เปิดสูตรเริ่มธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ตอนที่ 3: ประเภทวีซ่าที่ควรรู้ (2/2)

เปิดสูตรเริ่มธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ตอนที่ 3: ประเภทวีซ่าที่ควรรู้ (2/2)

หลังจากที่รู้จักวีซ่ารหัส B และ รหัส H จากตอนที่แล้ว ถึงกฎระเบียบ ขั้นตอนการเตรียมเอกสารสําคัญของทั้งสองประเภทไปแล้ว ในตอนที่ 3 นี้ มาต่อกันด้วยวีซ่าอีก 2 ประเภท คือ วีซ่ารหัส L พนักงานข้ามชาติ และ วีซ่ารหัส E สำหรับประกอบกิจการค้า / ลงทุนธุรกิจ  รวมทั้งการเตรียมลงทุนในสหรัฐฯ กัน

วีซ่าพนักงานบริษัทข้ามชาติ

วัตถุประสงค์ของวีซ่า

วีซ่าพำนักชั่วคราวรหัส L ออกให้สำหรับพนักงานที่ย้ายไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาชั่วคราวภายใต้การจ้างงานของบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกัน

L-1 วีซ่าพนักงานที่ย้ายไปทำงานที่สหรัฐชั่วคราวภายใต้การจ้างงานของบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกัน

วีซ่าประเภท L-1 สำหรับพนักงานของบริษัทในระดับสากลที่ย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักงานที่ตั้งในสหรัฐฯ ชั่วคราว    ผู้ที่มีคุณสมบัติในการยื่นคำร้องขอวีซ่าประเภทนี้ จะต้องมีตำแหน่งในระดับเทียบเท่าผู้จัดการหรือผู้บริหาร หรือมีความรู้ความสามารถที่เชี่ยวชาญ และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ในระดับตำแหน่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ทำอยู่ก็ได้ นอกจากนี้ ผู้สมัครยังต้องปฏิบัติงานให้แก่บริษัทระดับสากลที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสหรัฐฯ ติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งปีภายในเวลาสามปีก่อนทำการสมัครขอวีซ่าไปยังสหรัฐฯ ผู้สมัครจะสามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าชนิด L-1 ได้เมื่อบริษัทของสหรัฐหรือบริษัทในเครือได้รับการอนุมัติคำร้องจาก USCIS แล้วเท่านั้น

L-2 วีซ่าผู้ติดตาม

คู่สมรสหรือบุตรที่อายุต่ำกว่า 21 ปี (ที่ไม่ได้แต่งงาน) ของผู้ถือวีซ่าประเภท L-1 สามารถได้รับวีซ่าติดตามประเภทนี้ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่เมื่อเร็วๆนี้เปิดให้คู่สมรสสามารถขออนุญาตทำงานได้ โดยจะต้องเดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯด้วยวีซ่า L-2 ก่อน จึงส่งแบบฟอร์ม I-765 (ขอรับได้จากสำนักงาน USCIS) พร้อมค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้อง ทั้งนี้บุตรจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐอเมริกา

คุณสมบัติ

ผู้ยื่นขอวีซ่าจะต้องเป็นองค์กร/บริษัทในสหรัฐฯ ที่มีบริษัทอีก 1 แห่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศอื่น และจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทางกฎหมาย เช่น บริษัทแม่ บริษัทสาขา บริษัทในเครือ ฯลฯ เป็นผู้ดำเนินการยื่นขอวีซ่าให้แก่พนักงานที่ต้องการให้เข้าทำงานในบริษัทสาขาในสหรัฐฯ โดยผู้ยื่นขอวีซ่าจะต้องมีอํานาจควบคุม (Control) พนักงานที่ต้องการให้เข้าทำงานในบริษัทสาขาในสหรัฐอเมริกา

พนักงานผู้สมัครขอวีซ่าจะต้องทํางานในประเทศไทยติดต่อกันมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และดํารงตําแหน่งผู้บริหารหรือระดับการจัดการ (สําหรับวีซ่า L-1A) หรือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ/เฉพาะทาง (สําหรับวีซ่า L-1B) หลักฐานที่จะต้องยื่นพร้อมคําร้อง ได้แก่ เอกสารแสดงขอบเขตพื้นที่ของสํานักงานใหม่ (Office Space) แผนการธุรกิจ (Business Plan) ความเป็นเจ้าของ (Ownership) สถานะการเงิน และจะต้องแสดงรายละเอียดของตําแหน่งการว่าจ้างงานในประเทศไทยของผู้มีสิทธิ์ (ระดับผู้บริหาร / จัดการ / มีความรู้ / ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง) ก่อนที่จะได้รับการว่าจ้างให้โอนมาทํางานในสหรัฐอเมริกา

ตําแหน่งการว่าจ้างงานในสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นตําแหน่งในระดับผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือ ผู้ที่มีความรู้ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ค่าธรรมเนียมและการยื่นวีซ่า

ค่าธรรมเนียม 6,690 บาท (190 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยยื่นขอวีซ่าทางออนไลน์ตามแบบฟอร์ม DS-160 ที่เว็บไซต์ https://ceac.state.gov/genniv/ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://th.usembassy.gov/visas/nonimmigrant-visas/application-procedures/

ตัวแทนบริษัทในสหรัฐฯ จะเป็นผู้ยื่นแบบฟอร์ม I-129 และ L Supplement ต่อหน่วยงาน USCIS Service Center

อายุวีซ่า

3 ปี และอาจขอต่ออายุได้ 2 ปี อย่างไรก็ดี ผู้ที่ถือวีซ่า L-1 สําหรับการก่อตั้งสํานักงานใหม่ครั้งแรกจะอยู่ได้ 1 ปีและสามารถขอยื่นเรื่องขยายการต่อวีซ่าโดยจะต้องยื่นหลักฐาน / เอกสาร เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดําเนินธุรกิจของสํานักงานใหม่

ระยะเวลา (Timeframe)

โดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือน

วีซ่าประกอบกิจการค้า / ลงทุนธุรกิจ (E-1 / E-2 / E-5)

วัตถุประสงค์ของวีซ่า

วีซ่าพำนักชั่วคราวรหัส E ออกให้สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสหรัฐฯ เพื่อการค้า (E-1) หรือเพื่อการลงทุน (E-2 หรือ E-5) โดยผู้สมัครวีซ่าประเภทนี้ต้องถือสัญชาติของประเทศที่สหรัฐฯ มีสนธิสัญญาการค้าด้วย ในที่นี้ประเทศไทยได้ลงนามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2511

E-1 วีซ่าประกอบกิจการค้า

วีซ่าประเภท E-1สำหรับคนที่มีสัญชาติที่มีสนธิสัญญาทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยบริษัทนั้นต้องมีหุ้นส่วนหรือถือครองกิจการโดยคนสัญชาติดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 50 และมีปริมาณการค้าในมูลค่าที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องระหว่างประเทศนั้นกับสหรัฐฯ เกินกว่าร้อยละ 50 ของการดำเนินกิจการ

การค้า หมายถึง การส่งสินค้า บริการ และเทคโนโลยี จากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง ตัวอย่างประเภทกิจการ อาทิ ธนาคารระหว่างประเทศ ประกันภัย คมนาคมขนส่ง ท่องเที่ยว สื่อสารโทรคมนาคม

E-2 วีซ่าลงทุนธุรกิจ

วีซ่าประเภท E-2สำหรับผู้ที่ลงทุนหรือเป็นหุ้นส่วนการลงทุนที่มีสัญชาติที่มีสนธิสัญญาทางการค้ากับสหรัฐฯ          การลงทุนธุรกิจต้องมีหุ้นส่วนหรือถือครองกิจการโดยคนสัญชาติดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 50 และมีปริมาณการลงทุนในมูลค่าที่เหมาะสม มีแหล่งเงินทุนที่น่าเชื่อถือ และมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ

ผู้สมัครวีซ่าประเภทนี้ต้องเป็นผู้เดินทางมาลงทุนในสหรัฐฯ ด้วยตนเอง หรือเป็นผู้มีตำแหน่งระดับบริหารของกิจการ หรือเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสายงานที่ดำเนินกิจการ การลงทุนต้องมีการดำเนินธุรกิจจริง ธุรกิจที่ดำเนินการทางกระดาษ หรือ การคาดเดาในการดำเนินธุรกิจ หรือ ธุรกิจที่ไม่มีแหล่งเงินทุนหรือบัญชีธนาคารที่น่าเชื่อถือจะไม่ได้รับการพิจารณา

