โอกาสธุรกิจไทยกับการที่สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน
US Department of State
เมื่อ 16 ม.ค.2559 ภายหลัง IAEA ประกาศรับรองว่า อิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ใน Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ซึ่งถือเป็น Implementation Day ปธน.สหรัฐฯ ได้ออก Executive Order ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านในส่วนที่ ปธน.สหรัฐฯ ได้เคยใช้อำนาจออกก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ลงนามเอกสารยกเว้น (waiver) มาตรการคว่ำบาตรที่รัฐสภาสหรัฐฯ เคยออกไว้ในส่วนเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ของอิหร่าน
ในการนี้ ส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจของบุคคลหรือธุรกิจที่ไม่ใช่สัญชาติสหรัฐฯ รวมทั้งธุรกิจไทยที่จะสามารถทำการค้ากับอิหร่านได้โดยไม่ต้องถูกสหรัฐฯ อายัดทรัพย์สิน
1. บริษัทไทยสามารถทำธุรกิจกับอิหร่านได้ในสาขาดังต่อไปนี้
1.1 การเงินและการธนาคาร ซึ่งครอบคลุมถึง
- การทำธุรกรรมเป็นเงินสกุล Rial
- การชำระเงินเป็นธนบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ รบ.อิหร่าน โดยต้องไม่ผ่านระบบการเงินของสหรัฐฯ
- การทำธุรกรรมกับธนาคารแห่งชาติของอิหร่าน
- การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการออกพันธบัตรอิหร่านรวมถึงพันธบัตรของ รบ.อิหร่าน
(หมายเหตุ: ธนาคารไทยสามารถทำธุรกรรมกับธนาคารอิหร่านได้ แม้ธนาคารของไทยนั้นๆ จะมีสาขาในสหรัฐฯ บนเงื่อนไขว่าสาขาในสหรัฐฯ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมนั้นๆ โดยตรงและโดยอ้อม และธุรกรรมนั้นไม่ผ่านระบบธนาคารสหรัฐฯ)
1.2 ประกันภัย
1.3 พลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งครอบคลุมถึง
- ซื้อ ขาย ขนส่ง และทำการตลาดน้ำมันดิบจากอิหร่านกับบริษัทอิหร่านที่ไม่ได้คงอยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
- ลงทุนในธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี รวมทั้งในรูปการลงทุนร่วม
- สินค้า บริการ เทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาภาคพลังงานของอิหร่าน
- ซื้อ ขาย ขนส่ง และทำการตลาดปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมถึงก๊าซ LNG จากอิหร่าน
1.4 ขนส่งสินค้าและการบริหารจัดการท่าเรือ
1.5 ทองคำและแร่ที่มีค่า
1.6 กราไฟท์ อลูมิเนียม เหล็ก ถ่านหิน และซอฟท์แวร์ดำเนินการด้านอุตสาหกรรม
1.7 การขาย / นำส่งสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมรถยนต์ ยกเว้นรถที่ประกอบเสร็จหรืออะไหล่จากสหรัฐฯ ตามกฎระเบียบของทางการสหรัฐฯ
(หมายเหตุ: ไม่อนุญาตให้ชำระเงินซื้อขายข้างต้นผ่านระบบธนาคารสหรัฐฯ)
2. การเปลี่ยนแปลงต่อบัญชีบุคคล/บริษัทที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ
2.1 ยกเลิกรายชื่อบุคคลและธุรกิจกว่า 400 รายซึ่งรวมถึงธนาคารแห่งชาติอิหร่านและสถาบันการเงินอื่นๆ ที่อยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ตามที่ระบุใน Attachment 3 to Annex II of the JCPOA (www.treasury.gov/resource-center/sanctions/Programs/Documents/annex2_attachment_3.pdf) ดังนั้น ตั้งแต่ 16 ม.ค.2559 เป็นต้นไป บริษัทของไทยสามารถทำธุรกิจกับบุคคล/ธุรกิจเหล่านี้ได้โดยไม่ขัด กม.สหรัฐฯ
2.2 ยังคงห้ามบุคคลหรือธุรกิจที่ไม่ใช่สัญชาติสหรัฐฯ (รวมถึงบริษัทไทย) ทำธุรกิจกับบุคคล/ธุรกิจของอิหร่านอีกประมาณ 200 รายที่ยังคงอยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ดังนี้
(1) บุคคล/ธุรกิจอิหร่านที่ยังมีชื่ออยู่ใน Specially Designated Nationals List(SDN List) ของ ก.คลังสหรัฐฯ (ตรวจสอบได้จาก https://www.treasury.gov/resource-center/sanctions/SDN-List/Pages/default.aspx)
(2) Islamic Revolutionary Guard Corps (IRGC) และเครือข่าย/นายหน้า
(3) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและขีปนาวุธยิง และการสนับสนุนการก่อการร้ายสากล
3. มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านที่ยังคงอยู่ ได้แก่
3.1 ห้ามคนชาติและธุรกิจสหรัฐฯ ทำธุรกรรมใดกับบุคคลหรือ รบ. อิหร่าน เว้นแต่ได้รับการยกเว้นจาก ก.คลังสหรัฐฯ และทางการสหรัฐฯ ยังคงอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ของ รบ.อิหร่าน สถาบันการเงิน บุคคล/ธุรกิจของอิหร่านที่ยังอยู่ในบัญชีคว่ำบาตร
3.2 มาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับการที่อิหร่านสนับสนุนการก่อการร้าย
3.3 มาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับการที่อิหร่านละเมิดสิทธิมนุษยชน
3.4 มาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับบทบาทของอิหร่านในซีเรีย
3.5 มาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับบทบาทของอิหร่านในเยเมน
3.6 มาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับการแพร่กระจายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและเครื่องยิง รวมถึงจรวดขีปนาวุธ
4. ข้อยกเว้นสำหรับคนชาติ/ธุรกิจสหรัฐฯ ที่จะทำธุรกิจกับอิหร่าน
รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้คนชาติและธุรกิจสหรัฐฯ ที่ประสงค์จะทำธุรกิจกับอิหร่านในสาขาดังต่อไปนี้สามารถขอรับอนุญาตจาก รบ.สหรัฐฯ เป็นกรณีพิเศษได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่การทำธุรกิจกับบุคคล/บริษัทของอิหร่านที่ยังคงอยู่ในบัญชีคว่ำ บาตรตามข้อ 2. ของหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงต่อบัญชีบุคคล/บริษัทที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ
(1) การส่งออก/ขาย/ให้เช่า/นำส่งเครื่องบินพาณิชย์เป็นรายกรณี
(2) ธุรกิจต่างชาติที่บริหารโดยคนชาติสหรัฐฯ
(3) ซื้อขายพรมและอาหารรวมถึงถั่วพิสตาชิโอและไข่ปลาคาเวียร์ที่มีต้นกำเนิดสินค้าจากอิหร่าน
ในกรณีที่อิหร่านไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีใน อนาคต สหรัฐฯ และพันธมิตรสามารถนำมาตรการคว่ำบาตรในสาขาต่าง ๆ ข้างต้นกลับมาใช้อีกได้ (snapback sanctions) อย่างไรก็ดี จะไม่มีผลย้อนหลังไปยังการทำธุรกิจของที่ชอบธรรมของบุคคลหรือธุรกิจที่ไม่ ใช่สัญชาติสหรัฐฯ (รวมถึงบริษัทไทย) ภายหลังวันที่ 16 ม.ค.2559
5. ข้อควรคำนึงในการทำธุรกิจของไทยกับอิหร่านเพื่อมิให้มีปัญหากับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ คือ
5.1 หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมกับอิหร่านผ่านระบบการธนาคารของสหรัฐฯ ตาม 7 สาขาธุรกิจข้างต้น
5.2 หลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับบุคคล/บริษัทอิหร่านที่ยังคงถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอยู่ 200 ราย ตามข้อ 2.2
ทั้งนี้ เอกสารถามตอบที่ ก.คลังสหรัฐฯ จัดทำขึ้นเพื่ออธิบายการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านสามารถดูได้ที่www.treasury.gov/resource-center/sanctions/Programs/Documents/jcpoa_faqs.pdf ส่วนรายละเอียดเอกสารต่างๆ ของทางการสหรัฐฯ ปรากฎตามเว็บไซต์ https://www.treasury.gov/resource-center/sanctions/Programs/pages/iran.aspx