รายงานสถานะล่าสุดการเจรจาความตกลง TPP (13)
๑. ญี่ปุ่นสนับสนุน คตล. TPP เมื่อวันที่ ๙ มี.ค. ๕๙ สถาบัน Asia Society ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อเรื่อง Japan and TPP โดยมีนาย Kenichiro Sasae ออท. ญี่ปุ่นประจำสหรัฐฯ เป็นผู้กล่าวเปิดสัมมนา ออท. Sasae แจ้งว่า ญี่ปุ่ นได้เสนอ คตล. TPP ต่อรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๗ มี.ค. ๕๙ และหวังว่าจะได้รับการอนุมัติภายในต้นเดือน พ.ค. ๕๙ นอกจากนี้ ออท. Sasae ยังได้เชิญชวนให้ประเทศที่ยังมิได้เข้าร่วม TPP พิจารณาเข้าร่วมโดยเร็วและหวังว่าจีนจะพิจารณาเข้าร่วม TPP ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่า GDP รวมของกลุ่มประเทศสมาชิก TPP เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ ๔๐ เป็นร้อยละ ๖๐ ของมูลค่า GDP โลก
๒. สหภาพแรงงานเกษตรกรสหรัฐฯ สนับสนุนการเข้าร่วม TPP American Farm Bureau Federation ได้จัดทำรายงานในหัวข้อ Comments Regarding Effects of TPP on the US Agricultural Sector คาดการณ์ถึงผลประโยชน์ที่ภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ จะได้รับจากการเข้าร่วม TPP ว่า จะทำให้รายได้จากการส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้น ๕.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รายได้จากสินค้าเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น ๔.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีการจ้างงานเพิ่ม ๔๐,๐๐๐ งาน เมื่อ TPP มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี ๒๕๖๙ สินค้าเกษตรกรรมที่มีแนวโน้มมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าว ฝ้าย เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ปีก เนย เนยแข็ง ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ นมผงแบบไร้ไขมัน (รายงานฉบับเต็ม – http:// www.fb.org/issues/tpp/pdf/TPP%20Full%20Report.pdf)
๓. รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านลบจากการเข้าร่วม TPP ของสหรัฐฯ จาก Economy Policy Institute (EPI) และ Haas Institute for a Fair and Inclusive Society จาก University of California Berkeley สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๓.๑ สถาบัน EPI ได้จัดทำรายงานในหัวข้อเรื่อง TPP, currency manipulation, trade, and jobs กล่าวถึงการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศในกลุ่มสมาชิก TPP ซึ่งมีผลมาจากการแทรกแซงค่าเงินของบางประเทศในกลุ่มสมาชิก ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น จะส่งผลให้ในปี ๒๕๕๘ สหรัฐฯ มีมูลค่าการขาดดุลการค้าอยู่ที่ ๑๗๗.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่า GDP ปรับตัว ลดลง ๒๘๔.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ ๑.๖ และมีการสูญเสียงานประมาณ ๒ ล้านงาน ซึ่งในจำนวนนั้น ๑.๑ ล้านงานเป็นงานด้านการผลิต โดยสายงานที่มีการสูญเสียมากที่สุด ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและชิ้นส่วนคิดเป็นร้อยละ ๓๖.๔ การผลิตเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นร้อยละ ๙ และการผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิคส์คิดเป็นร้อยละ ๘.๑ ในส่วนของมลรัฐที่มีจำนวนการสูญเสียการจ้างงานมากที่สุดในปี ๒๕๕๘ ได้แก่ California จำนวน ๒๒๗,๕๐๐ งาน ในขณะที่มลรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียการจ้างงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนงานทั้งหมดของมลรัฐ ได้แก่ Michigan ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๕.๑๒ เนื่องจากเป็นมลรัฐที่มีการจ้างงานหลักในสายงานการผลิตยานพาหนะและชิ้นส่วน (รายงานฉบับ เต็ม –http://www.epi.org/files/2016/tpp-jobs-final.pdf)
๓.๒ Haas Institute for a Fair and Inclusive Society จาก University of California Berkeley ได้จัดทำรายงานในหัวข้อเรื่อง The TPP Corporations Before People and Democracy กล่าวถึง คตล. TPP ว่ายังคงขาดความชัดเจนในสามเรื่องหลักได้แก่ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ความโปร่งใส และภาระความรับผิดชอบต่อสาธารณะ โดยนักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นว่า คตล. TPP เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทและนักธุรกิจเท่านั้น แต่จะส่งให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมแรงงานและสาธารณสุข อาทิ การขึ้นราคาของยารักษาโรค อันเนื่องมาจากกฎหมายภายใต้เรื่องการควบคุม ลิขสิทธิ์ยา ส่งผลให้ประชากรที่มีกำลังซื้อไม่เพียงพอในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ (รายงานฉบับเต็ม –http://haasinstitute.berkeley.edu/sites/default/files/haasinstitute_transpacificpartnership_publish_mar2016_0.pdf)
จัดทำโดย สอท. ณ กรุงวอชิงตัน