ส่งออกผัก-ผลไม้ปี 58 ยอดพุ่ง “พาณิชย์” ชี้จุดแข็งไทยมีเพียบ

ส่งออกผัก-ผลไม้ปี 58 ยอดพุ่ง “พาณิชย์” ชี้จุดแข็งไทยมีเพียบ

นาง มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกผลไม้ ผักสดแช่เย็นและแปรรูปปี 2558 ว่ามีมูลค่ารวม 3,756 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 แบ่งเป็นการส่งออกผลไม้ ผักกระป๋อง และแปรรูปมูลค่ากว่า 2,209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5.5 ปริมาณทั้งสิ้น 1,600,329 ตัน มีตลาดหลักที่จีน เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐ ตามลำดับ ตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ สปป.ลาวร้อยละ 166 เมียนมาร้อยละ 66 และอิหร่านร้อยละ 63 โดยสับปะรดกระป๋องส่งออกกว่า 556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 รองลงมาเป็นน้ำผลไม้ ข้าวโพดหวาน น้ำสับปะรด

ส่วนการส่งออกผลไม้ ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ปี 2558 มีมูลค่ารวม 1,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 มีปริมาณทั้งสิ้น 1,579,539 ตัน ตลาดหลัก คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ ตลาดอื่นที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ กัมพูชาร้อยละ 34 และซาอุดิอาระเบียร้อยละ 19 โดยสินค้ากลุ่มนี้มีการส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 มีมูลค่ากว่า 397 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 รองลงมาเป็นลำไย มังคุด ลำไยอบแห้ง พืชผักตระกูลถั่วแช่แข็ง เป็นต้น

“ผลไม้และผักของไทยมีจุดแข็งในเรื่องรส ชาติเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ผลผลิตหลากหลายและต่อเนื่องตลอดปี อีกทั้งไทยมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตผักผลไม้ที่มีประสิทธิภาพ โรงงานผลิตได้ตามมาตรฐานสากล และปีนี้ไทยได้วางกลยุทธ์ ได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและระบบควบคุมคุณภาพ การสร้างแบรนด์ของผลไม้ โดยเน้นเอกลักษณ์ด้านคุณค่าและสายพันธุ์ที่โดดเด่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยืดอายุของผลผลิตให้เหมาะสมกับตลาด การติดฉลากเพื่อระบุคุณค่าทางโภชนาการ ระยะเวลาในการรับประทาน และการเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

นอกจากนี้ ต้องวางแผนการผลิตล่วงหน้าก่อนฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยเน้นการสร้าง Brand และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เร่งผลักดันการส่งออกผักผลไม้กระป๋องผ่านช่องทางตลาดศักยภาพการผลิตสินค้า ตามหลักเกณฑ์/มาตรฐานประเทศผู้นำเข้า

นางมาลีกล่าวอีกว่า ปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการให้ คลี่คลายโดยเร็ว เช่น การใช้มารตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) ของประเทศคู่ค้า อาทิ จีนและฮ่องกงเพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจทุเรียนจากไทย อินโดนีเซีย กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องยื่นขอใบอนุญาตนำเข้า (Import Recommendation- RIPH) เพื่อขออนุญาตนำเข้าสินค้าพืชสวน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจ GMOs ในผลิตภัณฑ์มะละกอ เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 4806 (4006) วันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2559 หน้า 3

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Share This Post!

48 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top