สหรัฐฯ อนุญาตจำหน่ายปลาแซลมอนตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อการบริโภค

สหรัฐฯ อนุญาตจำหน่ายปลาแซลมอนตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อการบริโภค

ใน อนาคตอันใกล้ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะสามารถบริโภคปลาแซลมอนตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified Organism หรือ GMO) ที่มีขนาดใหญ่กว่าปลาแซลมอนตามธรรมชาติถึง 2 เท่าวางจำหน่ายทั่วไปตามร้านค้าปลีกและร้านอาหารในสหรัฐฯ

โดยบริษัท AquaBounty Technology เจ้าของสิทธิบัตรปลาแซลมอน แอตแลนติก (Atlantic Salmon) ได้ลงทุนกว่า 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) เพื่อวิจัยการตัดแต่งสายพันธุกรรมปลาแซลมอนจากปลา 2 สายพันธุ์ คือ Chinook Salmon และ Ocean Pout ทำให้ปลาแซลมอนที่ได้มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดเป็นประเด็นการถกเถียงกันเป็นวง กว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (The U.S. Food and Drug Administration หรือ U.S. FDA.) ได้เปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสอบพบว่า ปลาแซลมอนตัดแต่งพันธุกรรมของบริษัทฯ มีความปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์และอนุญาตให้วางจำหน่ายได้ในสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นเนื้อสัตว์ตัดแต่งพันธุกรรมชนิดแรกที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ อนุญาตให้สามารถจำหน่ายเพื่อการบริโภคของมนุษย์

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับจากบริษัทฯ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพบว่า การบริโภคปลาแซลมอนตัดแต่งพันธุกรรมมีความปลอดภัยทั้งในมนุษย์และสัตว์และ ไม่พบข้อแตกต่างของการบริโภคปลาแซลมอนจากการเพาะเลี้ยงในฟาร์มและการตัดแต่ง พันธุกรรมในแง่ของความปลอดภัยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบสัญญาณเพียงเล็กน้อยชี้ว่าการใช้ปลาแซลมอนตัดแต่งพันธุกรรมในการ เลี้ยงสัตว์อาจจะนำไปสู่ปัญหาบางอย่างได้ในอนาคตแต่โดยรวมแล้วไม่พบสัญญาณ สำคัญที่จะส่งผลกระทบร้ายแรง

ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่เพียงพอให้สามารถสรุปความปลอดภัยสำหรับในการ บริโภคของมนุษย์ในระยะยาว ปัจจุบันยังไม่มีการบังคับให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารในสหรัฐฯ แสดงฉลากว่าเป็นสินค้าตัดแต่งพันธุกรรม ดังนั้น การแสดงฉลากสินค้าจึงเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ผลิตเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างมากกระตุ้นให้ผู้ผลิตแสดงฉลากว่าเป็นสินค้าตัดแต่ง พันธุกรรม โดยสินค้าเกษตรตัดแต่งพันธุกรรมที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในสหรัฐฯ ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย บีทสำหรับผลิตน้ำตาล (Sugar Beet) หญ้าอัลฟัลฟา มันฝรั่ง มะละกอ เป็นต้น

ทั้งนี้ พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของสินค้าอาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มีสินค้าเกษตรตัดแต่งพันธุกรรมเป็นส่วนประกอบ ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ต่างมีความกังวลต่อผลกระทบของสินค้าทางการเกษตรที่ผ่านการตัดแต่ง พันธุกรรมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค และสายพันธุ์พืชหรือสัตว์นั้นในระยะยาว อีกทั้ง หากพืชหรือสัตว์ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมหลุดรอดออกไปในระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงตามมาได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความกังวลถึงความปลอดภัยของปลาที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมอีก ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอให้สามารถสรุปได้ ทั้งนี้ บริษัท AquaBounty Technology ได้เปิดเผยว่าการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนตัดแต่งพันธุกรรมใช้อาหารน้อยกว่าการ เพาะเลี้ยงปลาแซลมอนแอตแลนติกถึงร้อยละ 25 อีกทั้ง ยังมีรสชาติไม่ต่างไปจากปลาแซลมอนจากการเพาะเลี้ยงจากฟาร์มอีกด้วย

โดยขณะนี้ บริษัทฯ กำลังเร่งเพิ่มปริมาณการเพาะเลี้ยงมากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 1 ปีจึงจะมีปริมาณเพียงพอสำหรับการจำหน่าย แม้ว่าจะมีร้านจำหน่ายสินค้าปลีกชั้นนำหลายรายในสหรัฐฯ เช่น “Costco” “Whole Foods” “Trader’s Joe” “Safeway” “Kroger” และ “Aldi” แสดงท่าทีที่จะปฏิเสธการจำหน่ายปลาแซลมอนตัดแต่งพันธุกรรมของบริษัทฯ ก็ตาม

ที่มา: นิตยสาร Time เรื่อง: “The First Genetically Altered Animal is Approved for Eating” โดย: Alice Park

จัดทำโดย: นายพงษ์ระพี ซื่อสัตย์บุญ สคร. ไมอามี / วันที่ 28 ธันวาคม 2558

ขอบคุณข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

Share This Post!

319 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top