รายงานประเด็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งผู้บริหารตรวจสอบการค้าระหว่างประเทศ

รายงานประเด็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งผู้บริหารตรวจสอบการค้าระหว่างประเทศ

Photo Credit: REUTERS/Carlos Barria

เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2560 นายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งผู้บริหาร (Executive Order) เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลอย่างมีนัยทั้งสิ้น 16 ประเทศ (รวมประเทศไทย) เพื่อหาแนวทางตอบโต้ประเทศคู่ค้าที่ดำเนินแนวนโยบายทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ตามนโยบายทางเศรษฐกิจที่เคยได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนในช่วงหาเสียงก่อนหน้านี้ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและการจ้างงานภายในประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยรายละเอียดที่สำคัญของคำสั่งผู้บริหารทั้ง 2 ฉบับสามารถสรุปได้ ดังนี้

1. สั่งการให้การะทรวงพาณิชย์สหรัฐ (U.S. Commerce Department) และสำนักงานคณะ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative) ร่วมกันจัดทำรายงานเชิงลึกตรวจสอบข้อมูลการค้าระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 16 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เม็กซิโก ไอร์แลนด์ เวียดนาม อิตาลี เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินเดีย ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย แคนาดา และ ไทย โดยกำหนดให้ส่งรายงานฉบับดังกล่าวต่อฝ่ายบริหารภายใน 90 วันนับตั้งแต่ที่มีการลงนามในคำสั่ง นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดให้ทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั้งภายการผลิตและ บริการรวมถึงแรงงาน และผู้บริโภคด้วย

2. สั่งการให้หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ พิจารณาหากลยุทธ์และเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อเรียกเก็บเงินภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping Countervailing Duty) ที่ประเทศคู่ค้ายังค้างชำระอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ผู้นำเข้ารายใหม่หรือผู้ที่เคยละเมิดทางการค้า (Abuse Trade Practice) ต้องวางเงินมัดจำสินค้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางมาถึงท่าเรือปลายทางในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ยอดภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถจัดเก็บตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท)

Photo Credit: US Census Bereau

ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น

1. การลงนามในคำสั่งผู้บริหารครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อปกป้องระบบเศรษฐกิจที่ปัจจุบันพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะประเทศจีนที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงสุดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11 ล้านล้านบาท) ต่อปี ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าแนวนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนทั้ง การแทรกแซงค่าเงินหยวนและการทุ่มตลาดเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของประเทศ

2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญในการตรวจสอบ ได้แก่ ผลิตภัณยาง เหล็ก อะลูมิเนียม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 สำนักงานบริหารการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Administration) ได้เปิดเผยผลการสอบสวนการนำเข้าสินค้ายางรถบรรทุกและรถโดยสารจากประเทศจีนพบว่ามีการอุดหนุน (Subsidization) การทุ่มตลาด (Dumping) จริงจึงกำหนดให้จัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนในอัตราร้อยละ 38.61 – 65.46

3. นักวิเคราะห์บางรายมองว่า การพิจารณาลงนามในคำสั่งผู้บริหารในครั้งนี้ส่วนหนึ่่งเป็นกลยุทธ์ ทางการเมืองประธานาธิบดีเพื่อเรียกคะแนนเสียงหลังจากที่พรรครีพับริกันไม่สามารถรวบรวมคะแนนสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการผ่านร่างกฎหมายประกันสุขภาพ (Affordable Care Act) จนทำให้คะแนน ความนิยมในตัวประธานาธิบดี (Presidential Approval Ratings) ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 38 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดจากรายงานการสำรวจข้อมูลล่าสุดของบริษัท Gallup เนื่องจากประเด็นนโยบายทางด้านการค้าเป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันในความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด

4. แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศเป้าหมายหลักของการตรวจสอบการค้าระหว่างประเทศใน ครั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีนโยบายการอุดหนุนทางการค้าหรือการทุ่มตลาดแต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนยาน ยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการจีนเพื่อการผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข่าวความคืบหน้าด้านนโยบายและมาตรการ ทางเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนกลยุทธ์และปรับตัวทางธุรกิจในอนาคต

5. โครงการระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลการกรทั่วไป Generalized System of Preferences (GSP) ที่สินค้าส่งออกจากไทยหลายรายการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าหลายรายการที่จะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ เช่น สินค้ากลุ่มอาหาร และ Travel Goods มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการพิจารณาต่ออายุได้ทัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2561 แม้ว่าขณะนี้ สมาคมต่าง ๆ ได้พยายาม เรียกร้องให้มีการต่ออายุ GSP สินค้าแล้ว โดยให้เหตุผลว่าจะส่งผลดีต่อการจ้างงานในประเทศและลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ก็ตาม ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรจะเตรียมการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ หากพิจารณาจากแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้วมีความเป็นไปได้ที่โครงการ ดังกล่าวจะอาจจะถูกยกเลิกในอนาคตเนื่องจากสหรัฐฯ มีท่าทีการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีเพื่อรักษา ผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

สรุป

ในภาพรวมยังไม่มีความชัดเจนถึงนโยบายหรือมาตรการที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้ต่อไปหลังจากที่ได้รับรายงานศึกษาข้อมูลเชิงลึกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากครบกำหนด 90 วัน ทั้งนี้ ประเด็นที่เป็นที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิดในขณะนี้คือ การเจรจาทวิภาคีระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ นายสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะจัดขึ้นที่ The Mar-A-Lago Resort เมือง Palm Beach รัฐฟลอริดา ระหว่างวันที่ 6 – 7 เมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งน่าจะทำให้สามารถวิเคราะห์ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อนโยบายทาง การค้ากับประเทศคู่ค้าได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็น ผลจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ ส่วนอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการที่ไปส่งออกชิ้นส่วนการผลิตให้จีน

ขอขอบคุณข่าวจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

178 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top