 4704 วันที่ 24 ธันวาคม 2558 หน้า C2

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Share This Post!

706 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top