ผลการหารือความร่วมมือด้านยางพารา ระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ผลการหารือความร่วมมือด้านยางพารา ระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

Rubber Cooperation Dialogue between Thailand Indonesia Malaysia and Viet Nam

วันที่ 2 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมหารือกับฯพณฯ นายอาหมัด รัสดี เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ฯพณฯ นายเหงียน ไฮ บาง เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำประเทศไทย และนายโมฮัมหมัด ไฟซอล ราซาลี่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย  ในฐานะประเทศผู้ผลิตยางพาราที่มีปริมาณผลผลิตมาก 4 อันดับของโลก เพื่อติดตามมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกในภาพรวมตามที่ประเทศสมาชิกสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council: ITRC) ได้ตกลงกันไว้ และแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ผลการหารือสรุปได้ ดังนี้

1. ผลการดำเนินมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออก ครั้งที่ 5 (The 5th Agreed Export Tonnage Scheme (AETs) ของประเทศสมาชิกไตรภาคียางระหว่างประเทศ

จากสถานการณ์ราคายางธรรมชาติที่ลดต่ำลงมาที่ 150 เซ็นสหรัฐต่อกิโลกรัมในเดือนตุลาคม 2560 ทำให้ประเทศสมาชิก ITRC เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นสำหรับดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 โดยคาดว่ามาตรการนี้จะช่วยชะลออุปทานยางธรรมชาติ 3 ชนิดคือ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสมได้ประมาณ 350,000 ตัน โดยหลังจากการดำเนินมาตรการ มา 2 เดือน ราคายางธรรมชาติของไทยปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาดำเนินมาตรการในเดือนมีนาคม 2561 ประเทศไทยจะขอเชิญทุกประเทศหารือและสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง

2. การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศของเวียดนาม

เวียดนามได้แสดงความตั้งใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่ 4 ของ ITRC ตามคำเชิญของประเทศสมาชิก ITRC โดยเอกอัครราชทูตเวียดนามได้แจ้งว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามได้พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ITRC ซึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลเวียดนามแล้วจะแจ้งอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งต่อไป

3. การแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหายางพารา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญชวนที่ประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหายางพารา และนำเสนอแนวทาง การแก้ไขปัญหายางพาราเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางและพัฒนากลไกตลาดอย่างมั่นคงในระยะยาว ภายใต้หลักการ คือ การเพิ่มปริมาณความต้องการใช้และลดปริมาณผลผลิตให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมากที่สุด และเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ 5 มาตรการ คือ  

  • มาตรการภายในประเทศ คือ 1) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กพัฒนาแนวคิดและนวัตกรรมให้มีการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าที่มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องมือแพทย์ ที่นอน อุปกรณ์ที่ใช้ ในการรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลไทยสนับสนุนในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ 2) การให้ภาคราชการ และรัฐวิสาหกิจ นำเอายางธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบของสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย เช่น ถนน สระน้ำ บ่อน้ำ การทำสนามกีฬาขนาดเล็ก โดยมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศไม่น้อยกว่า 180,000 ตัน ซึ่งรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขให้ส่วนราชการซื้อยางธรรมชาติโดยตรงจากเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร 3) การไม่สนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราใหม่ โดยแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกสวนยางที่มีต้นยางครบอายุ 25 ปี ให้หันไปปลูกพืชอื่นหรือประกอบอาชีพอื่น โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกร
  • มาตรการที่สามารถดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศ คือ 1) การตั้งคณะกรรมการราคายางภายในประเทศ และการตั้งคณะกรรมการยางพาราระหว่างประเทศ โดยคณะกรรมการนี้ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านยาง ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง/ผู้ประกอบการ มีหน้าที่ในการหาข้อมูลต้นทุนการผลิต การแปรรูป และการส่งออกยางไปยังตลาดโลก รวมทั้งติดตามดูสถานการณ์และกลไกการตลาดยางพารา และอาจทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดราคารับซื้อยางและราคาส่งออกยาง หากแต่ละประเทศมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดราคายางที่เป็นธรรมภายในประเทศ และร่วมกันดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการระหว่างประเทศ จะสามารถนำความเป็นธรรมมาสู่เกษตรกร/ผู้ผลิต ในระดับภูมิภาค 2) การลดปริมาณผลผลิตยางพารา เช่น (1) การโค่นต้นยาง 1 ล้านไร่ ซึ่งมาตรการนี้อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การตัดต้นยางในแปลงออกครึ่งหนึ่งและปลูกพืชอื่นแทน (3) มาตรการชะลอการกรีดยาง (Tapping Holiday) 2 แนวทาง คือ หยุดกรีดยางเป็นเวลา 3 เดือนในพื้นที่ 3 ล้านไร่ ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น และหยุดกรีดยางทุกไร่ ในรูปแบบกรีดยาง 15 วัน หยุดกรีดยาง 15 วัน (จากเดิมกรีดยาง 20 วัน หยุดกรีด 10 วัน) ซึ่งอาจได้ผลที่ดีกว่าในระยะยาว

โดยที่ประชุมได้แสดงความสนใจในมาตรการบริหารจัดการอุปทาน และยินดีดำเนินการตามแนวทางใหม่ ๆ ร่วมกันผ่านความร่วมมือ ITRC ต่อไป

ขอบคุณบทความจาก: สำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Credit Photo: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

231 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top