รายงานสถานะล่าสุดการเจรจาความตกลง TPP (5)
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน รายงานสถานการณ์ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ ทีพีพี ส่งท้ายปีเก่าและเกาะสถานการณ์ปีใหม่ มีเนื้อหาดังนี้
๑. สว. Mitch McConnell (R-KY) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการโต้แย้งในเรื่อง คตล. TPP ว่า อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จะถูกจัดขึ้นในปีหน้าในหลายมลรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยมลรัฐ Pennsylvania, Ohio, Wisconsin และ Illinois
โดยนักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นว่า สว. ตัวแทนมลรัฐดังกล่าวที่กำลังจะหมดวาระลงและต้องลงรับสมัครเลือกตั้งในสมัย ต่อไป ซึ่งได้แก่ สว. Pat Toomey (R-PA), สว. Ron Johnson (R-WI), สว. Rob Portman (R-OH) และ สว. Mark Kirk (R-IL) ยังคงมีท่าทีไม่ชัดเจนในประเด็นเรื่อง คตล. TPP เนื่องจากยังคงมีความห่วงกังวลต่อฐานเสียงในมลรัฐของตนซึ่งเป็นมลรัฐที่มี อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากเข้าร่วม คตล. ดังกล่าว
๒. นักวิเคราะห์คาดว่า หนึ่งในกลุ่มสำคัญทางธุรกิจอย่างสภาหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce) จะแสดงท่าทีเกี่ยวกับการเข้าร่วม คตล. TPP ในช่วงต้นเดือน ม.ค. ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นช่วงก่อนการกล่าวปราศรัยประจำปี (State of American Business) ของนาย Tom Donohue ประธานสภาหอการค้าฯ ในวันที่ ๑๔ ม.ค. ๒๕๕๙
๓. The National Foreign Trade Council (NFTC) หนึ่งในกลุ่มทางธุรกิจและการค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้ออกมาสนับสนุนการเข้าร่วม คตล. TPP โดยเชื่อมั่นว่าการเจรจาหารือระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเพื่อหา ข้อสรุปเรื่องข้อกำหนดใน คตล. TPP จะเป็นสัญญานที่ดี และอาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่ร่าง กม. TPP จะได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาสหรัฐฯ ในปีหน้า
๔. ล่าสุด กลุ่มสำคัญทางธุรกิจแบบหลากหลาย (cross – sectoral) ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการเข้าร่วม คตล. TPP ของสหรัฐฯ แล้ว ได้แก่ U.S. Council for International Business และ Emergency Committee for American Trade
๕. เอกสารข้อมูลผลประโยชน์จากการเข้าร่วม คตล. TPP ของสหรัฐฯ ต่อการส่งออกสินค้าประเภทเกษตรกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวบาร์เลย์ ผลิตภัณฑ์ทำจากนม มันฝรั่ง ถั่วเหลือง เนื้อวัว ผลไม้ สัตว์ปีก น้ำตาล ผลไม้จำพวกส้มและมะนาว ถั่ว ข้าว ผัก ข้าวโพด เนื้อหมู ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี และฝ้าย (จัดทำโดย: U.S. Department of Agriculture (http://www.fas.usda.gov/tpp-benefits-us-agriculturalproducts))
นอกจากนี้ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน เผยแพร่ข้อมูลทีพีพี ประมวนความเคลื่อนไหวของความตกลงที่ผ่านมาในเดือนธันวาคม 2558 เช่น ไต้หวันแสดงความสนใจเข้าร่วมสมาชิก ทีพีพีช่วยหยุดยั้งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทีพีพีกระตุ้นการค้ารถยนต์ เป็นต้น รายละเอียด ดังนี้
นายกรัฐมนตรีไต้หวันขอให้สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนไต้หวันในการเข้าร่วมความตกลง TPP
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 นายเหมา จื้อกั๋ว (Mao Chi-kuo) นายกรัฐมนตรีของไต้หวัน ได้เขียนบทความเรื่อง Time to Let Taiwan into the TPP ลงในคอลัมน์ op-ed ของหนังสือพิมพ์ Politico ของสหรัฐฯ โดยบทความดังกล่าวได้ระบุถึงบทบาทของไต้หวันในการเป็นคู่ค้าที่สำคัญใน ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิค โดยมีมูลค่าการค้ากับประเทศภาคี TPP ทั้ง 12 ประเทศรวม 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานและการผลิตโลก โดยกว่าร้อยละ 75 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไต้หวันเป็นสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (semi-finished goods) ซึ่งไต้หวันเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
