รายงานสถานะล่าสุดการเจรจาความตกลง TPP (9)
๑. รายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเข้าร่วม TPP สถาบัน Peterson Institute for International Economics ได้จัดทำรายงานในหัวข้อเรื่อง The Economic Effects of the Trans-Pacific Partnership: New Estimates โดยได้คาดการณ์ว่า ภายในปี ๒๕๖๗ การเข้าร่วม TPP ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้สหรัฐฯ มีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ๑๓๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๕ ของ GDP และมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๙.๑ หรือคิดเป็นมูลค่า ๓๕๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (เอกสารแนบ / รายงานฉบับเต็ม –http://www.iie.com/publications/wp/wp16-2.pdf) ในทางกลับกัน หากสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถผ่านร่างกม. เพื่อบังคับใช้ TPP ได้ภายในปีนี้ จะส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียรายได้เป็นมูลค่า ๗๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของประเทศสมาชิกที่ได้รับผลประโยชน์ ทำให้มีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วม TPP สูงสุดรองจากสหรัฐฯ ได้แก่ ญี่ปุ่น ๑๒๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย ๕๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม ๔๑ ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กลุ่มประเทศนอก TPP ที่ได้รับผลกระทบและจะมีรายได้ที่แท้จริงต่อปีลดลงมากที่สุด ได้แก่ จีน ๑๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เกาหลีใต้ ๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทย ๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
๒. การรวมตัวของกลุ่มผู้คัดค้านการเข้าร่วม TPP ณ รัฐสภาสหรัฐฯ กรุงวอชิงตัน เมื่อ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ซึ่งมีการจัดพิธีลงนามร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก คตล. TPP ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีการรวมกลุ่มระหว่างสหภาพแรงงาน นักกฎหมาย และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเพื่อร่วมคัดค้านการเข้าร่วม คตล. ดังกล่าว ณ รัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน นำโดย ส.ส. Rosa Delauro (D-CT) ส.ส. Tulsi Gabbard (D-HI) ประธาน The American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizationsและประธานกลุ่ม MoveOn’s Washington
๓. บริษัท Ford Motor ยุติการทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซียเนื่องจากไม่สามารถหาหนทางที่จะทำกำไรได้ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตซึ่งคัดค้านการเข้าร่วม TPP ส.ว. Sherrod Brown (Ohio) และ ส.ส. Debbie Dingel (Michigan) ได้อ้างว่า การตัดสินใจดังกล่าวของ Ford เป็นผลมาจาก คตล. TPP ที่ไม่มีข้อกำหนดการควบคุมกลไกการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งเป็นเครื่องกีดกันทางการค้าที่สำคัญของผู้ผลิตสหรัฐฯ ในตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี ้ Ford Motor ยังได้คาดการณ์ว่า การเข้าร่วม TPP จะไม่ส่งผลให้ผู้ผลิตยานยนต์สามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ เนื่องจากการแทรกแซงค่าเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตภายในประเทศ
จัดทำโดย สอท. ณ กรุงวอชิงตัน