สหรัฐหยอดหวานอาเซียนคือ “หัวใจ” ของแปซิฟิก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองแรนโช มิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวในวันแรกของการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐกับผู้นำ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่รีสอร์ทซันนีแลนด์ส ในเมืองแรนโช มิราจ เมื่อวันจันทร์ ว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีความสำคัญมากขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากมีก้าวอาเซียนขึ้นมาในฐานะ “ศูนย์กลาง” ของระบบเศรษฐกิจและการแสดงบทบาทบนเวทีการเมืองโลก โดยบริษัทของสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าหลังจากปี 2551 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของการประชุมในวันแรกเน้นไปที่เศรษฐกิจ โดยมีการหยิบยกเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ขึ้นมาหารือด้วย โดยในจำนวน 12 ประเทศที่ร่วมลงนามแล้วนั้น มี 4 ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ขณะที่สมาชิกอาเซียนอีกหลายประเทศแสดงความสนใจเข้าร่วมเช่นกัน และแน่นอนว่าสหรัฐฯ ต้องการใช้โอกาสนี้ขอ “ความมั่นใจ” จากอาเซียนในเรื่องดังกล่าว ส่วนการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้รับการยกย่องจากสหรัฐฯ ว่าจะทำให้อาเซียนผงาดขึ้นมาในฐานะกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของสหรัฐฯ
ขณะที่สาระสำคัญของการประชุมที่จะมีขึ้นในวันอังคารอีกหนึ่งวัน คือสถานการณ์ด้านความมั่นคงบนโลก ทั้งเรื่องการก่อการร้ายและสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี แต่ประเด็นที่ได้รับการจับตามากที่สุดคือเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทเรื้อรังระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ ในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตทับซ้อน โดยโอบามาต้องการให้ทั้ง 10 ประเทศร่วมแสดงจุดยืนที่ “แข็งกร้าว” ในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญของสหรัฐฯ ว่าทุกประเทศจะร่วมลงนามในแถลงการณ์หรือไม่ โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ด้านทำเนียบขาวออกแถลงการณ์เพิ่มเติม ชื่นชมการประชุมครั้งนี้ ว่าเป็นครั้งแรกที่สมาชิกอาเซียนครบทุกประเทศเดินทางมาเข้าร่วมการหารือกับรัฐบาลวอชิงตันที่สหรัฐฯ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการต่อยอดนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ก่อนโอบามาจะหมดวาระอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีหน้า“
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 16 กุมภาพันธ์ 2559