ตรวจสอบให้รอบคอบ ลดความเสี่ยงถูกหลอกลวงทางธุรกิจ

ตรวจสอบให้รอบคอบ ลดความเสี่ยงถูกหลอกลวงทางธุรกิจ

การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วและสื่อโฆษณาที่ผลิตได้ง่ายขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงส่งเสริมการทำธุรกิจข้ามพรมแดน ขณะเดียวกันก่อให้เกิดกรณีการหลอกลวงทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากการติดต่อซื้อ-ขายออนไลน์ สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ ในสหรัฐฯ ให้คำแนะนำต่อข้อร้องเรียนเบื้องต้นเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงทางธุรกิจ แต่ไม่สามารถแทรกแซง เข้าไปมีบทบาทเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจที่เกิดจากการเจรจาตกลงและยินยอมกันเองระหว่างคู่ค้าสองฝ่าย ตลอดจนดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้ จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบุคคล บริษัทคู่ค้า และเอกสารประกอบธุรกิจของคู่ค้าด้วยความระมัดระวังและรอบคอบตั้งแต่ต้นทุกครั้ง และให้ความสำคัญกับการจัดทำเอกสารซื้อ-ขายเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งการทำธุรกิจและธุรกรรมจะต้องเคารพกฎหมายไทยและกฎหมายสหรัฐฯ

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ สนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจบนพื้นฐานของความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือสู่การเพิ่มพูนความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทย

การตรวจสอบคู่ค้าฝ่ายสหรัฐฯ

นิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมายในสหรัฐฯ จะต้องจดทะเบียนกับรัฐบาลระดับรัฐ หน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจดทะเบียนนิติบุคคลในแต่ละรัฐแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน Secretary of State ซึ่งมีบริการสืบค้นข้อมูลทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์ แต่ละรัฐให้บริการรายละเอียดการจดทะเบียนนิติบุคคลแตกต่างกันออกไป อาทิ

ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น

  • เว็บไซต์ของบริษัท
  • ข้อคิดเห็นของคู่ค้า/ผู้รับบริการรายอื่น ๆ อาทิ เว็บไซต์ Better Business Bureau (BBB) มีฐานข้อมูลธุรกิจที่คัดกรองความน่าเชื่อถือไว้ชั้นหนึ่ง รวมถึงมีฐานข้อมูลมิจฉาชีพออนไลน์ตามที่ได้รับแจ้งจากผู้ที่ถูกหลอกลวง  (Scammer Trackers) ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ www.bbb.org/scamtracker
  • ข้อมูลใบอนุญาตหรือใบรับรองมาตรฐานในสาขาธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องในแต่ละรัฐ อาทิ จาก Department of Consumer Affairs ในรัฐแคลิฟอร์เนีย http://www.dca.ca.gov/consumer/wll.shtm
  • ฐานข้อมูลคดีออนไลน์ในระดับรัฐบาลกลาง (https://www.pacer.gov) ในระดับรัฐและในระดับเขต (county)
  • การเดินทางไปสำรวจบริษัทคู่ค้าด้วยตนเอง
  • การจัดจ้างบริษัทเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือเป็นการเฉพาะ

กรณีถูกหลอกลวงทางธุรกิจไปแล้ว

ผู้เสียหายที่ต้องการดำเนินคดีกับผู้หลอกลวง ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ ทั้งที่ไทยและที่สหรัฐฯ ด้วยตนเอง โดยเตรียมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อีเมลโต้ตอบ หลักฐานการโอนเงิน และหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัท (ถ้ามี)
ผู้เสียหายสามารถมอบอำนาจให้ผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาดำเนินการแทนได้ โดยเตรียมเอกสารเพิ่มเติม อาทิ หนังสือมอบอำนาจ สำเนาหนังสือเดินทางของผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทพร้อมลงนามรับรองเอกสาร

กรณีถูกหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต

ในสหรัฐฯ สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานกลางที่ดูแลอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า Internet Crime Compliant Center (IC3) เพื่อดำเนินการสอบสวนและส่งเรื่องร้องเรียนต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ร้องเรียนออนไลน์ต่อ IC3 ได้ที่ www.ic3.gov

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการร้องเรียนผ่านหน่วยงานดูแลผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Federal Trade Commission (FTC) ซึ่ง FTC จะรายงานกรณีการถูกหลอกลวงของผู้เสียหายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป www.ftccomplaintassistant.gov

ในประเทศไทย แจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน ณ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยติดต่อได้ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร B ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 หมายเลขโทรศัพท์ + 66 2142 2555-60 เว็บไซต์ https://tcsd.go.th

ข้อสงวน: ข้อมูลเป็นเพียงคำแนะนำในเบื้องต้น รายช่ือองค์กรข้างต้นเพื่อประโยชน์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ ไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการดำเนินงานขององค์กรแต่อย่างใด

1,786 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top