การหารือทีมประเทศไทยและผู้ประกอบการไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส

การหารือทีมประเทศไทยและผู้ประกอบการไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 ระหว่างเวลา 11:00-13:00 น. นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันเป็นประธานการประชุมกับสภาหอหารค้าไทยอเมริกันแห่งแคลิฟอร์เนียและภาคเอกชนรายใหญ่ในสาขาต่าง ๆ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ณ สถานกงสุลใหญ่ นครลอสแอนเจลิส โดยนายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการประชุม และมีทีมประเทศไทยและผู้เข้าร่วมจำนวน 39 คน สรุปสาระสำคัญจากการประชุมได้ดังนี้

1. ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย

1.1 ทีมประเทศไทย คือ นางจิรภาพรรณ มลิทอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ลอสแอนเจลิส นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย   สำนักงานลอสแอนเจลิส นางสาววนิดา กำเนิดเพ็ชร์ อัครราชทูต(ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำกรุงวอชิงตัน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน เศรษฐกิจและการลงทุน

1.2 ผู้แทนภาคเอกชนรายใหญ่ในสาขาต่างๆ อาทิ

  • กลุ่มธุรกิจนวดและสปาไทย
  • ร้านอาหารไทย
  • ผู้นำเข้าเครื่องดื่มเบียร์สิงห์
  • ผู้นำเข้าสินค้าไทย เช่น ผลไม้ไทย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าและกาแฟเนเจอร์กิฟ

2. ภาพรวมของการประชุม นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้คือ การรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของธุรกิจแต่ละกลุ่มและขอให้เชื่อมั่นว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนโดยขอให้

2.1 ทุกท่านใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดจากเว็บไซต์ Thai Business Information Center (BIC) ที่ www.thaibicusa.com ของสถานเอกอัคราชทูต ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจไทยในสหรัฐฯ โดยนำเสนอข่าวด้านการค้า/การลงทุน สินค้าที่กำลังมาแรงในตลาดสหรัฐฯ แนวทางและข้อมูลและกฏระเบียบที่ควรรู้

2.2 ให้ความสำคัญกับ SMEs โดยแนะนำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ America Small Business Summit ซึ่งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่กรุงวอชิงตันโดยจะเป็นประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายกับภาครัฐรวมทั้งรับทราบข้อมูลและแนวทางใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ

2.3 สถานเอกอัครราชทูตได้จัดทำฐานข้อมูล Database ของมลรัฐต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจและอยู่ในระหว่างการรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการลงในฐานข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทยและสหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในการส่งตัวอย่างสินค้า

2.4 ขอให้สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ เพื่อเป็นช่องทางในการดำเนินธุรกิจให้ง่ายขึ้น

โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ ได้ขอใช้โอกาสในการประชุมสามัคคีซัมมิทในการรวบรวมข้อมุลจากผู้ประกอบการและนักวิชาชีพที่เข้าร่วมงานนี้

3. การรับฟังปัญหาจากกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ต่างๆ

3.1 กลุ่มธุรกิจนวดและสปาไทย – นางกนิษฐา เพอร์ไรดา นายกสมาคมฯ ได้กล่าวถึง

  • การส่งเสริมภาพลักษณ์ เพื่อให้ธุรกิจนวดไทยก้าวสู่ระดับสากล โดยสร้างคุณภาพและมาตรฐาน
  • การไม่ปฏิบัติตามกฏระเบียบซึ่งที่ผ่านมา มีกลุ่มร้านค้าและบุคคลแอบอ้างว่าสามารถแกใบประกาศนียบัตรให้พนักงานนวดได้ในราคา 3,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • มีความประสงค์จะให้คนไทยเข้าร่วมเป็นคณะทำงานของ California Massage Therapy Council (CAMTC) เพื่อให้คนไทยได้เจ้าไปมีบทบาทในการกำหนดกฏระเบียบและนโยบาย
  • อาจพิจารณากำหนดตราหรือโลโก้ของธุรกิจ เพื่อให้ชาวต่างชาติยอมรับในมาตรฐานของการบริการ

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ตั้ง Line Group ซึ่งสามารถเชื่อมสมาชิกกว่า 200 คนในสาขาอาชีพต่างๆ เช่น นักกฏหมาย เจ้าของธุรกิจ ผู้ดูแลด้านสุขภาพ และสมาคมที่เกี่ยวข้อง

3.2 กลุ่มธุรกิจร้านอาหารไทย – นางศิรินทิพย์ สิงห์สนอง เจ้าของร้านอาหารจิตลดากล่าวว่าปัญหาหลักๆคือ

  • การไม่รวมตัวของผู้ประกอบการ ทำให้ขาดแนวร่วมเมื่อหน่วยงานสหรัฐฯ อาทิ U.S. Labor Department/ Health Department/ Tax Department มาตรวจสอบโดยคนไทยจะรวมตัวกันเมื่อมีปัญหาเท่านั้น
  • การที่ร้านอาหารไทยไม่ถูกยกระดับให้เทียบเท่าร้านอาหารอเมริกันโดยคนส่วนใหญ่จะมีความคิดว่าร้านอาหารไทยราคาถูก ซึ่งแนวทางแก้ไขคือการยกระดับคุณภาพอาหารโดยเน้นความสดใหม่ของวัตถุดิบ
  • การงานเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการยกระดับธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น
  • การขาดความรู้และประสบการณ์ในการประกอบอาหาร
  • ปัญหาในการดูแลสวัสดิการของพนักงานในร้าน

