สกุลเงินดิจิทัลในสหรัฐฯ ตอนที่ 1/3: สหรัฐฯ กับ Cryptocurrency
Photo by: https://pixabay.com/photo-3029371/
เพราะว่าสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดให้สกุลเงินดิจิทัลมีสถานะเป็นเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงไม่มีบทบาทหรือกฎระเบียบมาควบคุมดูแล แต่ด้วยกระแสการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและราคาที่ผกผัน หน่วยงานที่มีอำนาจรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสหรัฐฯ จับตามองความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดิจิทัลอย่างใกล้ชิดและระแวดระวัง
แต่ละหน่วยงานภายใต้รัฐบาลกลางที่เกี่ยวข้องมองสกุลเงินดิจิทัลผ่านเลนส์ความรับผิดชอบของตนเองจึงตีความขอบข่ายที่จะต้องดูแลสกุลเงินดิจิทัลแตกต่างกันออกไป แม้จะมองต่างมุมต่างมิติกัน แต่มีแนวโน้มว่าหน่วยงานเหล่านี้จะออกกฎเกณฑ์หรือมาตรการการกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลที่ชัดเจนมากขึ้น
- กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (Department of Treasury)
นายสตีเฟน มนูชิน (Steven Mnuchin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงการคลังเฝ้าดูพัฒนาการของสกุลเงินดิจิทัลอย่างใกล้ชิด โดยติดตามความเคลื่อนไหวของการใช้สกุลเงินดิจิทัลโดยอาชญากรเป็นพิเศษ แม้ไม่น่าจะเป็นภัยต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่อยากให้มั่นใจว่าสกุลเงินดิจิทัลไม่ถูกใช้งานโดยผู้ประสงค์ร้ายและอยากให้นักลงทุนเข้าใจประเด็นปัญหาที่อาจมีสกุลเงินดิจิทัลเป็นต้นเหตุด้วย
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้จัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาภายใต้หน่วยงานที่เรียกว่า Financial Stability Oversight Council (FSOC) เพื่อสำรวจและจัดการกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางการเงิน โดยมีคณะทำงานเพื่อตรวจสอบกิจกรรมสกุลเงินดิจิทัล
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (U.S. Securities and Exchange Commission: SEC)
SEC ติดตามสกุลเงินดิจิทัลจากมุมมองการเป็น “หลักทรัพย์” (security) โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 SEC ได้ออกมาประกาศว่า แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัล (digital assets) ซึ่งรวมถึงการระดมทุนสกุลเงิน (initial coin offering: ICO) ที่เข้าข่ายนิยาม “หลักทรัพย์” ตามกฎหมายหลักทรัพย์ (federal securities law) จะต้องขึ้นทะเบียนกับ SEC
- หน่วยงานกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ (Commodity Futures Trading Commission: CFTC)
CFTC หน่วยงานอิสระภาครัฐที่มีบทบาทดูแลการฉ้อโกงหรือการแทรกแซงที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ CFTC มองว่า Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลเป็น “สินค้าโภคภัณฑ์” (commodities) ภายใต้ร่างกฎหมาย Commodity Exchange Act (CEA) CFTC ได้อนุญาตให้บริษัท LedgerX เป็นบริษัทแรกในการเปิดให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยน (trade) Bitcoin แบบตราสารอนุพันธ์ เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ( futures) และสัญญาใช้สิทธิซื้อขายล่วงหน้า (options)
- กรมสรรพากรสหรัฐฯ (Internal Revenue Service: IRS)
IRS ถือว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็น “สินทรัพย์” (property) ที่ผู้ถือครองมีหน้าที่รับผิดชอบในการเสียภาษีให้กับรัฐบาลกรณีที่ได้กำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขาย เช่นเดียวกันกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ทั้ง SEC และ CFTC ต่างก็ออกมาเตือนนักลงทุน (Main Street Investors) ให้ใช้ความรอบคอบและความระมัดระวังให้มากในการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะโครงการระดมทุนสกุลเงิน ICO ที่มีดาราฮอลลีวูดแถวหน้าร่วมลงทุน และให้ตระหนักว่าการทำธุรกรรมของสกุลเงินดิจิทัลเป็นการกระทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งอาจอยู่นอกอาณาเขตสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเกิดการฉ้อโกงขึ้น หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ อาจไม่สามารถปกป้องนักลงทุนได้ ขณะเดียวกัน ก็เตือนฝ่ายผู้ให้บริการในตลาดทุน (Market Professionals) ว่าควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่โดยไม่โฆษณาเกินจริง ซึ่งจะถือว่าผิดกฎระเบียบด้านการลงทุน
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 นายเจย์ เคลย์ตัน (Jay Clayton) ประธาน SEC และนายคริสโตเฟอร์ จิอันคาร์โล (Christopher Giancarlo) ประธาน CFTC ได้เข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการธนาคาร การเคหะ และพื้นที่เขตเมืองของวุฒิสภาสหรัฐฯ (Committee on Banking, Housing, and Urban Affairs United States Senate) เกี่ยวกับการควบคุมและกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
ทั้ง SEC และ CFTC มองว่า “Spot Market” ที่เป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนทันทีของสกุลเงินดิจิทัลอยู่นอกเหนืออำนาจการดูแลควบคุมของทั้งสองหน่วยงาน เบอร์หนึ่งของหน่วยงานทั้งสองมองว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ควรออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแล Spot Market นี้ และกฎหมายควรเพิ่มอำนาจการกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลแก่หน่วยงานรัฐ นายเคลย์ตันกล่าวว่า SEC และ CFTC กำลังร่วมมือกับธนาคารกลางสหรัฐฯ และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพื่อกำหนดกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัล
ขณะเดียวกัน ประธาน CFTC ได้เสนออีกมุมมองหนึ่งต่อคองเกรสในฐานะผู้ออกกฎหมายว่าการกำกับดูแลต้องเข้าใจหัวอกและยอมรับความสนใจของคนยุคใหม่ที่มีต่อเทคโนโลยีใหม่นี้ด้วยเช่นกัน (“We owe it to this new generation to respect their interest in this new technology with a thoughtful regulatory approach”) นั่นหมายถึง การออกกฎหมายที่เพียงพอที่จะสามารถควบคุมผู้ที่หวังหาผลกำไรหรือผู้ที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลผิดวัตถุประสงค์ แต่ไม่ใช่ออกกฎระเบียบที่เคร่งครัดมากเกินไป
ความเคลื่อนไหวข้างต้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ จับตามองและสอดส่องสกุลเงินดิจิทัล โดยมีแนวโน้มคืบคลานเข้าไปกำกับดูแลมากขึ้น