ดังนั้น การเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง TPP ของไต้หวันจะยิ่งช่วยสนับสนุนเป้าหมายของความตกลง TPP ที่จะส่งเสริมและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคและ ขยายผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งไต้หวันได้เร่งดำเนินการเพื่อ เตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง TPP ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) โดยได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากทุกภาค ส่วน และอยู่ระหว่างการพิจารณาเทียบเคียงข้อกำหนดภายใต้ความตกลง TPP เพื่อปรับมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ของไต้หวันให้สอดคล้องกับมาตรฐานของความตกลง TPP
ในการนี้ จึงขอให้สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนไต้หวันในการเข้าร่วมความตกลง TPP
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ระบุว่าความตกลง TPP จะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการช่วยปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
การจัดทำรายงาน Out-of-Cycle Review of Notorious Markets ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ประจำปีนี้พบว่า ปัจจุบันเขตคลังสินค้าปลอดภาษี (Free Trade Zones: FTZs) จำนวนมากเป็นแหล่งพื้นที่ที่ใช้ในการปลอมแปลงสินค้า รวมถึงการละเมิดเครื่องหมายทางการค้า
ในการนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่า ความตกลง TPP จะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการช่วยปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาใน แหล่งต่าง ๆ เนื่องจากความตกลงฯ มี ข้อกำหนดเกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษทางอาญา (criminal penalties) ต่อการซื้อขาย/จัดจำหน่าย ผลิต และขนส่งสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบดิจิตอล
ซึ่ง USTR เห็นว่ารัฐบาลต่างประเทศสามารถใช้มาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภาย ใต้ความตกลง TPP เป็นแนวทางปฏิบัติต้นแบบ (benchmark) ในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้ รายงาน Out-of-Cycle Review of Notorious Markets เป็นรายงานที่ USTR จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อประเมินและระบุรายชื่อตลาดของประเทศคู่ค้าของ สหรัฐฯ ที่มีการซื้อขาย/จัดจำหน่ายสินค้าปลอมแปลงในเชิงพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และแหล่งพื้นที่
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยแพร่รายงานโอกาสทางการค้าสำหรับสินค้ารถยนต์ของสหรัฐฯ ภายใต้ความตกลง TPP
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DOC) ได้เผยแพร่รายงาน TPP Opportunities for the US Automotive Sector ซึ่งระบุถึงสิทธิประโยชน์จากการปรับลดภาษีของประเทศภาคีสำหรับสินค้ารถยนต์ ซึ่งภายใต้ความตกลง TPP ญี่ปุ่นจะปรับลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการด้านภาษี(non-tariff barriers) ร้อยละ 76 ของสินค้ารถยนต์ของมาเลเซียทั้งหมดจะถูกปรับลดภาษีเป็น 0 ภายใน 4 ปีและร้อยละ 70 ของสินค้ารถยนต์ของเวียดนามทั้งหมดจะถูกปรับลดภาษีเป็น 0 ภายใน 4 ปี
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้ระบุถึงโอกาสทางการค้าสำหรับสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ (auto parts) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 40 สินค้ารถจักรยานยนต์ (motorcycles) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 75 และอุตสาหกรรม Remanufacturing ที่จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าในการนำวัสดุใช้แล้ว (recovered materials) จากประเทศภาคี TPP กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในการผลิต
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของความตกลง TPP ต่อการจ้างงานในสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศเปิดรับฟังความเห็นเพื่อใช้ประกอบรายงานการประเมินผลกระทบของความ ตกลง TPP ต่อการจ้างงาน (employment) และตลาดแรงงาน (labor market) ในสหรัฐฯ ทั้งที่เป็นผลกระทบในระดับภาคอุตสาหกรรมและระดับภูมิภาค โดยผู้สนใจสามารถยื่นความเห็นต่อ USTR ได้จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2559
ที่มา: สอท. ณ กรุงวอชิงตัน และสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน