สกุลเงินดิจิทัลในสหรัฐฯ ตอนที่ 1/3: สหรัฐฯ กับ Cryptocurrency
สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เป็นสกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและไม่สามารถจับต้องได้ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นสกุลเงินอิสระปราศจากการถูกควบคุมหรือกำกับดูแลโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลางประเทศใดประเทศหนึ่ง สกุลเงินดิจิทัลนี้กลายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ หรือเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
สกุลเงินดิจิทัลแลกเปลี่ยนกันด้วยเทคโนโลยีที่ชื่อว่า บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นรูปแบบ (database) ที่ได้รับการออกแบบให้ส่งข้อมูลหากันได้โดยที่ไม่มีศูนย์กลาง (decentralized) ข้อมูลจะได้รับการบันทึกไว้ในบล็อกที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีข้อมูลการทำธุรกรรมนั้น ๆ อยู่กับตัวเอง ทำให้ยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล เทคโนโลยีนี้จึงมีความปลอดภัยสูงและไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางมาควบคุมและตรวจสอบ
Bitcoin คือสกุลเงินดิจิทัลแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในโลกออนไลน์เมื่อปี 2552 โดยบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า “Satoshi” แม้จวบจนทุกวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า “Satoshi” เป็นใคร แต่ Bitcoin ยังคงเป็นสกุลเงินได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาสกุลเงินดิจิทัล
ในปัจจุบัน เงินดิจิทัลมีอยู่มากกว่า 1,300 สกุลเงิน โดยสกุลเงินที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรกคือ Bitcoin Litecoin Ethereum Dash และ Ripple
ตลาดสกุลเงินดิจิทัลยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางราคาที่ผันผวนเป็นอย่างมาก ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ 4.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงมาอย่างมากจากระดับ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนมกราคม 2561 ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากความกังวลที่ประเทศต่าง ๆ จะออกกฎระเบียบควบคุมการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัลเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนนอกเหนือระบบการเงินแบบดั้งเดิม (conventional financial system) ที่มีการควบคุมดูแล ในมุมมองของผู้กำกับดูแลด้านการเงินทั่วโลก มีความเป็นห่วงว่าประชาชนจะเลือกลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลที่มีความไม่แน่นอนสูงแต่ให้ผลตอบแทนสูงนี้ อีกทั้งยังกังวลว่า สกุลเงินดิจิทัลจะเป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเป็นช่องทางในการหลอกลวง หลบเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน หรือแม้กระทั่งสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มผู้การก่อการร้าย อย่างไรก็ดี ความกังวลเหล่านี้ยังไม่ได้แปรเปลี่ยนเป็นการมาตรการเพื่อกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลอย่างครอบคลุม
สหรัฐฯ แม้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจและเป็นประเทศที่มีตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากญี่ปุ่น แต่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ยังไม่กำหนดให้สกุลเงินดิจิทัลมีสถานะเป็นเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีกฎหมายรับรองให้สกุลเงินดิจิทัลสามารถชำระหนี้ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว