เปิดสูตรเริ่มธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ตอนที่ 2: ประเภทวีซ่าที่ควรรู้ (1/2)

เปิดสูตรเริ่มธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ตอนที่ 2: ประเภทวีซ่าที่ควรรู้ (1/2)

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

กลับมาอีกครั้งกับตอนที่ 2 ของ “คู่มือร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา” หลังจากได้เรียนรู้ 11 ขั้นตอน เพื่อเตรียมทำธุรกิจร้านอาหารไทยกันไปแล้ว ถึงเวลามาลงรายละเอียด บุคลากรไม่ว่าจะในครัวหรือหน้าร้านเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่สำคัญกว่า คือบุคลากรเหล่านี้ควรเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในตอนนี้ มารู้จักวีซ่าสำหรับผู้ไปพำนักในสหรัฐอเมริกาชั่วคราว (Non-Immigration) 2 ประเภทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วีซ่ารหัส B และ รหัส H ซึ่งผู้สมัครวีซ่าจะต้องศึกษากฎระเบียบ ขั้นตอนการเตรียมเอกสารสําคัญที่จะต้องใช้ประกอบในการยื่นขอวีซ่าให้พร้อม

1. วีซ่าท่องเที่ยวและธุรกิจระยะสั้น (B-1 / B-2)

วีซ่ารหัส B เป็นวีซ่าเยี่ยมเยียนสำหรับผู้ที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาชั่วคราว

  • B-1 สำหรับผู้เดินทางที่ต้องติดต่อกับผู้ร่วมงาน เดินทางไปร่วมประชุมเชิงวิทยาศาสตร์ การศึกษา อาชีพ และธุรกิจ การจัดการสินทรัพย์ หรือต่อรองสัญญา
  • B-2 สำหรับผู้เดินทางเพื่อการพักผ่อน การท่องเที่ยว การเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงหรือญาติ การรักษาด้านการแพทย์ และการเข้าร่วมงานการกุศล กิจกรรมเพื่อสังคม หรือกิจกรรมด้านการบริการ

วีซ่า B-1 และ B-2 มักจะออกร่วมกันเป็นวีซ่าเดียวภายใต้รหัส B-1 / B-2

คุณสมบัติผู้ขอวีซ่า

ผู้สมัครวีซ่าชนิดนี้จะต้องแสดงต่อเจ้าหน้าที่กงสุลสหรัฐอเมริกาว่า ท่านมีคุณสมบัติที่จะได้รับวีซ่าตามพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติของสหรัฐอเมริกา (INA) โดยมาตรา 214(b) ของ INA จะสันนิษฐานว่าผู้สมัครวีซ่าชนิด B-1/B-2 นั้นมีเจตนาที่จะอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างถาวร ท่านต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานทางกฎหมายดังกล่าวให้เป็นที่พอใจว่า

  • วัตถุประสงค์ของการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกานั้นเป็นการเยี่ยมเยียนชั่วคราวเช่น เพื่อธุรกิจ การพักผ่อน หรือการรักษาด้านการแพทย์
  • ท่านจะอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นการชั่วคราวตามที่ระบุไว้
  • หลักฐานการเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายระหว่างอยู่ในสหรัฐอเมริกา
  • ท่านมีที่อยู่อาศัยนอกสหรัฐอเมริกาและมีความผูกพันทางสังคมหรือเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ที่จะทำให้แน่ใจว่าผู้ขอวีซ่าจะเดินทางกลับประเทศเมื่อการเยี่ยมเยียนสิ้นสุดลง
ประเภทวีซ่าเอกสารสําคัญที่ใช้ยื่นขอวีซ่า
B-1

(ธุรกิจ)

– จดหมายเชิญจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา
B-2

(ท่องเที่ยว)

– หลักฐานการรักษาพยาบาล ( Medical Treatment)

– กําหนดการเดินทาง (Trip Itinerary)

– ใบจองห้องพัก/ โรงแรม (Hotel Reservation)

– จดหมายเชิญจากเพื่อน/ญาติพี่น้องที่พํานักในสหรัฐอเมริการะบุว่าช่วงเวลาที่แน่นอน สถานที่ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว

– ใบวินิจฉัยของแพทย์ในสหรัฐอเมริกา แนวทางการรักษาและระยะเวลาในการรักษา

– ใบประกันสุขภาพ (Insurance Coverage)

 เอกสารประกอบการยื่นขอวีซ่าเพิ่มเติม

  • หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร / ที่พักอาศัย
  • หลักฐานการว่าจ้างงานจากนายจ้าง อาทิ จดหมายรับรองการทํางานจากนายจ้าง ตําแหน่งงาน ระยะเวลาทำงาน เงินเดือน เป็นต้น หากเป็นนักเรียนต้องแสดงหลักฐานการลงทะเบียนเรียน
  • หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า สมาชิกของครอบครัวผู้สมัครอาศัยอยู่ในประเทศไทย (ทะเบียนบ้าน)
  • บัญชีธนาคารเพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่สามารถใช้จ่ายตลอดการเดินทาง
  • สูติบัตร ทะเบียนสมรสของคู่สมรส บัตรประจำตัวของสมาชิกในครอบครัวที่จะเดินทางมาร่วมกันกับผู้ขอวีซ่า

