ไม่หวั่นไก่มะกันแย่งตลาดญี่ปุ่น
สมาคมผู้ผลิตเพื่อส่งออกไก่ไทย
สภาหอฯ สั่งจับตาทีพีพีมีผลบังคับใช้ไก่ไทยแข่งเดือดไก่มะกันในตลาดญี่ปุ่น ระบุต้นทุนการผลิตถูกกว่าได้เปรียบหลายขุม ขณะผู้ประกอบการไม่หวั่นชี้จับตลาดคนละกลุ่ม โชว์ตัวเลขส่งออกไก่ปี 58 ทำนิวไฮ พุ่งถึง 6.7 แสนตันเกินคาดหมายอานิสงส์ญี่ปุ่นเพิ่มนำเข้าไก่สด ลุ้นปี 59 ได้ตลาดไก่สดเกาหลีใต้ช่วยเพิ่มยอด บราซิลคู่แข่งสำคัญเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกลดส่งออก
นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ 12 ประเทศภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ ได้บรรลุความตกลงและอยู่ระหว่างเร่งความตกลงให้มีผลบังคับใช้ มองว่ามีความน่าเป็นห่วงในหลายสินค้าของไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการถูก สหรัฐฯ แย่งตลาด ตัวอย่างสินค้าที่ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูป และไก่สดรายใหญ่ไปตลาดญี่ปุ่น ซึ่งจากภาษีนำเข้าภายใต้ TPP ที่จะลดลงเป็นร้อยละ 0 อาจส่งผลให้สินค้าไก่ของสหรัฐฯ ที่มีกำลังการผลิตที่มากกว่า และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยเข้ามาแย่งตลาดญี่ปุ่นได้
“ไก่สหรัฐฯ เลี้ยงได้ตัวโตและมีต้นทุนที่ถูกกว่าไก่ไทย เพราะเขามีข้าวโพดอาหารสัตว์ และกากถั่วเหลืองเอง ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ต่ำ เนื้อไก่ของไทยจะมีปัญหาจากทีพีพี รวมถึงอีกหลายสินค้าที่เราส่งออกไปยังญี่ปุ่น หรือเวียดนามที่เป็นสมาชิกทีพีพีเราจะมีคู่แข่งทั้งจากสหรัฐฯ และจากประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่มอีกมาก” นายบัณฑูร กล่าว
ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ให้ความเห็นกรณีดังกล่าวว่า สินค้าไก่ของไทยในญี่ปุ่นคงไม่กระทบมาก เพราะเป็นคนละตลาดกับสินค้าจากสหรัฐฯ ที่เป็นไก่ชิ้นใหญ่ ไม่ถอดกระดูก ใช้เครื่องจักรในการตัด เพราะการใช้แรงงานคนมีค่าจ้างที่แพง ขณะที่สินค้าไก่ของไทยในญี่ปุ่นเป็นไก่ถอดกระดูก ซึ่งมีการตัดแต่งและผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้า มีมาตรฐานสูง ดังนั้นมองว่าคงไม่กระทบมาก ซึ่งปัจจุบันการส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปญี่ปุ่นที่มีความตกลงหุ้นส่วน เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) เสียภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 8.5 ในปี 2560 ความตกลงจะครบ 10 ปี และจะมีการเจรจาทบทวน ไทยจะขอให้ทางญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าลงอีก
สำหรับการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปี 2558 ที่ผ่านมาคาดจะส่งออกได้ประมาณ 6.7 แสนตัน ในจำนวนนี้เป็นไก่แปรรูป (ไก่ปรุงสุก) ประมาณ 4.6 แสนตัน และไก่สดแช่แข็ง 2.1 แสนตัน มูลค่ารวมประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในแง่ปริมาณถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 6.2 แสนตัน มูลค่า 8.3-8.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกจากไทยสามารถเพิ่มการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถส่งออกได้ประมาณ 1 แสนตัน เพิ่มจากปี 2557 ที่ส่งออกได้ประมาณ 5 หมื่นตัน (ไทยเพิ่งส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นได้เมื่อเดือนธันวาคม 2556 หลังมีปัญหาไข้หวัดนก จากก่อนหน้านี้ไทยส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นได้ มากกว่า 2 แสนตันต่อปี)
“ญี่ปุ่นท่องเที่ยวบูมมากจากการยกเว้น วีซ่าแก่นักท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวไหลเข้าญี่ปุ่น และมีการสั่งนำเข้าไก่สดเพื่อรองรับการบริโภคของประชาชนและนักท่องเที่ยว สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปี 2559 ทางสมาคมยังไม่ได้ตั้งเป้าถือเป็นอีก 1 ปีที่ยังต้องลุ้น แต่ดูแล้วน่าจะส่งออกได้เพิ่ม
โดยล่าสุดในส่วนของตลาดเกาหลีใต้คาดไทยจะ สามารถส่งออกไก่สดได้อีกครั้งในต้นปีนี้ โดยทางการเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการพิจารณา ข้อบังคับเงื่อนไขด้านความปลอดภัย และการควบคุมโรคสัตว์ และในเร็ว ๆ นี้คาดจะมาตรวจรับรอง 25 โรงงานไก่สดไทย ก่อนอนุญาตให้นำเข้า”
นอกจากนี้ จากที่บราซิลคู่แข่งส่งออกสินค้าไก่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 คาดบราซิลจะส่งออกไก่ลดลง เพราะจะมีการบริโภคภายในเพิ่มรวมถึงการรองรับนักท่องเที่ยวและคณะนักกีฬาจาก ทั่วโลก ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ ค่าเงินของประเทศผู้นำเข้า เช่น ในยุโรปเงินอาจอ่อนค่าลง และมากดราคารับซื้อ อีกทั้งยังมีคู่แข่งจากยุโรปตะวันออกเข้ามาแย่งตลาด
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3122 วันที่ 14 – 16 มกราคม 2559 หน้า 6
ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