กิจการดังกล่าวจะต้องสร้างรายได้มากเพียงพอไม่เฉพาะต่อการดำรงชีพของเจ้าของกิจการและครอบครัว หรือต้องเป็นกิจการที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ท่านจะต้องมีอำนาจในการควบคุมเงินทุนและการลงทุนต้องเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งนี้ การใช้อสังหาริมทรัพย์ เช่น ร้านอาหารที่จะลงทุน เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันจะไม่ได้รับการพิจารณาอ่านข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://www.uscis.gov/working-united-states/temporary-workers/e-2-treaty-investors

คุณสมบัติ

ผู้ยื่นขอวีซ่าจะต้องเป็นองค์กร/บริษัทในสหรัฐฯ ที่มีบริษัทอีก 1 แห่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศอื่น และจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทางกฎหมาย เช่น บริษัทแม่ บริษัทสาขา บริษัทในเครือ ฯลฯ เป็นผู้ดำเนินการยื่นขอวีซ่าให้แก่พนักงานที่ต้องการให้เข้าทำงานในบริษัทสาขาในสหรัฐฯ โดยผู้ยื่นขอวีซ่าจะต้องมีอํานาจควบคุม (Control) พนักงานที่ต้องการให้เข้าทำงานในบริษัทสาขาในสหรัฐฯ

ค่าธรรมเนียมและการยื่นวีซ่า

ค่าธรรมเนียม 7,175 บาท (205 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยยื่นขอวีซ่าทางออนไลน์ตามแบบฟอร์ม DS-160 ที่เว็ปไซต์ https://ceac.state.gov/genniv/ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://th.usembassy.gov/visas/nonimmigrant-visas/application-procedures/

ผู้สมัครและผู้ติดตามที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้วและต้องการสมัครวีซ่า E ให้กรอกแบบฟอร์ม DS-160 ทางระบบออนไลน์ โดยมีเอกสารประกอบสำคัญต่อไปนี้

  • สำเนาหน้าหนังสือเดินทาง สำเนาทะเบียนสมรส และ สูติบัตรหรือใบรับบุตรบุญธรรม (กรณีมีผู้ติดตาม) *หากผู้ติดตามไม่ยื่นขอวีซ่าพร้อมกับผู้สมัคร ให้สำเนาวีซ่า E-1 เมื่อยื่นต่างหากด้วย
  • แบบฟอร์ม DS-156E แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการที่จะไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา
  • หนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทห้างร้าน ตำแหน่งงาน และสวัสดิการ รวมทั้งระบุสัญชาติของเจ้าของกิจการที่มีสนธิสัญญาทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 และมีการค้ากับสหรัฐอเมริกาเกินกว่าร้อยละ 50 ของการดำเนินกิจการ ทั้งนี้ จะต้องแจ้งในหนังสือด้วยว่า ผู้สมัครวีซ่าประเภทนี้จะเดินทางออกจากสหรัฐอเมริกาทันทีหากวีซ่าหมดอายุ
  • หลักฐานแสดงความเป็นหุ้นส่วนและอัตราส่วนหุ้นของเจ้าของกิจการ เช่น ทะเบียนธุรกิจ ใบสำคัญผู้ถือหุ้น
  • หลักฐานแสดงการค้ากับสหรัฐอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญ เช่น บัญชีงบดุล เอกสารขนส่งสินค้า ใบเรียกเก็บเงิน เอกสารการจ่ายเงินกับคู่ค้าในสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลา 6 เดือน เอกสารการจ่ายภาษี
  • หลักฐานแสดงปริมาณการค้ากับสหรัฐอเมริกาเกินกว่าร้อยละ 50 ของการดำเนินกิจการ เช่น บัญชีงบดุล เอกสารขนส่งสินค้า ใบเรียกเก็บเงิน เอกสารการจ่ายเงินกับคู่ค้าในสหรัฐอเมริกา
  • หนังสือบริษัทแจ้งว่า พนักงานที่สมัครวีซ่า E-1 ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งและหน้าที่ใด มีคุณสมบัติอย่างไรที่ทำให้ไม่สามารถจ้างพนักงานอเมริกันในตำแหน่งนี้ได้ และทำไมบริษัทจึงต้องการบุคคลดังกล่าวให้ทำงานในบริษัท รวมทั้งแจ้งหลักฐานความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น ประวัติการศึกษาและประสบการณ์ทำงาน ประกาศนียบัตรการศึกษา การฝึกอบรม ใบผลการเรียน
  • เอกสารข้อมูลตำแหน่งในองค์กร (Organization chart) ทั้งหมด ประกอบด้วยชื่อ ตำแหน่ง สถานการณ์เข้าเมือง เช่น ถือสัญชาติอเมริกัน ถือใบเขียว ถือวีซ่า

