รายงานสถานะล่าสุดการเจรจาความตกลง TPP (6)
๑. เมื่อ ๖ ม.ค. ๕๙ สภาหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce) แสดงการสนับสนุนการเข้าร่วม คตล. TPP อย่างเป็นทางการตามที่ได้คาดการณ์ หลังจากที่ National Foreign Trade Council และ กลุ่ม Business Roundtable ได้ประกาศสนับสนุนก่อนหน้านี้
๒. นาย Tom Donohue ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารและกลุ่มสมาชิกได้มีการพิจารณาเนื้อหาในคตล. ดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนแล้ว โดยหลังจากนี้ ทางสภาหอการค้าสหรัฐฯ จะร่วมมือกับฝ่ายบริหารเพื่อเสนอแนวทางในการปรับแก้ข้อกฎหมายก่อนนำเสนอให้ รัฐสภาสหรัฐฯ พิจารณาต่อไป โดยจะเน้นย้ำในเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าด้านการเข้าถึงตลาด กฎระเบียบ และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
๓. เมื่อ ๖ ม.ค. ๕๙ บริษัท TransCanada ได้ยื่นฟ้องฝ่ายบริหารสหรัฐฯ ในกรณีการระงับโครงการสร้างท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและยังได้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงในการร้องทุกข์ ภายใต้ คตล. NAFTA โดยนักสิ่งแวดล้อมและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องได้แสดงท่าทีกังวลต่อการเข้าร่วม คตล. ทางการค้าของสหรัฐฯ ในอนาคต โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง คตล. TPP อาจส่งผลให้บริษัทต่างชาติสามารถใช้ช่องทางภายใต้ คตล. ดำเนินการขัดกับกฎหมายของสหรัฐฯ ได้
๔. World Bank ได้จัดทำรายงานในหัวข้อ “Potential Macroeconomic Implications of the Trans-Pacific Partnership” คาดการณ์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิก คตล. TPP โดยนักวิชาการคาดว่า การเข้าร่วม คตล. ดังกล่าว จะส่งผลให้ GDP และมูลค่าการค้า ของกลุ่มประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ ๑.๑ และร้อยละ ๑๑ ภายในปี ๒๕๗๓ ตามลำดับ (รายงาน: http://www.worldbank.org/content/dam/Worldbank/GEP/GEP2016a/GlobalEconom…)
๕. จากรายงานดังกล่าว มีการคาดการณ์ว่า การเข้าร่วมกลุ่ม คตล. TPP จะส่งผลให้ GDP ของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ ๐.๖ หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ ๑ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับประมาณการณ์ GDP ของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งอยู่ที่ ๑๘ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งยังมิได้เข้าร่วม คตล. ดังกล่าว จะปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๙
๖. ในส่วนของประเทศที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเข้าร่วม คตล. ดังกล่าวมากที่สุด ได้แก่ เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งคาดการณ์ว่า GDP ของทั้งสองประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐ และ ร้อยละ ๘ ตามลำดับ
จัดทำโดย สอท. ณ กรุงวอชิงตัน