สหรัฐฯ เข้มห้ามนำเข้าสินค้าจากแรงงานบังคับ

สหรัฐฯ เข้มห้ามนำเข้าสินค้าจากแรงงานบังคับ

เครดิตภาพ : cbsnews.com

1. ระเบียบ/แนวทางปฏิบัติในการห้ามนำเข้าสินค้า

1.1 กฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act of 2015 (TFTEA) มาตรา 910 กำหนดให้ยกเลิกข้อยกเว้นเรื่องการห้ามนำเข้าสินค้าที่เชื่อว่าใช้แรงงานบังคับในการผลิตมาในสหรัฐฯ เว้นแต่เป็นสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในของสหรัฐฯ เริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 มี.ค.59 ทั้งนี้ หน่วยงาน Customs and Border Protection (CBP) เป็นผู้ดำเนินการห้ามนำเข้า และยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของ Code of Federal Regulations (19 C.F.R. 12.42-12.44) ให้เป็นไปตาม กม. TFTEA

1.2 CBP มีมาตรการพิจารณาข้อมูลและสืบสวนคดีของตนเอง โดยไม่เฉพาะเจาะจงรายอุตสาหกรรมหรือรายสินค้าของประเทศใด อย่างไรก็ดี CBP ใช้ประโยชน์จากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เรื่องแรงงานบังคับและแรงงานเด็กเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งในการสืบสวนคดี

1.3  แม้ว่า ไม่มีข้อร้องเรียนอย่างเป็นทางการ แต่หาก CBP ได้รับข้อมูลจากบุคคล องค์กร หน่วยงาน ก็สามารถดำเนินการสืบสวนได้ และเมื่อ CBP พิจารณาแล้วมีมูลความน่าเชื่อถือก็จะประสานงานให้ Immigration and Customs Enforcement (ICE) ดำเนินการสืบสวนหาข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งหากเชื่อได้ว่า สินค้าของบริษัทที่ถูกร้องเรียนมาจากการใช้แรงงานบังคับ CBP จึงจะดำเนินขั้นตอนกักสินค้า โดย Commissioner ของ CBP จะแจ้งข้อมูลให้ ผอ. ท่าเรือทุกแห่งในสหรัฐฯ เฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าใน shipment ของบริษัทต้องสงสัย และดำเนินการกักสินค้าชั่วคราวหากพบการนำเข้าดังกล่าว อนึ่ง CBP จะไม่เปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนหากไม่ได้รับความยินยอม ทั้งนี้ CBP และ ICE ไม่มีกำหนดระยะเวลาในการสืบสวนแต่ละคดี

1.4 เมื่อ CBP กักชั่วคราวสินค้าใน shipment ที่เชื่อว่า มีสินค้าที่มาจากการใช้แรงงานบังคับผู้นำเข้ามีสิทธิที่จะ (1) ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอื่นแทน หรือ (2) ยื่นเอกสารหลักฐานให้กับ Commissioner ของ CBP ว่า สินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากการใช้แรงงานบังคับ โดยต้องแสดงเอกสารแหล่งกำเนิดสินค้า มีกำหนด เวลาในการยื่นเอกสารภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันนำเข้า โดยในระหว่างนี้ผู้นำเข้าสามารถส่งสินค้าออกจากท่าเรือสหรัฐฯ ได้

  • หากผู้นำเข้าจัดส่งเอกสารหลักฐานภายในเวลาที่กำหนด จากนั้น CBP พิจารณาแล้วเห็นพ้องตามนั้น Commissioner ของ CBP จึงจะสั่งการให้ปล่อยสินค้าให้ดำเนินกระบวนการนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ
  • หากผู้นำเข้าจัดส่งเอกสารหลักฐานภายในเวลาที่กำหนด จากนั้น CBP พิจารณาแล้วเห็นว่า สินค้ามาจากการใช้แรงงานบังคับ ผอ.ท่าเรือแห่งนั้นจะต้องดำเนินการยึดสินค้าดังกล่าวไว้ทำลาย/ขายทอดตลาดตามขั้นตอน กม.สหรัฐฯ
  • หากผู้นำเข้าจัดส่งเอกสารหลักฐานไม่ทันเวลาที่กำหนด ผอ.ท่าเรือแห่งนั้นจะต้องมีหนังสือแจ้งผู้นำเข้าดังกล่าวห้ามการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมายังสหรัฐฯ โดยหากผู้นำเข้าดังกล่าวไม่ดำเนินการส่งสินค้าดังกล่าวออกจากท่าเรือสหรัฐฯ ภายใน 60 วัน นับแต่มีการส่งหนังสือแจ้งก็จะถือว่า สินค้านั้นถูกทิ้งและจะถูกดำเนินการขั้นตอนการทำลายต่อไป เว้นแต่จะมีการยื่นอุทธรณ์ตามมาตรา 514 ของ กม. Tariff Act of 1930

