การคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2017
U.S. President-elect Donald Trump gives a thumbs up to the media as he arrives at a costume party at the home of hedge fund billionaire and campaign donor Robert Mercer in Head of the Harbor, New York, U.S., December 3, 2016. REUTERS/Mark Kauzlarich
แนวคิดและเป้าหมายในการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Donald Trump
ประธานาธิบดี Donald Trump ระบุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2017 เฉลี่ยร้อยละ 4 ผ่านทางการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. สนับสนุนการปฏิรูปการเก็บภาษีรายได้ของพรรครีพับบริกันที่มีเป้าหมายลดการเก็บภาษีรายได้จากประชาชนและภาคธุรกิจสหรัฐฯเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเงินซื้อหาสินค้าและการลงทุนทำธุรกิจในสหรัฐฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศการทำธุรกิจผลิตสินค้าภายในประเทศสหรัฐฯ
2. เร่งสร้างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในโรงงานผลิต ผ่านนโยบาย American First และ Buy American Hire American ที่เน้น
- ดึงการผลิตในโรงงานผลิตของบริษัทอเมริกันกลับสหรัฐฯ
- ลดการนำเข้าสินค้า
- สร้าง/ซ่อมแซมโครงสร้างทั่วประเทศ
- เข้มงวดเรื่องการอพยพเข้าสหรัฐฯโดยผิดกฎหมายและที่ถูกกฎหมายที่มาจากโปรแกรมวีซ่าต่างๆสำหรับการนำเข้าแรงงานต่างชาติ
3. ลดการเสียดุลทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ โดย
- ทำความพยายามที่จะปิดกั้นการนำเข้าสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศผ่านมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า การเก็บภาษีรายได้บริษัทอเมริกันที่ออกไปผลิตนอกประเทศและส่งกลับไปขายในสหรัฐฯ
- การแก้ไขสนธิสัญญาการค้า/การถอนตัวออกจากข้อตกลงทางการค้าที่เชื่อว่าก่อให้เกิดความเสียเปรียบในการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
การคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์และการเงินสหรัฐฯ
(หมายเหตุ: เป็นการคาดการณ์เบื้องต้นและในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเนื่องจากเป็นการเริ่มต้นของรัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะบริหารประเทศในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในหลายๆด้าน)
การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) คาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2017 ร้อยละ 2.1 การที่นโยบายต่างๆของประธานาธิบดี Trump จะช่วยการเติบโตเศรษฐกิจได้ถึงเฉลี่ยร้อยละ 4 ได้จริง ในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทันที
คาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2018 และ 2019 ระหว่างร้อยละ 2.5 ถึง 3 ขึ้นอยู่กับว่าโปรแกรมต่างๆของ Trump จะได้รับอนุมัติหรือไม่จากรัฐสภาสหรัฐฯ แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ และโครงการต่างๆจะสามารถถึงบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
เงื่อนไขสำคัญที่จะสนับสนุน/เป็นอุปสรรคการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในกรณีที่ไม่เกิดตัวแปรที่ไม่คาดฝันที่จะส่งผลกระทบอย่างมากในทางลบหรือทางบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
1. การปฏิรูปภาษีรายได้ การปฏิรูปการเก็บภาษีรายได้เอกชนและภาคธุรกิจอาจจะช่วยเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจได้แต่จะไม่สามารถเกิดขึ้นและส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในทันทีทันใดในปี 2017 เนื่องจาก
- การจัดทำกฎหมายปฏิรูปภาษีรายได้มีขั้นตอนที่กินเวลานาน คาดว่าถ้ามีการดำเนินการจริงและอย่างรวดเร็ว อย่างเร็วที่สุดที่การปฏิรูปภาษีอาจจะเกิดขึ้นได้คือในปลายปี 2017 หรือในปี 2018
- การลดภาษีรายได้ที่เกิดขึ้นในอดีตแสดงให้เห็นว่า ในระยะเริ่มแรกของการลดภาษีรายได้ คนอเมริกันมีแนวโน้มที่จะนำเงินที่ได้เพิ่มขึ้นที่มาจากการลดการเก็บภาษีของรัฐบาลไปใช้จ่ายชำระหนี้สินเป็นอันดับแรกซึ่งจะไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากนั้นจึงจะนำไปใช้จ่ายซื้อหาสินค้าซึ่งจะช่วยกระตุ้น
เศรษฐกิจ
2. ตลาดแรงงาน ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯปัจจุบันแสดงการตึงตัวและมีการเติบโตที่เข้มแข็งในระดับหนึ่งทั่ว
ทุกภาคของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าการเติบโตของการจ้างงานในปี 2017 จะประมาณร้อยละ 2.1 สูงกว่าร้อยละ 1.6 ของปี 2016 และอัตราเฉลี่ยของการว่างงานจะประมาณร้อยละ 4.5 คาดการณ์สถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆในตลาดแรงงานได้ว่า
