รายงาน Doing Business 2017 จัดทำโดยธนาคารโลก
เมื่อ ๒๕ ต.ค. ๕๙ ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานประจำปีครั้งที่ ๑๔ ในหัวข้อ Doing Business 2017 เป็นการจัดอันดับการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ จำนวน ๑๙๐ ประเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือน มิ.ย. ๕๘ – มิ.ย. ๕๙ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. การจัดทำรายงาน Doing Business มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับการประกอบกิจการในประเทศต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้การดำเนินการเริ่มต้นธุรกิจ การบริหารจัดการ และการขยายธุรกิจเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยรายงานดังกล่าว ได้ใช้ตัวชี้วัดทั้งหมด ๑๑ ประเภท ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การขอใบอนุญาตก่อสร้าง การเข้าถึงไฟฟ้า การลงทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ การได้รับสินเชื่อ การให้ความคุ้มครองนักลงทุนชนกลุ่มน้อย การชำระภาษี การแลกเปลี่ยนสินค้าข้ามเขตแดน การบังคับใช้สัญญา การแก้ไขเรื่องการล้มละลาย และกฎระเบียบข้อบังคับด้านแรงงาน
๒. ในปีนี้ เป็นปีแรกที่ได้เพิ่มการเก็บข้อมูลในเรื่องเพศภายใต้เกณฑ์ชี้วัด ๓ ประเภท ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การลงทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ และการบังคับใช้สัญญา เพื่อศึกษาถึงการจำกัดสิทธิในการทำธุรกิจของสตรีทั้งในส่วนนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการชำระภาษีเพื่อให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการภายหลังการชำระภาษี อาทิ การตรวจสอบภาษี การเรียกขอคืนภาษี และการร้องเรียนเกี่ยวกับภาษี เป็นต้น
๓. ปีนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ ๔๖ ได้รับคะแนนรวม ๗๒.๕๓ สูงขึ้น ๓ อันดับ เปรียบเทียบกับปีทีผ่านมา ซึ่งอยู่ลำดับที่ ๔๙ และได้รับคะแนนรวมอยู่ที่ ๗๑.๔๒ โดยมีเกณฑ์การชี้วัดที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นมากที่สุดของประเทศไทย ดังนี้
๓.๑ มีการปรับปรุงการเริ่มต้นธุรกิจให้ง่าย สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยการลดขั้นตอนการชำระค่าลงทะเบียนธุรกิจให้เสร็จภายในขั้นตอนเดียว และการลดเวลาในการรับตราประทับของธุรกิจ
๓.๒ มีการปรับปรุงระบบเพื่อให้ธนาคารและสถาบันการเงินสามารถเข้าถึงข้อมูลคะแนนความน่าเชื่อถือเพื่อการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
๓.๓ มีการจัดวางโครงสร้างรูปแบบใหม่ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และปรับปรุงข้อกำหนดด้านการชำระหนี้ เพื่อแก้ปัญหาการล้มละลาย
๔. เมื่อเทียบการจัดอันดับในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยจะอยู่ที่อันดับ ๓ รองจากสิงคโปร์ ซึ่งได้รับคะแนน ๘๕.๐๕ และ มาเลเซีย ซึ่งได้รับคะแนน ๗๘.๑๑ โดยมีบรูไน และเวียดนาม ตามมาเป็นอันดับ ๔ และ ๕ ตามลำดับ
๕. เกณฑ์ชี้วัดที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้รับคะแนนการประเมินดีกว่าไทยมากที่สุด ได้แก่ การชำระภาษี และการคุ้มครองสิทธินักลงทุนชนกลุ่มน้อย ซึ่งไทยควรพิจารณาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว เพื่อลดอุปสรรคทางการลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อไป