ผู้สมัครและผู้ติดตามที่พำนักอยู่ในประเทศไทยและต้องการสมัครวีซ่า E ให้กรอกแบบฟอร์ม I-129 ทางระบบออนไลน์ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://th.usembassy.gov/th/visas-th/nonimmigrant-visas-th/treaty-trader-visas/

หากท่านมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่าสำหรับผู้ประกอบการค้าและผู้ลงทุน สามารถสอบถามทางอีเมลที่ BangkokBusinessTravel@state.gov

อายุวีซ่า

วีซ่า E-1 และ E-2 จะมีอายุ 2 ปี และต่ออายุได้ทุก 2 ปี

คู่สมรสและบุตรอายุต่ำกว่า 21 ปีซึ่งยังไม่ได้แต่งงาน ของผู้ค้า นักลงทุนตามสนธิสัญญา หรือ พนักงานของบริษัท สามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าเพื่อร่วมเดินทางหรือติดตามผู้สมัครไปสหรัฐฯ ได้ และผู้สมัครไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติเดียวกับผู้สมัครหลัก

ระยะเวลา (Timeframe)

โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2-4 เดือน

วีซ่า E-2 เป็นวีซ่าที่นิยมสำหรับธุรกิจร้านอาหารแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ วีซ่านักลงทุน (E-2) และวีซ่ารับจ้างทำงานซึ่งร้านอาหารต้องเป็นผู้สนับสนุน (H-1B) ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ ส่วนมากนิยมขอวีซ่าประเภท E-2 เพราะทำได้ง่ายกว่าและสามารถยื่นขอจ้างพ่อครัวแม่ครัวได้โดยตรงจากประเทศไทย รวมทั้งสามารถพาคนในครอบครัวมาได้

ถึงแม้ว่าวีซ่าประเภทนี้ไม่สามารถใช้ยื่นขอกรีนการ์ดได้ในอนาคต แต่ก็ไม่มีข้อจำกัดในการต่ออายุ สามารถต่ออายุได้ทุก 2 ปี ตราบใดที่นักลงทุนยื่นชำระภาษีธุรกิจตามกฎหมายและรายงานการจ้างแรงงานไปยังสรรพากรสหรัฐอเมริกา (Internal Revenue Service – IRS) นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถยื่นขอวีซ่าผู้ติดตามให้กับคู่สมรสและบุตรที่อายุไม่เกิน 21 ปี โดยที่บุตรมีสิทธิ์เข้าโรงเรียนรัฐบาลในสหรัฐฯ เหมือนคนอเมริกันทั่วไป

วีซ่าลงทุนธุรกิจ (EB-5)

วีซ่าประเภท EB-5 จะใช้สำหรับผู้ที่ลงทุนที่มีสัญชาติที่มีสนธิสัญญาทางการค้ากับสหรัฐฯ การลงทุนธุรกิจจะต้องมีการลงทุนมากกว่า 500,000-1,000,000 เหรียญสหรัฐ และมีการการสร้างงานให้กับคนสัญชาติอเมริกันจากธุรกิจที่ลงทุน 10 ตำแหน่งขึ้นไป มีแหล่งเงินทุนที่น่าเชื่อถือ และมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ

ผู้สมัครวีซ่าประเภทนี้ต้องเป็นผู้เดินทางมาลงทุนในสหรัฐฯ ด้วยตนเอง หรือเป็นผู้มีตำแหน่งระดับวางแผนและนโยบายของกิจการ การลงทุนต้องมีการดำเนินธุรกิจจริง กิจการดังกล่าวจะต้องสร้างรายได้และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา โดยกิจการจะต้องสร้างงานทางตรงขั้นต่ำ 10 งานภายในระยะเวลาที่เปิดกิจการเป็นเวลา 2 ปีหรือมากกว่าแล้วแต่กรณี

