เปิดฉากประชุมซัมมิท ยกอาเซียนศูนย์กลางเอเชีย-แปซิฟิก

เปิดฉากประชุมซัมมิท ยกอาเซียนศูนย์กลางเอเชีย-แปซิฟิก

การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐ-อาเซียน ในระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ ที่ซันนีแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เป็นที่จับตามองอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดประชุมครั้งแรกระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ภายในบ้านพญาอินทรี ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวย้ำว่า อาเซียนคือศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านสันติสุขและความเจริญรุ่งเรือง รวมถึงด้านการค้าและการเมืองด้วย อีกทั้งการร่วมมือกันระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ จะช่วยให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นภายใต้กฎหมายเดียวกัน

“ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการแบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระเบียบของภูมิภาคตามหลักการทางกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือด้วย อีกทั้งประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค จะได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการทางกฎหมายอย่างสันติ” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว

นอกจากนี้ โอบามายังเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนเคารพหลักการของประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงหลักการพื้นฐานที่สังคมต้องการ อาทิ หลักธรรมาภิบาล การบังคับใช้กฎหมาย สถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ และภาคประชาสังคมที่มีความเป็นพลวัต

ในวันแรกของการประชุมจะเน้นไปที่ประเด็นเศรษฐกิจ การค้า และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งมี 4 ประเทศสมาชิกลงนามในความตกลงดังกล่าวแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ส่วนประเทศสมาชิกอื่นแสดงความสนใจเข้าร่วม โด ลิปโป นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านการค้าของธนาคารเอชเอสบีซี ระบุว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจและกระชับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ทั้งคู่ โดยสหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วมากกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ 2 เท่า ในขณะที่อาเซียนจะได้รับประโยชน์จากฐานบริโภคขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ รองรับการขยายตัวของตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน

สำหรับวันที่ 2 ของการประชุมเน้นหารือสถานการณ์ความมั่นคงโลก การก่อการร้าย สถานการณ์ความไม่สงบที่คาบสมุทรเกาหลี และประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ต้องการให้อาเซียนแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้น ทำเนียบขาวสหรัฐฯ เปิดเผยว่า โอบามากล่าวอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อการขยายอำนาจทางการทหารของจีนในเขตพิพาทพร้อมยืนยันว่าสหรัฐฯ จะปฏิบัติการเดินเรือในทะเลจีนใต้ต่อไปตามหลักเสรีภาพในการเดินเรือ

ด้านสำนักข่าวซินหัว สื่อของทางการจีนรายงานอ้าง โจเซฟ แมทธิว ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาในกรุงพนมเปญ กัมพูชาว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้จะกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติอาเซียน “ความมั่นคงในภูมิภาคเชื่อมโยงกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้และการที่บุคคลที่ 3 เข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคอย่างไม่จำเป็นจะทำให้ความขัดแย้งซับซ้อนยิ่งขึ้น” ซินหัวเปิดเผยอ้างคำพูดของแมทธิว

อย่างไรก็ดี ก่อนการประชุมจะเริ่มต้น นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลูง ของสิงคโปร์ได้เดินทางไปย่านซิลิคอน วัลเลย์ ศูนย์กลางเทคโนโลยีโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้พูดคุยกับชาวสิงคโปร์ที่ทำงานในกูเกิลผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจิ้นรายใหญ่ของโลก โดยลีเซียนลูงเน้นย้ำความสำคัญของการทำให้ภาควิศวกรรมในสิงคโปร์มีความน่าสนใจมากขึ้น ตามเป้าหมายของประเทศในการเป็นสมาร์ทเนชั่นหรือประเทศอัจฉริยะ

ขณะที่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียจะเป็นผู้นำในการหารือประเด็นเรื่องการก่อการร้ายและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและจะเดินทางไปย่าน ซิลิคอนวัลเลย์ด้วย

ด้านนายกรัฐมนตรี เหวียนเติ๊นสุง ของเวียดนาม ระบุว่า ทีพีพีถือเป็นความตกลงรูปแบบใหม่ของการค้าเสรีและคาดว่าจะเป็นต้นแบบพัฒนาการค้าในภูมิภาค โดยมาตรฐานการค้าระดับสูงจะส่งผลดีต่อการพัฒนาการผลิตและการบูรณาการกับนานาชาติ พร้อมชักชวนให้โอบามาเดินทางเยือนเวียดนามในเดือน พ.ค.นี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ปีที่ 14 ฉบับที่ 4759 วันที่ 17 กุมภาพันธ์2559 หน้า B11

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Share This Post!

103 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top