แนะนำ Facebook Page ตลาดLGBT ในสหรัฐฯ
สหรัฐอเมริกา จัดว่าเป็นประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ประชากรมีรายได้สําหรับการจับจ่ายใช้สอยสูงขณะที่ราคาสินค้าทั่วไปไม่ได้แพงอย่างที่คิด โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ปี ด้วยเงินเพียงหนึ่งดอลลาร์ก็ยังมีค่าพอจะเลือกซื้อหาอาหารใส่ท้องได้ เช่น ร้าน McDonalds ที่ยังมีเมนูอาหารที่เรียกว่า Dollar Menu ไว้บริการอยู่เสมอ
โดยธรรมชาติของผู้บริโภคที่มีเงินมาก ก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีความต้องการสินค้าหรือบริการที่แตกต่างไปจากระดับทั่วๆ ไป หรือมองหาสินค้าหรือบริการที่มัน “เป๊ะ” กับความต้องการของตนเองมากขึ้นไปด้วยถึงแม้จะต้องจ่ายเพิ่มกว่าปกติก็ตาม ดังนั้นหลักการทางการตลาดจึงได้มีการจัดแบ่งจําแนกผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มที่เล็กลงเรื่อยๆ และกลุ่มย่อยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ก็กลับกลายเป็นกลุ่มตลาดเฉพาะ(niche market) ขึ้นมา เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆหรือกลุ่ม Generation ต่างๆ เป็นต้น จึงสร้างโอกาสและความท้าทายทางการตลาดที่จะสนองความต้องการให้โดนใจลูกค้าแต่ละกลุ่มให้มากที่สุด
จากกลุ่มย่อยๆ เหล่านี้ พบว่ายังมีกลุ่มผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยอยู่ในมุมมืดแต่กลับมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าปกติ นั่นคือกลุ่มผู้มีความ
หลากหลายทางเพศ (Lesbian-Gay-BisexualTransgender:LGBT) หรือหมายถึงกลุ่มที่รวมเอาคนที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ทุกประเภทมาไว้ด้วยกันนั่นเอง รวมทั้งกลุ่มคนที่ยังลังเลหรือสับสนในเพศสภาพของตนเองด้วย ซึ่งนักการตลาดบางคนถึงกับขนานนามว่าเป็น Dream Market ทั้งนี้มิใช่เป็นการตกสํารวจแต่อย่างใด แต่มีสาเหตุมาจากสังคมไม่ให้การยอมรับหรือถูกเกลียดชังจากคนรุ่นเก่าหรือผู้ที่เคร่งศาสนา จึงทําให้ภาคธุรกิจเกิดความไม่แน่ใจว่าจะลงไปเล่นในตลาดนี้อย่างไรท่ามกลางความขัดแย้ง หรือมิฉะนั้นก็ทําตลาดไปแบบเงียบๆงงๆ กล้าๆ กลัวๆจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในความเท่าเทียมกันทางสังคมของ LGBT ด้วยความเจ็บปวดมาอย่างยาวนาน ได้มีผลพัฒนาการที่ดีขึ้นและได้รับการยอมรับมาขึ้นเป็นลําดับ
จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2558 ก็ได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงสําคัญที่ถือได้ว่าเป็นการปลดล็อคครั้งใหญ่และเปิดศักราชใหม่ของประชากร LGBT ให้โลกได้จารึก เมื่อศาลสูงของสหรัฐฯ ได้ตัดสินให้การสมรสเพศเดียวกันมีผลทางกฎหมายอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วทุกแห่งในสหรัฐฯ ต้องนับว่าเป็นชัยชนะก้าวสําคัญของ LGBT อีกก้าวหนึ่งที่จะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในอนาคต ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็มีความมั่นใจที่จะแสดงตัวให้การสนับสนุนกลุ่ม LGBT อย่างเปิดเผยมากขึ้น
การทําตลาดกับกลุ่ม LGBT นั้น ไม่สามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาดปกติได้เหมือนกลุ่มอื่นๆ เพราะมีความละเอียดอ่อนและต้องศึกษาความเป็นมา
รวมทั้งต้องเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกที่อ่อนไหวกับการไม่ได้รับการยอมรับในสังคมหรือถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากอีกฝ่ายหนึ่งที่มีความรังเกียจชิงชัง ซึ่งLGBT เองก็จําเป็นต้องอาศัยกําลังซื้อมหาศาลที่มีอยู่ในมือมาเป็นอาวุธไว้ต่อสู้เพื่อเปิดทางในสังคมให้กว้างขึ้น เช่น การร่วมมือร่วมใจกัน boycott สินค้าหรือบริการจากบริษัทใดหรือแบรนด์อะไร จะพิจารณาจากคะแนนประเมินว่าองค์กรธุรกิจนั้นมีนโยบายที่ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างที่เป็น LGBTเทียบเท่าลูกจ้างปกติทั่วไปหรือไม่ ด้วยมาตรการนี้ถ้าถามว่าได้ผลหรือไม่ เอาเป็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ๆระดับชาติล้วนเร่งสร้างผลงานให้ได้คะแนนประเมินเต็ม 100 กันเป็นระวิงเลยก็แล้วกัน นอกจากนั้น
บางบริษัทยังเอาใจเป็นพิเศษ เช่น เสนอให้บริษัทประกันภัยที่บริษัททําให้แก่ลูกจ้างครอบคลุมค่าใช้จ่ายบางส่วนหากลูกจ้าง
LGBT หากตัดสินใจจะผ่าตัดแปลงเพศอีกด้วยหรือไม่ก็ออกแคมเปญผ่านสื่อโฆษณาต่างๆฉายภาพให้เห็นว่ากลุ่ม LGBT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มลูกค้าที่สําคัญ หรือใช้วิธีบริจาคเงินหรือมอบสัดส่วนรายได้บางส่วนให้เป็นทุนสําหรับองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ที่มีอยู่มากมายที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของ LGBT เป็นต้น
สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศณ เมืองไมอามี (สคต. ไมอามี) ภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพขณะที่ประเทศไทยเองมีจุดแข็งที่เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBT มากติดอันดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้ อีกทั้งไม่มีข้อห้ามหรือความเชื่อทางศาสนามาเป็นเครื่องขีดกั้นเช่นประเทศอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นข้อได้เปรียบและเป็นโอกาสทางการค้าที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น สคต. ไมอามี จึงได้พัฒนา Web page | ตลาด LGBT ในสหรัฐอเมริกา ผ่านสื่อสังคมFacebook ขึ้นมา เพื่อหวังจะใช้เป็นสื่อกลางในการนําเสนอข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่างๆ ในแวดวงการตลาด LGBT รวมทั้งเกล็ดเล็กเกร็ดน้อยของสังคม LGBT ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการติดตามเพื่อนําไปปรับกลยุทธ์ทางการตลาดหรือเพิ่มโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการไทย เพราะการแข่งขันของโลกการค้าในปัจจุบันไม่สามารถใจเย็นนั่งรอดูความสําเร็จของคู่แข่งเสียก่อนแล้วค่อยกระโจนลงไปแย่งชิงพื้นที่ตลาดอีกต่อไป แต่ต้องเป็นผู้ที่หมั่นศึกษาข้อมูลและกล้าคิด กล้าทํา กล้าบุกเบิกในสิ่งใหม่ๆ นําหน้าผู้อื่น
Department of International Trade Promotion, North America , อ, พ.ค. 3, 2559
by สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองไมอามี