ตอนที่ 1/2 : กว่าจะมาเป็น Sukho Thai Massage ประสบการณ์ตรงเจ้าของธุรกิจร้านนวดสปาไทยในสหรัฐฯ
Credit: คุณชุติกาญจน์ ฮูเวอร์
ธุรกิจสปาและนวดไทยเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจบริการที่ไทยมีลู่ทางในสหรัฐฯ จากแนวโน้มความต้องที่ผู้บริโภคในอเมริกาหันมาสนใจกับการรักษาโรคแบบธรรมชาติบำบัดมากขึ้น การสำรวจของสมาคมนวดบำบัดของสหรัฐ (American Massage Therapy Association)ระหว่างเดือน ก.ค. 2558 และ ก.ค. 2559 ระบุว่า ชาวอเมริกันวัยกลางคนประมาณ 43.8 – 57.6 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 19 – 25 จากวัยกลางคนทั่วประเทศ ใช้บริการนวดบำบัดมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง อุตสาหกรรมนวดบำบัดในสหรัฐฯ ทำรายได้ให้ประเทศได้มากถึง 121 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และรายได้เฉลี่ยของนักนวดบำบัด (รวมค่าทิป) อยู่ที่ประมาณ 25,539.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
คุณชุติกาญจน์ ฮูเวอร์ เจ้าของธุรกิจร้านสปาและนวดแผนไทย Sukho Thai Massage ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนาคือหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของเจ้าของธุรกิจสปาและนวดแผนไทยในสหรัฐฯ ธุรกิจของคุณชุติกาญจน์ฯ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2554 จนปัจจุบันประสบการณ์ในสายธุรกิจสปาและนวดแผนไทยในสหรัฐฯ คุณชุติกาญจน์ฯ มีแนวคิดที่จะรวบรวมธุรกิจนวดสปาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ให้เป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้ธุรกิจ สปาและนวดแผนไทยทั่วสหรัฐฯ มีมาตรฐาน การบริการแบบเดียวกันเช่นเดียวกับที่มีการรวมตัวกันแล้วในฝั่งตะวันตก คุณชุติกาญจน์ฯ ได้เล่าประสบการณ์จริงกว่าจะมาถึงวันนี้ พร้อมทั้งแง่คิดแก่นักธุรกิจสปาและนวดไทยรุ่นใหม่ให้ Thaibicusa.com ฟัง
ย้อนไปเมื่อปี 2554 อะไรเป็นแรงผลักดันให้คุณชุติกาญจน์ฯ ตัดสินใจเปิดกิจการนวดสปาเป็นของตนเองเห็นโอกาสอย่างไร
จริง ๆ แล้วก่อนที่จะเปิดธุรกิจร้านนวดสปาตัวเองเคยล้มเหลวในธุรกิจนำเข้ามาก่อน หลังจากนั้น ก็หันไปทำงานประจำที่แผนก Call Center ของธนาคารแห่งหนึ่งในรัฐนอร์ธแคโรไลนา รู้สึกว่างานประจำมันมั่นคงแต่ยังมีเงินไม่มากพอที่จะสร้างอนาคต เลยออกมาทำร้านอาหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ รู้สึกท้อมาก แต่ไม่อยากกลับไปทำงานประจำอีก จึงพยายามค้นหาตัวเอง ก็เลยคิดว่าธุรกิจอะไรบ้างที่ทำแล้วของไม่เน่าเสียเหมือนร้านอาหารหรือไม่ต้องจมกับคลังสินค้าและธุรกิจนั้นไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีพบคำตอบว่า นั่นก็คือธุรกิจที่เกี่ยวกับงานบริการ ประกอบกับเพื่อนที่เปิดร้านนวดไทยที่สวิสเซอแลนด์ได้แนะนำให้เปิดร้านนวด เขาแนะนำว่าถ้าจะเป็นเจ้าของร้านนวด ต้องเริ่มจากการรู้ทุกอย่างตั้งแต่การนวดและเป็นหมอนวดก่อน ตอนนั้น ดิฉันมีอีโก้สูงมากคิดว่าเป็นงานใช้แรงงาน เราทำงานออฟฟิสมาก่อน คงทำไม่ได้หรอก สุดท้ายก็ไปลองเรียนนวดที่เมืองไทยแล้วชอบมาก ประกอบกับบรรบุรุษเคยเป็นหมอตำแยและหมอนวดมาก่อน เลยมีความรู้สึกอยาก จะสานต่อสิ่งดี ๆ ของครอบครัว จากนั้นจึงลงทะเบียนและสอบเอาใบอนุญาติในสหรัฐฯ และเปิดร้านเป็นของตนเอง
เนื่องจากเป็นธุรกิจสปาในเมืองที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ ๆ ตลาดลูกค้าเยอะหรือไม่ และคุณชุติกาญจน์มีวิธีสร้างจุดเด่นให้กับธุรกิจของตนเองอย่างไร
คนทั่วไปในสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมืองเล็ก ๆ จะไม่ค่อยรู้จักนวดไทย ข้อดีคือไม่มีคู่แข่งขัน ข้อเสียคือต้องใช้เวลาในการให้ความรู้กับนวดไทยกับคนท้องถิ่นที่นี่ เราก็อาศัยการบอกปากต่อปากของลูกค้าและการเขียนรีวิวมาช่วยทางด้านการตลาด ดิฉันเน้นคุณภาพการบริการและฝีมือการนวด ก่อนจะจ้างหมอนวดคนใหม่ต้องมั่นใจว่าเขาต้องมีประสบการณ์ในการทำงานหลายปี และก็ต้องนวดดิฉันก่อนเพื่อจะดูว่าฝีมือผ่านมาตรฐานดิฉันหรือยัง ดิฉันก็จะได้คุยกับลูกค้าได้เต็มปากว่าพนักงานคนนั้นนวดดีจริง ๆ เทคนิคอะไรของเขา ที่โดดเด่น
กลยุทธ์ทางด้านราคาคือจะตั้งราคาสูงกว่าราคาทั่วไป ไม่ลดราคาบ่อย คือถ้าใครอยากได้คุณภาพก็ต้องมานวดร้านเรา แต่ถ้าเขาอยากได้ราคาถูกจะไปนวดที่อื่นก็ไม่เป็นไร เราตรึงราคาไว้สูงเพื่อที่จะได้กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังจ่ายจริง ๆ เพื่อความยั่งยืนธุรกิจ
มุมมองของแนวโน้มธุรกิจนวดสปาไทยในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
ดิฉันคิดว่าธุรกิจสปาไทยเพิ่งจะเริ่มต้นในสหรัฐฯ มลรัฐบางมลรัฐยังไม่มีนวดไทยด้วยซ้ำ มันเป็นตลาดที่น่าลงทุนมาก ๆ แต่เราต้องอย่ายึดติดและต้องคิดต่าง คืออย่ายึดติดกับคำว่านวดไทยต้องคนไทยเท่านั้น ไม่งั้นจะขยายตลาดยาก เพราะยังไงเราก็ยังต้องทำตามกฏหมายของมลรัฐนั้น ๆ พนักงานคนไทยหายากมาก ร้านควรจะมีนวดไทยเป็นจุดขาย แต่ก็ควรจะหาบริการอย่างอืนเสริมเพื่อเพิ่มรายได้นอกจากนวดไทยด้วย หรือไม่ก็เปิดเป็นนวดผสมระหว่างไทยกับตะวันตก ถ้าไม่ยึดติดกับคำว่าไทยแท้และดั้งเดิม บางทีแนวความคิดแบบดั้งเดิมมาก ๆ ก็ใช้ไม่ได้ที่สหรัฐฯ อย่างเช่นที่เมืองไทยจะใช้ผ้าม่านกั้นระหว่างลูกค้า แต่ที่นี่ลูกค้าต้องการความเป็นส่วนตัวสูงเขาจะชอบห้องนวดส่วนตัวมากกว่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับไอเดียของเราว่าจะเน้นขายแบบไหน ถ้าใครสนใจหรืออยากได้คำปรึกษาดิฉันยินดีช่วยค่ะ
แนวคิดที่อยากจะรวมตัวธุรกิจนวดสปาในฝั่งตะวันออก
ดิฉันเป็นอาสาสมัครให้ “สมาคมนวดไทยและสปาของสหรัฐอเมริกา” ซึ่งจัดตั้งอยู่แล้วที่แคลิฟอร์เนีย ตอนไปเรียนนวดที่จัดอบรมโดยสมาคมและสถานกงสุญใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ดิฉันก็ได้เจอกับประธานสมาคมฯ และคณะกรรมการบางท่าน ก็ได้พูดคุยกัน เลยมีความสนใจอยากจะช่วยงานสมาคมและช่วยประสานงานกับหมอนวดและร้านนวดในฝั่งตะวันออกให้เข้าร่วมกับสมาคมฯ มีความรู้สึกว่าร้านสปาไทยในฝั่งตะวันตกเขารวมตัวกันดีมาก ๆ เพื่อที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันและเขาก็เริ่มมานานแล้ว แต่ฝั่งตะวันออกยังไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมาย
วัตถุประสงค์การรวมตัวธุรกิจนวดสปาฝั่งตะวันออก มีดังนี้
- การให้คำที่ปรึกษาและช่วยเหลือกันในการดำเนินงาน ข้อกฏหมาย การจ้างงานและแหล่งเงินทุน
- การจัดอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งได้การสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงฯ ก็มีโครงการดี ๆ ที่จะช่วยวยการฝึกอบรม รวมทั้งเข้ามารับรู้ปัญหาสปาไทยในอเมริกา เราเลยต้องมีจุดศูนย์กลางในการติดต่อประสานงาน
- ต้องการเผยแพร่นวดให้ให้ชาวสหรัฐฯ ทางฝั่งตะวันออกรู้จักนวดไทยมากขึ้นและมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน
- มีศูนย์กลางในการประสานงานกับสมาคมนวดนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐอเมริกาทางฝั่งตะวันตก
- เป็นแหล่งให้ข้อมูลทางธุรกิจสปา หมายความว่า ถ้าใครอยากจะลงทุนเปิดร้าน เราก็มีข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ค่ะ
การรวมตัวธุรกิจนวดสปาฝั่งตะวันออกให้พัฒนาไปข้างหน้า
แนวทางในการพัฒนาก็คงจะเป็นไปตามนโยบายของสมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐอเมริกาคือ
- แก้ปัญหาเรื่องลูกจ้าง การขอใบอนุญาติที่มีข้อจำกัดมากขึ้น
- ขยายเครือข่ายทั่วอเมริกาและสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่น ๆ เผื่อจะได้ช่วยหมอนวดคนไทยที่ย้ายไปประเทศอื่นหรือเมืองอื่น ๆ ได้มีงานทำและมีฝีมือนวดตามมาตรฐานของสมาคม
- สร้างมาตราฐานร้านสปาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
- ช่วยเหลือการเทียบโอนหลักสูตรการเรียนจากระทรวงสาธารณสุขให้มีคุณภาพเท่าเทียมกับของอเมริกา เพื่อจะช่วยเหลือร้านนวดต่างๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน
- พัฒนาคุณภาพเรื่องการนวด ตลอดจนจัดอบรมพนักงานร้านนวดต่าง ๆ และเทียบฝีมือแรงงานให้เท่ากับมาตรฐานของเมืองไทย
ตอนต่อไป คุณชุติกาญจน์ฯ จะเล่าถึงอุปสรรค โอกาส และข้อคิดการทำธุรกิจนวดสปาในสหรัฐฯ ผู้สนใจโอกาสตลาดสปาในสหรัฐฯ อย่าลืมติดตาม