โครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟพร้อมจัดหาเครื่องมือยกขนหลักที่ท่าเรือแหลมฉบัง

โครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟพร้อมจัดหาเครื่องมือยกขนหลักที่ท่าเรือแหลมฉบัง

รูปที่ 1 แผนที่แสดงที่ตั้งโครงการ

รูปที่ 2 พื้นที่ตั้งโครงการ

เนื่องจากปัจจุบันการกระจายสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับพื้นที่หลังท่าส่วนใหญ่ยังใช้รูปแบบการขนส่งทางถนนซึ่งเป็นรูปแบบที่สิ้นเปลืองพลังงานและมีผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดเป็นหลัก มีเพียงการขนส่งทางรางและทางชายฝั่งลำน้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้ไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ ดังนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงได้จัดทำแผนวิสาหกิจ ฉบับที่ 10 (ปีงบประมาณ 2553 –2557) โดยกำหนดแผนการพัฒนาระบบการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าที่สูงขึ้นเป็นการสนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนมาสู่ระบบราง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและลดปัญหาการจราจร ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่เส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกช่วงฉะเชิงเทรา –ศรีราชา –แหลมฉบัง ระยะทาง 78 กม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้าที่ขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบังไปยังสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot : ICD) ที่ลาดกระบัง รวมทั้งนโยบายการเพิ่มจำนวนหัวรถจักรและแคร่บรรทุกตู้สินค้าใหม่ของการรถไฟฯ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางบกโดยรถบรรทุกมาทางราง

ปัจจุบันการขนส่งทางรางระหว่าง ICD ลาดกระบังและท่าเรือแหลมฉบังมีไม่น้อยกว่า 460,000 TEUs/ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากการขนส่งทางรางมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การท่าเรือฯ จึงมีโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นจุดต้นทาง/ปลายทางของการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟให้เพียงพอต่อการรองรับตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตและไม่เกิดปัญหาจากสภาพคอขวดอีกต่อไป

ตามอำนาจหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุน บริหารและประกอบการที่ทำไว้กับผู้ประกอบการท่าเทียบเรือของท่าเรือแหลมฉบังทุกราย กำหนดถึงการให้บริการยกขนตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟภายในท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องดำเนินการในลักษณะผู้ประกอบการรายเดียว (Single Operator) แต่ในช่วงเวลาที่ท่าเรือแหลมฉบังเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ท่าเรือแหลมฉบังยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามาดำเนินกิจกรรมการยกขนตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟในลักษณะผู้ประกอบการรายเดียว ดังกล่าวได้  จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการท่าเทียบเรือต่างๆ ให้มาดำเนินการบรรทุก/ขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟ (Rail Transfer) ระหว่างลานขนถ่ายตู้สินค้ารถไฟ (Rail Yard) และบริเวณหลังท่าเทียบเรือฝั่ง B ในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 ด้วยเครื่องมือทุ่นแรงของผู้ประกอบการท่าเทียบเรือแต่ละท่าไปก่อนจนกว่าท่าเรือแหลมฉบังจะได้ผู้ประกอบการรายเดียว (Single Operator) มาดำเนินการต่อไป

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 ลงมติอนุมัติในหลักการให้ กระทรวงคมนาคม (กทท.) ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด รวมถึงการบริหารและการประกอบการโดยใช้งบประมาณลงทุนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 2,944.93 ล้านบาท โดยโครงการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟตั้งอยู่ในพื้นที่ Zone 4 อยู่ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และ C เนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ ในการก่อสร้างระยะแรก จะใช้พื้นที่ประมาณ 370 ไร่ สำรองไว้ในระยะที่ 2 จำนวน 230 ไร่ ลักษณะของ ลานขนถ่ายตู้สินค้ารถไฟที่จะก่อสร้างและติดตั้งรางรถไฟเป็นพวงรางจำนวน 6 พวงราง ซึ่งสามารถจอดขบวนรถไฟได้รางละ 2 ขบวน รวมเป็น 12 ขบวน ได้ในเวลาเดียวกัน โดยติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane: RMG) ที่สามารถทำงานคร่อมรางรถไฟได้ทั้ง 6 ราง ในเวลาเดียวกัน โดยมีขีดความสามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟได้ถึง 2 ล้านทีอียู.ต่อปี

แหล่งที่มา: เวปไซต์โครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟพร้อมจัดหาเครื่องมือยกขนหลักที่ท่าเรือแหลมฉบัง http://www.lcp-srto.com/

Share This Post!

581 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top