1.5 ตามระเบียบข้อบังคับของ Code of Federal Regulations (19 C.F.R. 12.42 (f)) เมื่อ CBP มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่เชื่อได้ว่า สินค้านั้นมีการใช้แรงงานบังคับ Commissioner ของ CBP จะต้องประกาศลงในวารสารศุลกากร และใน Federation Register อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนสืบสวน CBP จะไม่เผยแพร่ข้อมูล จนกว่าจะสรุปผลการสืบสวนอันเชื่อว่า สินค้าใน shipment นั้นๆ มาจากการใช้แรงงานบังคับ ก็จะออกเป็น Witholding Release Order (WRO) หรือ finding เพื่อประกาศสู่สาธารณชน โดยมีเป้าหมายให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถหลีกเลี่ยงการนำเข้าจากบริษัทดังกล่าว

1.6 การปลดชื่อบริษัทออกจากการถูกกักชั่วคราวก็ต่อเมื่อการอุทธรณ์สามารถมีเอกสารหลักฐานเพียงพอและเชื่อได้ว่า สินค้านั้นไม่มีการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับอีกต่อไป หากผู้นำเข้ายื่นคัดค้านแล้วปรากฎว่า ไม่มีการใช้แรงงานบังคับในสินค้าดังกล่าว ภาครัฐของสหรัฐฯ จะไม่มีการเยียวยาหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ภาคเอกชน

1.7 หาก shipment นั้นๆ ถูกกักไว้ชั่วคราว อาจเกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเก็บสินค้า ค่าใช้จ่ายต่อบริษัท shipping หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

2. การดำเนินการภายหลัง กม. TFTEA มีผลใช้บังคับ (11 มี.ค.59)

2.1 เมื่อ 12 พ.ค.59 คมธ.การคลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เรียกนาย Gil Kerlikowske ตำแหน่ง Commissioner ของ CBP เข้าให้การเกี่ยวกับแผนงานและสถานะดำเนินการของ CBP ในการบังคับใช้ กม.TFTEA โดยประเด็นในความสนใจ ได้แก่ (1) สินค้าทุ่มตลาด (2) สินค้าที่ผลิตจากแรงงานบังคับ (3) สินค้าปลอมแปลง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  • CBP มีอัตรา จนท. 2,000 คน แต่ยังไม่สามารถจัดจ้างได้ครบถ้วน เหลืออีก 750 อัตรา     ที่กำลังเร่งรับเข้าทำงาน อย่างไรก็ดี ในส่วนของการดำเนินการตาม กม. TFTEA ที่จะต้องรายงานข้อมูลการตีกลับสินค้าใน shipment ที่เชื่อว่ามีการใช้แรงงานบังคับภายใน 180 วัน (ก.ย.59) CBP ได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจดำเนินการบังคับใช้ กม. และเพิ่ม จนท. อีก 24 คน เพื่อดำเนินการกรณีสินค้าทุ่มตลาดและสินค้าที่ผลิตจากแรงงานบังคับอย่างจริงจัง (สหรัฐฯ มีท่าเรือ 99 แห่งทั่วประเทศ)
  • CBP มี จนท. ประจำในหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นแหล่งข้อมูล และเปิดรับข้อมูลจากทุกภาคส่วน รวมทั้งข้อมูลจาก NGO ทั้งในสหรัฐฯ และในประเทศต้นทาง ทั้งนี้ CBP ได้รับการสนับสนุน งปม. จาก กต. สหรัฐฯ เพิ่ม จนท. ใน ตปท. ปีนี้อีก 9 คน
  • CBP เปิดรับข้อร้องเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-allegation system) เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็ว โดยขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายข้อมูลของ CBP ทั่วสหรัฐฯ

2.2 ภายหลัง กม. ใช้บังคับ CBP ประกาศการกักสินค้าที่เชื่อว่าผลิตโดยใช้แรงงานบังคับ เพิ่มอีก 2 ครั้ง นับแต่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ.2000 ได้แก่ (1) เมื่อ 29 มี.ค.59 สินค้าโซดาแอช แคลเซียมคลอไรด์ คอสติกโซดา และเรยอนไฟเบอร์ ซึ่งผลิตโดยกลุ่มบริษัท Tangshan Sanyou Group ของจีน (2) เมื่อ 13 เม.ย.59 สินค้าโปแตสเซียม โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ และโปแตสเซียมไนเตรต ซึ่งผลิตจากบริษัท Tangshan Sunfar Silicon ในเครือเดียวกัน อนึ่ง ไม่ปรากฎปฏิกิริยาของบริษัท/ประเทศดังกล่าวต่อทั้งสองกรณีในรายงานข่าวในสหรัฐฯ

Share This Post!

58 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top