3.3 กลุ่มผู้นำเข้าสินค้า

  • นายบุญส่ง อนันตสุคนธ์ เจ้าของบริษัท N.T.W. Import & Export (U.S.A.) Inc.ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้ไทยรายใหญ่ในสหรัฐฯ กล่าวว่า ขณะนี้สามารถนำเข้าผลไม้เพียง 3 ชนิด คือ ลำไย มังคุด และเงาะ เนื่องจากติดปัญหาที่ต้องฉายรังสีทำให้ผลไม้ได้รับความเสียหายและกำลังพยายามนำเข้ามะม่วงเขียวเสวยโดยได้ติดต่อทีมประเทศไทยเพื่อดำเนินการต่อไป อีกทั้งตลาดผลไม้มีการแข่งขันจากประเทศอื่น เช่นมังคุดจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งถูกกว่ามังคุดไทยจึงควรแก้ไขด้วยการลดต้นทุนเพื่อสามารถจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าตลาด อย่างไรก็ตาม การที่ยังสามารถจำหน่ายผลไม้ได้เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทเป็นชาวเวียดนามที่นิยมผลไม้ไทยซึ่งมีคุณภาพในเรื่องรสชาติ
  • นางอมรา บรรจงศิริ ผู้นำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าเสริมว่า ในการดำเนินธุรกิจขอให้ปฏบัติตามกฏระเบียบของประเทศผู้รับ โดยปัญหาจากธุรกิจขนาดเล็กจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจรายใหญ่ด้วย้นื่องจากเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน เช่น การปฏิบัติตามระเบียบเคร่งครัดในการไม่นำเข้าเนื้อสัตว์เข้ามาใน package ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

3.4 กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มและผู้นำเข้าสินค้าไทย

  • นาย Charles Chaicharee ผู้แทนบริษัทสิงห์ประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือกล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทฯ ประสบปัญหาในการแข่งขันจาการมีคู่แข่งและคนรุ่นใหม่หันมานิยมการดื่มเครื่องดื่มประเภทอท่นแทน เช่น ไวน์ สุรา โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า และมุ่งเน้นเข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น อีกปัญหาคือเรื่องกฏหมายใหม่ในการกระจายสินค้าไปยังรัฐอื่น ซึ่งจะต้องเสียกำไรสุทธิจำนวนมากและต้องยึดติดกับผู้แทนการค้ารายเดิม

3.5 ผู้แทนจากวงการบันเทิง – มีความประสงค์จะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของธุรกิจนวด/อาหาร และการท่องเที่ยวไทย โดยใช้สื่อออนไลน์ และได้ประสานไว้กับตัวแทนของ Facebook และ Producer ในวงการ Hollywood โดยอาจพิจารณาออกสื่อโฆษณาหรือหนังสั้นเป็นต้น

4. ทีมประเทศไทย

4.1 นางสาววนิดา กำเนิดเพ็ชร์ อัครราชทูต(ฝ่ายเกษตร) เห็นว่าผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายระหว่างประเทศและการให้ความสำคัญกับ Food Safety และ Biosecurity เพื่อตรวจสอบสินค้าที่ข้ามแดนในเรื่องของศัตรูพืชและสัตว์ โดยจะต้องปฏบัติตามกฏหมายของประเทศคู่ค้าเพื่อความปลอดภัยของผู้ผลิตและคู่ค้า และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

4.2 นางจิรภาพรรณ มลิทอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแจ้งว่าเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเป็น Supporter Facilitator และผู้สนับสนุนโดยได้ทำงานในการส่งเสริมสินค้า เช่น สินค้าเกษตร ข้าว ธุรกิจอาหาร และธรุกิจภาคบริการ เช่นการสนับสนุนธุรกิจ animation/film/games และนวัตกรรมใหม่ๆ และส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติให้ไปลงทุนในไทย และนักธุรกิจไทยใลงทุนในสหรัฐฯ โดยแจ้งข้อมูลและกฏระเบียบผ่านเว็บไซต์ www.thaitradeusa.com

4.3 นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเห็นว่าธุรกิจต่างๆ เป็นการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอยากให้นักท่องเที่ยวอเมริกันเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้น ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวอเมริกันเข้าประเทศประมาณ 860,000 คน และมีเป้าหมายให้ถึง 1 ล้านคน โดยมุ่งเน้น wellness tourism และ sport tourism เพื่อสร้างฐานและเป้าหมายกลุ่มใหม่ของการท่องเที่ยว

ซึ่่งการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการรวมตัวของผู้แทนธุรกิจรายใหญ่ ผู้แทนต่างๆ ได้มีโอกาสในการรับทราบปัญหาและแนวทางที่แต่ละภาคธุรกิจได้ประสบ โดยในภาพรวมคือการปฏิบัติและเข้าใจกฏระเบียบของแต่ละสาขา การดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ละยกระดับมาตรฐานของสินค้าหรือการบริการเพื่อสามารถยกระดับธุรกิจไปอีกระดับ โดยนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตได้กล่าวว่าควรมีนักธุรกิจไทยหรือผู้แทนไทยในสมาคมอมเริกันในสาขาธุรกิจนั้นๆ ในแต่ละรัฐเพื่อที่จะสามารถ lobby หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ และควรมีการสร้างเครือข่ายกับนักการเมืองท้องถิ่นหรือหาช่องทางในการปฏิสัมพันธ์กับนักการเมืองเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ หน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาหอการค้าไทยประจำแต่ละรัฐ และทีมประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาธุรกิจในสาขาต่างๆ

ขอขอบคุณ โทรเลขจากสถานกลสุงใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส

Share This Post!

176 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top