ค่าธรรมเนียมและการยื่นวีซ่า

ค่าธรรมเนียม 5,600 บาท (160 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยยื่นขอวีซ่าทางออนไลน์ตามแบบฟอร์ม DS-160 ที่เว็บไซต์ https://ceac.state.gov/genniv/ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://th.usembassy.gov/visas/nonimmigrant-visas/application-procedures/

อายุวีซ่า

วีซ่า B-1 / B-2 จะมีอายุ 5-10 ปี (duration of visa) แล้วแต่กรณี และพำนักในสหรัฐอเมริกาได้คราวละไม่เกิน 6 เดือน (duration of stay) หรือตามแต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐอเมริกาจะประทับตราระยะเวลาอนุญาตพำนักเมื่อเดินทางเข้าประเทศ

เมื่อพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้วประสงค์จะอยู่นานเกิน 6 เดือน ก็สามารถยื่นขอต่ออายุขณะพำนักในสหรัฐอเมริกาได้ 1 ครั้ง พำนักได้ต่อไปไม่เกิน 6 เดือน โดยควรยื่นขอต่ออายุล่วงหน้า 2 เดือน เนื่องจากใช้ระยะเวลาพิจารณาต่ออายุวีซ่าประมาณ 45 วัน โดยใช้แบบฟอร์ม I-159 รายละเอียดตามเว็บไซต์ https://www.uscis.gov/i-539

2. วีซ่าแรงงานชั่วคราว/ตามฤดูกาล และพนักงานฝึกหัด (H)

วีซ่ารหัส H ออกให้สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อทำงานชั่วคราวหรือฝึกงานชั่วคราว แบ่งรหัสย่อยตามลักษณะงานที่จะทำในสหรัฐอเมริกา ดังนี้

  • วีซ่าทำงานอาชีพผู้ชำนาญการพิเศษ (H-1B)

วีซ่า H-1B ออกให้สำหรับผู้ที่เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อปฏิบัติงานซึ่งได้มีการตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่มีคุณสมบัติในการได้รับวีซ่าประเภทนี้จะต้องได้รับวุฒิการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรี (หรือปริญญาที่เทียบเท่า) ในสาขาวิชาที่ตรงกับตำแหน่งที่ถูกว่าจ้าง สำนักงาน United States Citizenship and Immigration Services (USCIS) จะเป็นผู้กำหนดว่างานประเภทนั้นเข้าข่ายเป็นอาชีพผู้ชำนาญการหรือไม่ ตลอดจนพิจารณาว่าผู้ขอวีซ่ามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำงานดังกล่าวได้หรือไม่ โดยนายจ้างจะต้องยื่นคำร้องการจ้างงานต่อกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาเพื่อชี้แจงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาจ้างงานของท่าน

  • วีซ่าทำงานเกษตรกรรมตามฤดูกาล (H-2A)

วีซ่า H-2A ออกให้สำหรับผู้ไปทำงานด้านเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกาเป็นการชั่วคราวหรือตามฤดูกาลเท่านั้น นายจ้างจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้รับชาวต่างชาติเข้าทำงานด้านเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกาเป็นการชั่วคราวเนื่องจากไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติอเมริกันสำหรับงานประเภทนั้นได้ โดยนายจ้างในสหรัฐอเมริกา หรือบริษัททางด้านเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกาที่มีชื่ออยู่ในฐานะนายจ้างร่วม ต้องยื่นแบบฟอร์ม I-129 ซึ่งเป็นคำร้องสำหรับแรงงานชั่วคราวในนามของท่าน ต่อสำนักงาน USCIS

  • วีซ่าแรงงานผู้เชี่ยวชาญ / ไม่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (H-2B)

H-2B เป็นวีซ่าสำหรับการทำงานชั่วคราวหรือตามฤดูกาลในตำแหน่งที่ขาดแคลนแรงงานสัญชาติอเมริกัน นายจ้างจะต้องมีใบรับรองจากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาที่ยืนยันว่าไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติอเมริกันที่มีคุณสมบัติในตำแหน่งงานนั้น ๆ ได้

  • วีซ่าฝึกงาน (H-3)

H-3 เป็นวีซ่าสำหรับการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อฝึกงานในระยะเวลาไม่เกินสองปีกับผู้ว่าจ้างในทุกสาขาโดยไม่จำเป็นว่าการฝึกงานนั้นจะเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่ท่านได้จบการศึกษามาโดยตรง ผู้ไปฝึกงานสามารถรับค่าตอบแทนจากการฝึกงานหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากงานใด ๆ ก็ตามที่ทำระหว่างการฝึกงานนั้นได้ กฏหมายระบุว่าผู้ยื่นขอจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการกลับไปทำงานในประเทศของตน นายจ้างจะต้องแสดงหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ผู้ฝึกงานไม่สามารถที่จะฝึกทักษะดังกล่าวในประเทศของตนได้และทักษะนั้นไม่สามารถฝึกฝนในประเทศอื่นได้ นอกเหนือจากในสหรัฐฯ