อายุวีซ่า

จะมีอายุ 2 ปีด้วยการถือใบเขียวแบบมีเงื่อนไข เมื่อครบตามเงื่อนไขทั้งหมดแล้ว สามารถยื่นเรื่องเพื่อรับใบเขียวเพื่ออยู่อาศัยอย่างถาวรได้ หากอยู่อาศัยครบ 5 ปี นับตั้งแต่วันเข้าประเทศ

คู่สมรสและบุตรของนักลงทุนอายุต่ำกว่า 21 ปี ซึ่งยังไม่ได้แต่งงาน สามารถยื่นคำร้องขอวีซ่านี้เพื่อร่วมเดินทางหรือติดตามผู้สมัครไปสหรัฐฯ และขอเป็นผู้อาศัยถาวรของสหรัฐฯ

ระยะเวลา (Timeframe)

โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

ค่าธรรมเนียมและการยื่นวีซ่า

ค่าธรรมเนียม 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับค่าดำเนินการคำร้อง  I-526 และ 1,070 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับดำเนินการแบบฟอร์ม I-485

  1. กรอกแบบฟอร์มคำร้อง I-526 ยื่นคำร้องทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ (USCIS) ตามแบบฟอร์ม I-526 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.uscis.gov/i-526
  2. หลังจากได้รับการอนุมัติคำร้องจากการกรอกแบบฟอร์ม I-526 แล้วต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
  • กรอกและส่งแบบฟอร์ม I-485 แบบฟอร์มเพื่อลงทะเบียนผู้อยู่อาศัยถาวรของสหรัฐฯ หรือ เปลี่ยนสถานะ กับ USCIS เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นผู้อาศัยถาวรของสหรัฐฯ แบบมีเงื่อนไข อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.uscis.gov/i-485
  • กรอกและส่งแบบฟอร์ม DS-230 หรือ DS-260 แบบฟอร์มวีซ่าลงทะเบียนคนเข้าเมือง กับ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (U.S. Department of State) เพื่อเข้าประเทศสหรัฐฯ

ความแตกต่างของวีซ่านักลงทุนวีซ่าประเภท L2, E2 และ E5

L-1E-2E-5
เงินลงทุนไม่มีขั้นต่ำไม่มีขั้นต่ำ$500,000-$1,000,000
การสร้างงานให้พลเมืองสหรัฐฯไม่มีข้อจำกัดไม่มีข้อจำกัด10 ตำแหน่ง
ผู้ขอวีซ่าต้องขอวีซ่าในฐานะผู้บริหาร หรือ ผู้เชี่ยวชาญผู้บริหาร ผู้มีทักษะเฉพาะด้าน หรือ    นักลงทุนนักวางแผนและนโยบาย
ระยะเวลาอนุมัติวีซ่า3-4 เดือน 2-4 เดือน6 เดือน
ลูกจะเสียสถานะผู้ติดตามหลังอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์หรือไม่ใช่ ลูกจะต้องเข้ามาสหรัฐฯ ใหม่ด้วยวีซ่าประเภทอื่นใช่ ลูกจะต้องเข้ามาสหรัฐฯ ใหม่ด้วย    วีซ่าประเภทอื่นไม่ ลูกมีสถานะผู้อาศัยถาวรของสหรัฐฯ เมื่อได้รับ Green Card
หากขายกิจการผู้ลงทุนจะเสียสถานะวีซ่าหรือไม่ใช่ เพราะ วีซ่า L-1 ขึ้นอยู่กับการมีกิจการใช่ เพราะวีซ่า E-2ขึ้นอยู่กับการมีกิจการไม่ แต่อาจเสียสถานะหากการจ้างงานไม่ถึงตามกำหนดขั้นต่ำ
ผู้ขอวีซ่าสามารถซื้อต่อกิจการที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ได้หรือไม่ได้ได้ได้ แต่ต้องเพิ่มงานอย่างน้อย 10 ตำแหน่ง
อายุวีซ่าครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ 1 ปีมากสุด 5 ปี2 ปีด้วยผู้อาศัยสหรัฐฯ แบบมีเงื่อนไข จากนั้นเป็นผู้อาศัยถาวรด้วยใบเขียว
ระยะเวลามากที่สุดในการถือวีซ่า5-7 ปีต่อวีซ่าได้ไม่จำกัดถาวรโดยสามารถขอสัญชาติได้หลังมีวีซ่านี้ 5 ปี

