บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยดังถึงสหรัฐฯ นักโทษมะกันยกนี่คืออาหารชั้นเลิศ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
‘พาณิชย์’ ปลื้มดันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจาะคุกสหรัฐฯ สำเร็จ หลังนักโทษยกเป็นอาหารมูลค่าสูงดั่งทองคำ และยังใช้เป็นเงินตราซื้อสินค้าอื่นได้อีก ระบุช่วง 7 เดือนส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 มูลค่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.59 นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ทูตพาณิชย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (เอชทีเอ) ในสหรัฐฯ ได้ร่วมกันทำการตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเข้าสู่เรือนจำของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเปรียบเสมือนสินค้ามูลค่าสูงทดแทนการใช้จ่ายในรูปแบบเงินตรา อีกทั้งมีรสชาติถูกปาก และมีความหลากหลาย เป็นอาหารยอดนิยมสำหรับนักโทษในเรือนจำ
ทั้งนี้ ภายในเรือนจำสหรัฐฯ มีระบบเศรษฐกิจของตนเอง นักโทษไม่ได้ใช้จ่ายด้วยเงินสด แต่ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้า สินค้าแต่ละประเภทจะมีมูลค่าที่แตกต่างกันและสามารถแลกเปลี่ยนกับสินค้าประเภทอื่นๆ ได้ สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยถูกยกให้เป็นมาตรฐานทองคำในระบบเรือนจำ
“ปัจจัยหลักที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมในหมู่นักโทษ เป็นเพราะคุณภาพและรสชาติที่ไม่ถูกปากของอาหารในเรือนจำ เนื่องจากงบประมาณด้านอาหารของนักโทษไม่สามารถตอบสนองต่อจำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นในเรือนจำของสหรัฐฯ ได้ ส่งผลให้นักโทษจำนวนมากต้องบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อทดแทนอาหารหลัก นอกจากราคาถูกและมีรสชาติที่ดีกว่าอาหารเรือนจำแล้ว ยังง่ายต่อการปรุงและให้พลังงานสูง อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ที่ร้านค้าของเรือนจำอีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม การส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้าไปเจาะตลาดในเรือนจำสหรัฐฯ ตามยุทธศาสตร์ผลักดันการส่งออกที่จะเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม (นีช มาร์เก็ต) เนื่องจากได้มีการศึกษาระบบเศรษฐกิจในเรือนจำสหรัฐฯ พบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นเงินตราสำคัญในเรือนจำ และมีการประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย เช่น นำมาบริโภค ใช้เป็นค่าตอบแทนในการบริการต่างๆ หรือใช้แลกเปลี่ยนหรือซื้อสินค้าอื่นๆ เช่น แปรงสีฟัน เสื้อผ้า ผลไม้
สำหรับสถิติการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปของไทยไปทั่วโลกพบว่า ปี 58 ส่งออกรวม 1,069 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับหนึ่งที่ 170 ล้านเหรียญฯ รองลงมาคือ เมียนมา และจีน ส่วนในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 59 ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น 4.6% คิดเป็นมูลค่า 640 ล้านเหรียญฯ โดยส่งออกไปสหรัฐฯ 95 ล้านเหรียญฯ ตามด้วยจีน ฟิลิปปินส์ และเมียนมา
ขอขอบคุณข่าวจากไทยรัฐออน ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2559
อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/736116