ผจก. ฝ่ายกิจการภาครัฐ บริษัท Hess Corporation เข้าหารือทางธุรกิจกับท่านทูต
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม59 นาย George Kalantzakis ผู้จัดการฝ่ายกิจการภาครัฐ บริษัท Hess Corporation พบหารือท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทฯ ใน ประเทศไทย พลังงานของสหรัฐฯ และสถานการณ์น้ำมันโลก โดยสรุปดังนี้
1. กิจการพลังงานของ Hess Corporation ใน ประเทศไทย
1.1 นาย Kalantzakis กล่าว่าบริษัท Hess ลงทุนในประเทศไทยมากว่า 15 ปี แบ่งปันผลประโยชน์ ร้อยละ 50 กับบริษัท Petronas ของมาเลเซีย ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) บล็อก A-18 ห่างจากอ่าวไทยออกไปทาง อ.สงขลา 161 ไมล์ และห่างเมืองโกตาบารู มาเลเซีย 93 ไมล์ ปัจจุบันผลิตก๊าซธรรมชาติ 244 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
1.2เอกอัครราชทูตกล่าวยินดีที่บริษัท Hess ลงทุนในพื้นที่พัฒนาร่วม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน และเป็นต้นแบบความร่วมมือที่ไทยกำลังเจรจากับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในอยู่ขณะนี้ นาย Kalantzakis เห็นด้วยและมองว่า ความขัดแย้งเรื่องดินแดนจะมีแต่ผลเสีย ภาคธุรกิจจะไม่กล้าเข้ามาลงทุน แต่หากตกลงพัฒนาธุรกิจร่วมกันได้จะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
2. ข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์ตลาดน้ำมัน
2.1 ระหว่าง ค.ศ.2015-2020 ผู้ผลิตน้ำมันในตลาดโลกมีมากเกินไปจากการผลิตน้ำมันล้นตลาดของซาอุดิอาระเบีย ทำให้ราคาน้ำมันลดต่ำลงอย่างมาก บริษัทน้ำมันต่าง ๆ จึงต้องลดการลงทุน ทั้งนี้ แม้ว่าพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสีเขียวจะยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแหล่งพลังงานในภาพรวม แต่ตลาดโลกจะยังคงใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก
2.2 ราคาน้ำมันที่ตกต่ำเป็นเวลานาน ในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล ทำให้บริษัทน้ำมันที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ปิดตัวลงกว่าร้อยละ 35 ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ได้ปรับตัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดน้ำมันจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการผลิตน้ำมันในการประชุมของ OPEC ใน 30 พ.ย. นี้ รวมทั้งท่าทีนโยบายของรัสเซียด้านพลังงาน
2.3 ปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างเพื่อการผลิตน้ำมันในอิหร่านเสื่อมสภาพลงมาก แต่มูลค่าการพัฒนาอุปกรณ์และสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่ามหาศาลทำให้เป็นข้อจำกัดของอิหร่าน โดยบริษัท Hess ไม่มีการลงทุนในอิหร่านเนื่องจากสหรัฐฯ สั่งห้ามธุรกิจพลังงานสหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจในอิหร่าน
2.4 นาย Kalantzakis กล่าวอีกว่า ตลาดขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตต้องประกอบด้วย (1) จำนวนประชากร (2) ความต้องการใช้พลังงานเพื่อการพัฒนา (3) ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในตลาดสำคัญซึ่งจะเห็นได้จาก พื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย(JDA) รวมทั้งกานา และมลรัฐนอร์ธดาโกตา อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจเป็นข้อจำกัด เช่น ท่าทีของฟิลิปปินส์ ต่อสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณลบทางธุรกิจทำให้ภาคเอกชนมีความห่วงกังวลผลกระทบต่อภูมิภาค
3. ตลาดพลังงานของสหรัฐฯ
3.1 การพบแหล่ง Shale gas ในสหรัฐฯ จะทำให้สหรัฐฯ ผู้ผลิต Shale gas รายใหญ่ที่สุดของโลกในปี ค.ศ.2020 และอาจทำให้ประเทศผู้ผลิตพลังงานอื่นเห็นสหรัฐฯ ได้เปรียบในตลาดพลังงานจนเป็นภัยคุกคามได้ ในขณะที่อิหร่านถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรธุรกิจน้ำมันที่ผ่านระบบธนาคารสหรัฐฯ อีกทั้งการท่ี่รัสเซียที่เข้าไปร่วมในปัญหาความขัดแย้งในเยเมนและซีเรีย รวมทั้งซาอุดิอาระเบียที่มีภาระในการให้ความสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของประชาชน
3.2 มลรัฐนอร์ธดาโกตาเป็นแหล่ง Shale gas ขนาดใหญ่ แต่อยู่ห่างไกลมากและต้องขนส่งทางรถไฟและปฏิบัติตาม กฏหมายสิ่งแวดล้อม ที่เข้มงวดทำให้ต้องเสียค่าขนส่งสูง รวมทั้งโครงการ Keystone XL ที่จะสร้าง ท่อขนส่งน้ำมันจากแคนาดาเชื่อมต่อผ่านมลรัฐมอนทานา มลรัฐเซาท์ดาโกตา มลรัฐเนบลาสกา ถูกต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ประเด็นสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกรงว่าหากท่อส่งน้ำมันรั่วไหลจะทำให้ระบบน้ำและคุณภาพดินจะถูกทำลาย หากไม่สามารถตกลงกันได้ ธุรกิจน้ำมันในเขต Alberta (ซึ่ง ปตท. มีธุรกิจในเขตนี้) จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในแคนาดามากที่สุด