- การเติบโตของเงินเดือน/ค่าจ้างแรงงานจะยังคงดำเนินอยู่และคาดว่าการเติบโตจะสูงกว่าในปี 2016 สาเหตุหนึ่งมาจากสภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน แต่การเติบโตยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า
- การเริ่มต้นสร้าง/ซ่อมแซมโครงสร้างทั่วประเทศจะต้องได้รับการอนุมัติค่าใช้จ่ายจากสภาคองเกรสซึ่งจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จนกว่าจะถึงงบประมาณปี 2018 เริ่มต้นเดือนตุลาคม 2017 การเริ่มต้นทำงานตามโครงการได้เร็วที่สุดอาจจะเป็นกลางปี 2019 หรือช้ากว่านั้นอันเป็นผลมาจากระยะเวลาในการจัดสรรเงินและจัดส่งเงินและกระบวนการในการขอใบอนุญาตและอื่นๆที่จำเป็นต่อการทำงาน
- ตลาดแรงงานตึงตัวเนื่องจากความต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญมีมากกว่าจำนวนแรงงานอเมริกันที่มีความเชี่ยวชาญ
3. สถานการณ์เงินเฟ้อ คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2017 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เปรียบเทียบกับร้อยละ 2.1 ในปี 2016 สาเหตุสำคัญของการเติบโตของอัตราเงินเฟ้ออาจจะมาจากราคาสินค้าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่า Core inflation ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เมื่อสิ้นปี 2017 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.3 เปรียบเทียบกับร้อยละ 2.2 ของปี 2016 สาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นอาจจะมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง/เงินเดือน
เงื่อนไขที่จะมีอิทธิพลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯในปี 2017
- ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งตัวจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจและจำกัดการเติบโตของ core inflation
- ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปจะทรงตัวรวมถึงราคาของสินค้าที่ผลิตได้ในสหรัฐฯ สาเหตุส่วนหนึ่งจะมาจากสินค้าอาหารนำเข้าที่มีราคาต่ำเข้ามาช่วยพยุงราคาสินค้าอาหารและแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ
- ราคาอาหารในสถานให้บริการอาหารคาดว่าจะมีสูงขึ้นคู่ขนานไปกับสภาวะเงินเฟ้อ สาเหตุสำคัญมาจากค่าใช้จ่ายแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลจะยังคงสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายเพื่อการประกันสุขภาพที่นายจ้างจ่ายให้แก่
ลูกจ้างอาจจะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 4 – 6 และค่าประกันสุขภาพตามแผน Obamacare อาจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 อย่างไรก็ดี ราคายาตามใบสั่งแพทย์อาจจะลดต่ำลง - ค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยอาจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 การขาดแคลนที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่หลายๆเมืองจะเป็นแรงกดดันให้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดการณ์ว่าการเติบโตของราคาบ้านจะลดลงเหลือร้อยละ 4 สาเหตุมาจากอัตราค่าผ่อนบ้านเพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้ที่สามารถซื้อบ้านได้มีจำนวนลดลง
4. อัตราดอกเบี้ย คาดการณ์ว่าในปี 2017 ธนาคารกลางสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างน้อยสองครั้งๆละร้อยละ 0.25 จุด สาเหตุสำคัญมาจาก การคาดการณ์ผลลัพท์จากแผนการลดภาษีรายได้ การใช้จ่ายเงินเพื่อกองทัพ และการฟื้นฟูโครงสร้างสหรัฐฯของประธานาธิบดี Trump ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดการขาดดุล (deficits) และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และถ้าสภาวะเงินเฟ้อจากการที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์มีความเป็นไปได้ที่ในปี 2017 ธนาคารกลางสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าสองครั้ง
5. การใช้จ่ายเงินของภาคธุรกิจ คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายเงินของภาคธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราระหว่างร้อยละ 3 – 4 สืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตในโรงงานผลิตสหรัฐฯส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายซื้อสินค้าทุนที่เป็นสินค้าหลัก เช่น เครื่องจักรและเครื่องมือคมนาคมสื่อสาร เช่น คอมพิวเตอร์ การใช้จ่ายในส่วนนี้มีการขยายตัวต่อเนื่องในระยะสองไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 ลู่ทางการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคธุรกิจอาจจะดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ถ้าการลดภาษีรายได้ของบริษัทธุรกิจในสหรัฐฯและการลดกฎระเบียบต่างๆสามารถเกิดขึ้นได้จริง
