ทีมประเทศไทยให้ข้อมูลผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ย้ำไทยเดินหน้าส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงาน
เมื่อ วันที่ 14 มกราคม 2559 นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และนายประโยชน์ เพ็ญสุต อัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้แก่ นายปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางวิไลวรรณ โกยแก้วพริ้ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้ให้ข้อมูลต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Office of the U.S. Trade Representative – USTR) เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทย รวมทั้งการต่อต้านการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย และการใช้แรงงานเด็ก หลังจากที่สหพันธ์ American Federation of Labor-Congress of Industrial Organizations (AFL-CIO) ยื่นคำร้องต่อ USTR ให้ระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences – GSP) แก่ไทย เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยยังคุ้มครองสิทธิแรงงานไม่เพียงพอ
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวถ้อยแถลงในนามของรัฐบาลไทย ย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการคุ้มครองแรงงานผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การใช้กลไกคณะอนุกรรมการไตรภาคีระหว่างรัฐบาล องค์กรลูกจ้าง และองค์กรนายจ้าง เพื่อปรับแก้ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ. แรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organizations – ILO) ความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย และแรงงานเด็ก โดยประเทศไทยจะขยายความร่วมมือกับ ILO และประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐฯ ในเรื่องนี้
นางสาวอัปสรฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการทำงานในลักษณะไตรภาคีของไทยจาก มุมมองของฝ่ายลูกจ้าง และแจ้งว่าในการปรับแก้ไข พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ นับเป็นครั้งแรกที่แรงงานนอกระบบสามารถเข้าร่วมในกระบวนการยกร่างกฎหมายได้
ฝ่ายไทยยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ฝ่าย สหรัฐฯ เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเด็น ต่าง ๆ เช่น สิทธิในการรวมกลุ่ม และความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายข้างต้นของไทย โดยฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมที่ไทยให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของผู้แทนลูกจ้างในการให้ข้อมูล ครั้งนี้ด้วย
การให้ข้อมูลในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการ ที่ AFL-CIO ยื่นคำร้องต่อ USTR มาตั้งแต่ปี 2556 USTR จึงต้องดำเนินการไต่สวนขอรับทราบข้อเท็จจริงตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เข้าร่วมให้ข้อมูล (ผู้แทนรัฐบาลฟิจิ อุซเบกิสถาน เอกวาดอร์ อิรัก และจอร์เจีย เข้าร่วมด้วย) และฝ่ายสหรัฐฯ ก็ได้ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครอง แรงงานให้สอดคล้องกับสากล เนื่องจากไทยเห็นว่าเป็นหนทางที่ถูกต้องที่จะทำให้สินค้าไทยยืนอยู่แนวหน้า ได้อย่างยั่งยืน ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่มีความตั้งใจที่จะระงับสิทธิ GSP ไทย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของทั้งไทยและสหรัฐฯ และสนับสนุนให้ไทยประสบผลสำเร็จในการให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งไทยและ ต่างชาติ
——————————
ฐานิดา เมนะเศวต