เตือนผู้ส่งออก – นำเข้าอย่าชะล่าใจค่าเงินบาท

เตือนผู้ส่งออก – นำเข้าอย่าชะล่าใจค่าเงินบาท

ในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวผันผวนมาก กรอบการเคลื่อนไหวเงินบาททั้งปีอยู่ระหว่าง 32.30-36.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ห่างกันถึง 4.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ร้อยละ 13.5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาส 1/2558 โดยแตะระดับ 32.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายเดือน ก.พ. เพราะในช่วงนั้นนักลงทุนและตลาดไม่แน่ใจจังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในปลายเดือน เม.ย. หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหนือความคาดหมายของตลาดจากร้อยละ 1.75 เหลือร้อยละ 1.5

ทั้งนี้ ในรอบปี 2558 เงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิในหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1.53 แสนล้านบาท

ด้านยอดคงค้างพันธบัตรที่ของผู้มีถิ่นที่ อยู่ในต่างประเทศ หรือนันเรสซิเดนท์(Non-resident) ถือครองลดลง 1.12 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับระดับสิ้นปี 2557 สำหรับปี 2559 แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง แต่ระดับการอ่อนค่านั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เห็นว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงไปแตะ 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะสัปดาห์แรกของปีใหม่นี้ เกิดปัญหาการเทขายของนักลงทุนในตลาดหุ้นจีนและการประกาศอ่อนค่าเงินหยวนทำ ให้เงินบาทผันผวนมากขึ้น

โดย จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2559 เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 0.7 จากสิ้นปี 2558 พร้อมทั้งเตือนให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินควรป้องกันความเสี่ยง ค่าเงินไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับความผันผวนที่คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไป

ซึ่งหากดูค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2558 ที่ ธปท. ระบุว่า อยู่ที่ร้อยละ 5.09 สูงขึ้นจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 4 ค่าความผันผวนของเงินบาทในปีนี้ก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อดูจากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงทำให้เงินยังคงไหลออกจากตลาดเงินไทย และกว่าที่ตลาดเงินไทยจะมีเสถียรภาพได้ก็น่าจะกลางปีนี้เป็นอย่างช้า

ขณะเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะดำเนินการไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งตลอดทั้งปีนี้ จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนจากการคาดหมายผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยยิ่งกดดัน ค่าเงินบาทให้ปั่นป่วนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางการจีน ที่ตลาดคาดว่าจะมีการทำสงครามค่าเงินด้วยการกดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่า เพื่อพยุงความสามารถในการส่งออกไว้ ซึ่งจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทย ต้องทำสงครามค่าเงินตามเพื่อดูแลการส่งออกเช่นเดียวกัน

ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะต้องผ่อนคลายนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม เพื่อรักษาการอ่อนค่าของเงินบาทไว้ เพื่อช่วยให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ทดแทนปริมาณและราคาที่จะลดลงของสินค้าส่งออกในปีนี้

ผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออกจึงไม่ควร จะชะล่าใจในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน อย่างน้อยก็ช่วยให้ไม่ต้องสูญเสียรายได้ที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ปีที่ 13 ฉบับที่ 4722 วันที่ 11 มกราคม 2559 หน้า A12

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Share This Post!

58 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top