รีวิวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สิ่งที่ร้านอาหารไม่ควรมองข้าม

รีวิวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สิ่งที่ร้านอาหารไม่ควรมองข้าม

สหรัฐฯ จัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมินัม เริ่ม 23 มี.ค. 61 นี้

ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของลูกค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (review site) แพลตฟอร์มออนไลน์ร้านอาหารเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทในชีวิตประจำวัน  สถิติจากบริษัทรับทำการตลาดออนไลน์  BrightLocal ระบุว่า ผู้บริโภคถึง 60% อ่านรีวิวก่อนที่จะเลือกร้านอาหาร เมื่อเทียบกับ 40% และ 30% ของผู้บริโภคที่อ่านรีวิวก่อนเลือกโรงแรมและหมอ ตามลำดับ

ลูกค้าส่วนใหญ่เชื่อรีวิวบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่าคำโฆษณาหรือข้อมูลที่จัดทำโดยร้านอาหาร บริษัท ReviewTrackers ผู้คิดค้นโปรมแกรมสำหรับติดตามคำแนะนำของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจ พบว่า 33% ของผู้บริโภคจะไม่ไปร้านอาหารที่ได้การจัดลำดับน้อยกว่า 4 ดาว จาก 5 ดาว

ผู้ประกอบการจึงควรติดตามรีวิวของลูกค้าเพื่อบริหารจัดการภาพลักษณ์ของธุรกิจได้อย่างทันท่วงที ต่อไปนี้คือ 3 แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารยอดนิยม

  • Yelp ก่อตั้งเมื่อปี 2547 ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย มีฐานข้อมูลรีวิวครอบคลุมธุรกิจหลายประเภทตั้งแต่ร้านอาหาร โรงแรม หมอ ไปจนถึงร้านซ่อมรถ จากบทความของบริษัท ReviewTrackers พบว่าผู้ใช้งาน Yelp ถึง 93 % ไปใช้บริการร้านอาหารหลังค้นหาร้านอาหารบนแพลตฟอร์มดังกล่าว
  • Google เป็นที่รู้จักในนามแพลตฟอร์มที่ใช้ค้นหาข้อมูล แต่ Google ยังมีระบบแสดงผลการรีวิวและจัดลำดับธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ด้วย ตั้งแต่เมื่อปี 2558 เริ่มมีผู้ใช้งาน Google รีวิวธุรกิจมากขึ้น ซึ่งรีวิวจากผู้ใช้จะปรากฏบนแพลตฟอร์มทั้งกูเกิ้ลเสิร์ช (Google Search) แผนที่กูเกิ้ล (Google Maps) และกูเกิ้ลพลัสสำหรับธุรกิจ (Google Plus Business)
  • TripAdvisor เป็นเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวที่มีฐานผู้ใช้บริการทั่วโลก คนส่วนใหญ่คิดว่า TripAdvisor เป็นแพลตฟอร์มรีวิวโรงแรม แต่จริง ๆ แล้ว TripAdvisor มีรีวิวของธุรกิจหลายประเภททั้งที่พัก ร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวกว่า 5 ล้านแห่ง TripAdvisor เก็บข้อมูลรีวิวจากผู้บริโภคมากกว่า 350 ล้านคน

นอกจากแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ทั้งสามข้างต้น ยังมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ใช้เขียนหรืออ่านรีวิวร้านอาหารอย่าง Facebook Zomoto (เดิมชื่อ Urbanspoon) และ OpenTable

ในการจัดการกับรีวิวนั้น ผู้ประกอบการควรอ่านและตอบรีวิวทั้งที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของธุรกิจที่มีต่อความคิดเห็นของลูกค้า ในกรณีรีวิวเชิงบวก ผู้ประกอบการสามารถส่งข้อความส่วนตัวขอบคุณลูกค้าที่แสดงความคิดเห็นโดยตรง ในกรณีรีวิวเชิงลบ ผู้ประกอบการควรแจ้งให้ลูกค้าทราบบนแพลตฟอร์มว่าทางร้านได้รับรู้ปัญหาแล้วและจะดำเนินการแก้ไข ต่อจากนั้น ผู้ประกอบการควรดำเนินการแก้ไขปัญหากับลูกค้ารายนั้นเป็นการส่วนตัวผ่านทางช่องทาง อาทิ ข้อความส่วนตัว โทรศัพท์ หรืออีเมล สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการควรเรียนรู้จากรีวิวเชิงลบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมในครั้งต่อไป

ที่มา:

ReviewTrackers: “16 Popular Review Websites Businesses Should Track”. By Migs Bassig, January 1, 2018

Foodnewsfeed: “How to Get More Online Reviews for Your Restaurant”. By Ford Blakely, March 2018

จัดทำโดย ศิวรี อินทรทัต

27 มีนาคม 2561

504 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top