  • วีซ่าผู้ติดตาม (H-4)

H-4 ออกให้สำหรับคู่สมรสหรือบุตรที่อายุไม่เกิน 21 ปีที่มีสถานภาพโสด ของผู้ที่ได้รับวีซ่ารหัส H เพื่อติดตามไปยังสหรัฐอเมริกา คู่สมรสหรือบุตรจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานขณะพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา

     คุณสมบัติผู้ขอวีซ่า

ความรับผิดชอบของนายจ้างสหรัฐอเมริกาคุณสมบัติของพนักงานต่างชาติ
–  ตกลง/ยินยอมที่จะจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานของมลรัฐที่พนักงานผู้นั้นทํางาน–  จะต้องเดินทางเข้ามาสหรัฐอเมริกาแบบชั่วคราวเพื่อทํางานพิเศษ
–  เสนอเงื่อนไขการทํางานของพนักงานต่างชาติไม่น้อยไปกว่าการว่าจ้างพนักงานชาวอเมริกัน–  จะต้องมีปริญญา / คุณวุฒิตามที่กําหนดสําหรับงานในตําแหน่งนั้น
– เมื่อระยะการจ้างงานสิ้นสุดลง นายจ้างสหรัฐอเมริกาจะต้องรับผิดชอบตั๋วเดินทางกลับประเทศของพนักงานต่างชาติ–  อย่างน้อยจะต้องจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือมีประสบการณ์ในการทํางานเพื่อให้ตรงกับปริญญาที่กําหนด

ค่าธรรมเนียมและการยื่นวีซ่า

ค่าธรรมเนียม 6,690 บาท (190 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยยื่นขอวีซ่าทางออนไลน์ตามแบบฟอร์ม I-129 ที่เว็บไซต์ https://ceac.state.gov/genniv/ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://th.usembassy.gov/visas/

  • nonimmigrant-visas/application-procedures/

นายจ้างยื่นใบสมัครให้แก่ผู้ที่ต้องการจ้างที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา แผนก Labor Condition Application (LCA) ส่วนใหญ่จะใช้สํานักงานทนายความเป็นผู้ดําเนินเรื่องให้ เมื่อ LCA ยินยอม สํานักงานทนายความจะจัดเตรียมแบบฟอร์ม I-129 สำหรับประกอบการยื่นขอวีซ่า (Filing Fees) ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายเช็คของบริษัทหรือธนาณัติ (Money Order) ต่อ U.S. Department of Homeland Security หากต้องการทราบผลเบื้องต้น (Initial Decision) ภายในระยะเวลา 15 วันทําการ นายจ้างจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อขอรับบริการพิเศษ (Premium Processing Service)

อายุวีซ่า

วีซ่ารหัส H อายุ 3 ปี และอาจขอต่ออายุได้ 1 ครั้ง รวมอายุวีซ่าไม่เกิน 6 ปี และหากบริษัทหรือนายจ้างสหรัฐอเมริกาสนใจที่จะเป็นสปอนเซอร์ในการยื่นขอบัตรประจำตัวผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯ (Green Card) ให้พนักงานต่างชาติ ก็สามารถดําเนินการได้ ในขณะที่พนักงานต่างชาติยังถือวีซ่า H-1B

ทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะออกวีซ่า H-1B สําหรับพนักงานต่างชาติที่มีคุณสมบัติจํานวนไม่เกิน 65,000 วีซ่า และจะสํารองเพิ่มเติมอีกจํานวน 20,000 วีซ่า สําหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาโทหรือสูงกว่าซึ่งจบการศึกษาจากสถาบันในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ยื่นขอวีซ่าประเภทนี้ไม่สามารถยื่นใบสมัครได้ก่อนวันที่ 1 เมษายน ในปีเดียวกัน

ระยะเวลา (Timeframe)

การขอวีซ่าประเภทนี้ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือน และอาจใช้เวลานานขึ้น หากพนักงานต่างชาติมิได้อยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องจัดทํานัดหมายพบกับสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในประเทศที่พนักงานต่างชาติอาศัยอยู่ เพื่อประทับตราวีซ่าในหนังสือเดินทาง (Passport) ระยะเวลาขึ้นอยู่กับสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ในประเทศนั้น ๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 1-3 เดือน

วีซ่าที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจร้านอาหารไทยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ตอนต่อไปจะเล่าถึงวีซ่าสำหรับพนักงานบริษัทข้ามชาติ (L-1) วีซ่าประกอบกิจการค้า / ลงทุนธุรกิจ (E-1 / E-2 / E-5) “คู่มือธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา” ฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ thaibicusa.com

625 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top