การเตรียมลงทุนในสหรัฐอเมริกา

  • ผู้ประกอบกิจการควรมีเงินลงทุนเพียงพอต่อการใช้จ่ายและสามารถใช้ในการบริหารกิจการอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรลงทุนในลักษณะเก็งกำไร
  • ผู้ประกอบกิจการควรจัดทำแผนธุรกิจที่มีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวและคำนวณผลกำไรที่ชัดเจน รวมทั้งการจัดสรรคำนวณอัตราค่าใช้จ่าย เช่น กำไรสุทธิต่อยอดขาย การเติบโตของรายได้ ในกรณีที่เป็นการซื้อกิจการเดิม อาจใช้ยอดขายเดิมในการทำแผนธุรกิจและวางแผนการเพิ่มยอดขายเพื่อให้กิจการมีกำไรในอนาคต โดยทั่วไปในช่วง 1-3 ปีแรกของทุกกิจการจะไม่มีผลกำไรมากนักเพราะต้องลงทุนสูง
  • เลือกกิจการที่มีศักยภาพ เช่น ถ้าต้องการซื้อต่อกิจการร้านอาหาร ควรเลือกทำเลที่ดี ตั้งราคาที่ขายเหมาะสม ดูกลุ่มลูกค้า  และดูรายได้ของกลุ่มลูกค้าในทำเลนั้น
  • การซื้อต่อกิจการร้านอาหารควรตรวจสอบธุรกิจอย่างละเอียด เช่น ภาษีคงค้าง สาเหตุการเลิกกิจการ
  • มีความรู้หรือจ้างผู้รู้เพื่อวิเคราะห์งบการเงิน เพราะต้องนำมาใช้มาประกอบการทำแผนธุรกิจ
  • การทำสัญญาซื้อขายให้ละเอียดรัดกุมเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง โดยอาจปรึกษาทนายความ
  • หากจดทะเบียนธุรกิจรูปแบบบริษัทร่วมทุน (Corporation) สามารถออกหุ้นเพิ่มหรือโอนหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ร่วมลงทุน วิธีนี้เหมาะสำหรับกิจการที่มีญาติพี่น้องหรือบุคคลที่ไว้วางใจมาร่วมทุน ถ้ากิจการเดิมจดทะเบียนรูปแบบอื่นอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านภาษีมากขึ้น นักลงทุนหลายคนใช้การตั้งบริษัทขึ้นมาซื้อกิจการเพื่อลดภาระภาษีรายบุคคลหรือหนี้สินคงค้างต่าง ๆ
  • การตรวจสอบใบอนุญาต (License) ก่อนซื้อกิจการ เช่น ใบอนุญาตขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Alcohol License)
  • การชี้แจงแหล่งที่มาของเงินลงทุน หากเป็นเงินกู้ไม่ควรเกินร้อยละ 40 ของเงินลงทุน โดยต้องมีการแสดงรายละเอียดการนำเงินเข้ามาลงทุนและแหล่งที่มาที่ไปของเงิน
  • การเตรียมเอกสารต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ เช่น การแปลเอกสาร ทะเบียนราษฎร์ การแปลหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย การแปลแบบแสดงรายการภาษีหรือเงินกู้
  • หากนักลงทุนมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เขียนภาษาราชการได้ และมีพื้นฐานทางธุรกิจ สามารถดำเนินเรื่องด้วยตนเองเองได้โดยศึกษาขั้นตอนให้ละเอียดโดยตรงจากเว็บไซด์ของ U.S. Citizenship and Immigration Services – USCIS หรือจากทางเว็ปไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ในกรณีที่นักลงทุนไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ก็อาจพิจารณาจ้างทนายความเพื่อดำเนินการยื่นขอวีซ่านักลงทุน E-2 ให้ได้
  • ขั้นตอนดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกาสามารถหาได้จากข้อมูลเว็ปไซต์ https://business.usa.gov/

การทำธุกิจร้านอาหารไทยยังมีอีกหลายเรื่องและหลายขั้นตอนที่ผู้สนใจประกอบธุรกิจควรทราบ ตอนต่อไปจะเล่าถึงกฎระเบียบกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ที่ควรทราบ “คู่มือธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา” ฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ thaibicusa.com

1,130 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top