เวิลด์แบงก์หนุนข้อตกลงทีพีพี คาดเพิ่มมูลค่าการค้าได้ถึงร้อยละ 11
ฐานเศรษฐกิจ
ธนาคาร โลกชี้ข้อตกลงการค้าเสรีของ 12 ประเทศภาคพื้นแปซิฟิกหรือ ทีพีพี ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่การค้าโลกเผชิญกับอุปสรรค พร้อมคาดหมายว่าเวียดนามและมาเลเซียเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจาก ข้อตกลงดังกล่าว
นายเคาชิก บาซู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ตัวแทนจาก 12 ประเทศบนภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกบรรลุข้อตกลงร่วมกันเมื่อปลายปีก่อน มีความคุ้มค่าและควรได้รับการรับรองจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และรัฐสภาของอีก 11 ประเทศสมาชิก
ทั้งนี้ ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประจำปี 2559 ของธนาคารโลก ระบุว่า ข้อตกลงทีพีพีจะช่วยพลิกฟื้นแนวโน้มการค้าของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมข้อ ตกลงดังกล่าวทั้ง 12 ประเทศ โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าได้ร้อยละ 11 ภายในปี 2563 ในทางกลับกันถ้าปราศจากข้อตกลงทีพีพี มูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกจะลดลงถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจภายในปี 2563
“ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของการค้าโลก การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และการเจรจาข้อตกลงการค้าระดับโลกที่ไม่มีความคืบหน้าเพียงพอ ข้อตกลงทีพีพีจึงเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ มีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับข้อตกลงการค้าเสรีอื่นๆ ในแง่ของขนาด ความหลากหลาย และการกำหนดกฎระเบียบ” ธนาคารโลกระบุ
การศึกษาของธนาคารโลกพบว่า เวียดนามและมาเลเซียจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงทีพีพีมากที่สุด ขณะที่สหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์เพียงไม่มาก ส่วนประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเกาหลีใต้ จะได้รับผลกระทบสูงสุดจากการไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
ธนาคารโลกประเมินว่า ข้อตกลงทีพีพีจะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเวียดนามถึงร้อยละ 10 ภายในปี 2563 จากการที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการส่งออกไป ยังตลาดสหรัฐฯ และตลาดขนาดใหญ่อื่นๆ ได้ ขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียจะเติบโตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เนื่องจากภาคการส่งออกได้เปรียบคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกทีพีพี
ญี่ปุ่นถูกประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโต เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ภายในปี 2563 ขณะที่สหรัฐฯ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 เช่นเดียวกับแคนาดาและเม็กซิโกที่เศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์จากทีพีพีเพียง เล็กน้อย เนื่องจากทั้งสามประเทศเปิดเสรีการค้าผ่านข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว
ในทางกลับกัน ธนาคารโลกประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยจะหดหายไปร้อยละ 0.9 ภายในปี 2563 ถ้าไม่เข้าร่วมทีพีพี
ทั้งนี้ ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประจำปี 2559 ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ที่ร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราการเติบโตร้อยละ 2.4 ในปี 2558
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559
เครดิตภาพ: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