คาดการณ์ว่าคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบจะยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็งการสั่งซื้อจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สธรรมชาติอาจจะเพิ่มขึ้นเมื่อราคาพลังงานเกิดความมั่นคงมากขึ้น
6. การใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคทั่วไป คาดการณ์ขยายตัวของการใช้จ่ายจริง (real consumer spending) ที่ร้อยละ 2.6 การเติบโตของค่าจ้าง/เงินเดือนและการจ้างงานและตลาดหุ้นที่ดำเนินไปอย่างเข้มแข็งอาจจะสนับสนุนการเติบโตอย่างเข้มแข็งของการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขสำคัญสูงสุดที่จะสามารถกระตุ้นการเติบโตอย่างมากของการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคในปี 2017 คือการปฏิรูปภาษีรายได้ที่เป็นการลดภาษีรายได้คนอเมริกันที่สามารถเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ในทันทีทันใด
7. การค้าปลีก คาดว่าการค้าปลีกรวมทั้งสิ้นในช่วงเทศกาลปี 2017 จะขยายตัวร้อยละ 3.4 การค้าปลีกทางระบบออนไลน์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14 การค้าปลีกในร้านค้าปลีกทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 การขยายตัวในระดับต่ำของการค้าปลีกในร้านค้าปลีกทั่วไปมีสาเหตุมาจาก การแข่งขันของการค้าทางออนไลน์และการปิดตัวของร้านค้าปลีกจำนวนมากที่รวมถึงร้านค้าปลีกที่เป็นดิพาร์ทเมนท์สโตร์ การค้ารถยนต์และธุรกิจร้านอาหารคาดว่าจะชะลอตัวลงเช่นกัน
8. ราคาน้ำมัน คาดการณ์ราคาน้ำมันที่ปั๊มจะเพิ่มสูงขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 2017 เป็นประมาณ 2.50 เหรียญฯต่อแกลลอน สาเหตุมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในขณะที่โรงงานกลั่นน้ำมันกำลังเปลี่ยนเข้าสู่การผลิตน้ำมันราคาแพงที่เป็นเพื่อการใช้ในฤดูร้อน การเติบโตของราคาพลังงานจะสนับสนุนการเติบโตของเงินเฟ้อ
9. อสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองใหญ่บนฝั่ง
ตะวันตกของสหรัฐฯ จำนวนบ้านสำหรับการวางจำหน่ายจะอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านราคาถูก และราคาบ้านจะสูงขึ้นลดโอกาสผู้ซื้อบ้านครั้งแรก สาเหตุสำคัญมาจากข้อจำกัดในการสร้างบ้านใหม่ๆที่สืบเนื่องมา จากการขาดแคลนผืนดิน แรงงงาน และการปล่อยเงินกู้เพื่อการสร้างบ้าน อย่างไรก็ดีคาดว่าการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัยจะยังคงขยายตัวร้อยละ 3.8
คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นปี 2017 อัตราเฉลี่ยดอกเบี้ยตายตัวเงินกู้ซื้อบ้านระยะเวลาผ่อนชำระนาน 30 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.6 และอัตราเฉลี่ย 15 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้การขายบ้านใหม่และบ้านที่มีอยู่แล้วมีแนวโน้มลดลง และจะทำให้ราคากลางของบ้านที่อยู่อาศัยจะขยายตัวร้อยละ 5
10. การค้าระหว่างประเทศ ในปี 2016 สหรัฐฯเสียดุลการค้าต่างประเทศ 502.3 พันล้านเหรียญฯ สหรัฐฯ เสียดุลการค้าจีนลดลง แต่กำลังเสียดุลการค้าเม็กซิโก ญี่ปุ่น และเยอรมันเพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2017 สหรัฐฯจะเสียดุลการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 สาเหตุมาจากการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ การแข็งตัวของค่าเงินดอลลาร์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯส่งผลให้เกิดการเติบโตของรายได้ที่จะไปเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายเงินซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการซื้อหาสินค้านำเข้า
การค้าสินค้าและบริการในปี 2017 คาดการณ์การนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 4.4 และการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 3.5
11. คาดการณ์เบื้องต้นงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ
- ค่าใช้จ่าย 4.0 ล้านล้านเหรียญฯ (ประมาณร้อยละ 20.7 ของ GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4
- รายได้ 3.4 ล้านล้านเหรียญฯ (ประมาณร้อยละ 17.8 ของ GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4
- ขาดดุล 559 พันล้านเหรียญฯ (ประมาณร้อยละ 2.9 ของ GDP) ลดลงร้อยละ 4.77
- หนี้สาธารณะ 14.8 ล้านล้านเหรียญฯ (ประมาณร้อยละ 77.5 ของ GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.73
ที่มา:
- Congressional Budget Office: “Outlook for the Budget and the Economy”
- OECD Data: “Current account balance forecast”
- The Conference Board: “The U.S. Economic Forecast”, February 8, 2017
- Kiplinger: “Trump’s Impact on Economy Will Take Time”, by David Payne, January 27, 2017
อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่
ขอขอบคุณข่าวจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส มกราคม 2559