สกุลเงินดิจิทัลในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/3 : ความเคลื่อนไหวสู่การกำกับดูแลในระดับรัฐ?

สกุลเงินดิจิทัลในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/3 : ความเคลื่อนไหวสู่การกำกับดูแลในระดับรัฐ?

สกุลเงินดิจิทัลในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/3 : ความเคลื่อนไหวสู่การกำกับดูแลในระดับรัฐ?

นอกจากการติดตามสอดส่องในระดับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แล้ว ในแต่ละรัฐก็มีความพยายามในการออกกฎระเบียบมาควบคุมการทำธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลในระดับที่แตกต่างกันออกไป

บางรัฐได้ออกกฎหมายให้บริษัทใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้อย่างถูกกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น  รัฐแอริโซนาที่ออกกฎหมายเพื่อสนับสนุน “smart contracts” บนเทคโนโลยีบล็อกเชน มีใจความสำคัญว่าลายเซ็นที่เซ็นผ่านระบบบล็อกเชนและสัญญาที่เซ็นผ่านระบบบล็อกเชนมีผลได้ทางกฎหมาย เช่นเดียวกับ รัฐเวอร์มอนต์ที่ผ่านร่างกฎหมายยอมรับการใช้งานของเทคโนโลยีบล็อกเชน รัฐที่ถือว่านำหน้าในการออกกฎหมายกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลกว่ารัฐอื่น ๆ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย เนวาดา ไวโอมิง โคโลราโด อิลลินอยส์ เทกซัส และนิวยอร์ก

นอกจากภาครัฐแล้ว แวดวงนักกฎหมายก็ให้ความสำคัญกับการวางกฎระเบียบเพื่อดูแลตลาดสกุลเงินดิจิทัลเช่นกัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 Uniform Law Commission ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไรและเป็นกลาง ได้มีข้อเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลเรียกว่า Regulation of Virtual-Currency Business Act ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายที่จัดทำร่างกฎหมายภายใต้ American Bar Association (ABA)

ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอขึ้นมาเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละรัฐนำไปพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายของรัฐ โดยสามารถนำไปแก้ไขและปรับใช้ตามความเหมาะสม ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดแนวทางการควบคุมธุรกิจที่ให้บริการสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการเสนอผลิตภัณฑ์ การให้บริการซื้อขาย การแลกเปลี่ยน-โอน สกุลเงินดิจิทัล

ข้อเสนอกฎหมายดังกล่าวแบ่งธุรกิจให้บริการสกุลเงินดิจิทัลเป็นสามระดับตามมูลค่าของการทำธุรกรรม ระดับที่หนึ่งคือธุรกิจที่มีธุรกรรมด้านสกุลเงินดิจิทัลน้อยกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งจะได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนด ระดับที่สองคือธุรกิจที่มีธุรกรรมด้านสกุลเงินดิจิทัลมากกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐแต่ไม่เกิน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งไม่ต้องขอใบอนุญาตแต่ต้องจดทะเบียน ระดับที่สามคือธุรกิจที่มีธุรกรรมด้านสกุลเงินดิจิทัลเกิน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะต้องขอใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ และอยู่ภายใต้ข้อกำหนดกำกับดูแลเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี จวบจนเดือนมีนาคม 2561 ยังไม่มีรัฐไหนออกกฎหมายโดยใช้แนวทางนี้

ในการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม 2561 สกุลเงินดิจิทัลเป็นหัวข้อหนึ่งในการประชุมฯ สะท้อนถึงความสำคัญที่ประเทศใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้กับการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัล โดยได้นิยามสกุลเงินดิจิทัลในมุมที่กว้างกว่าว่าเป็นสินทรัพย์ทางดิจิทัล (crypto-assets) ที่อาจมีนัยสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินได้ จึงต้องติดตามสอดส่องดูแล แต่ก็ไม่ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะกำกับดูแลอย่างไร

หัวใจสำคัญที่ทำให้สกุลเงินดิจิทัลน่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนคือการที่สกุลเงินดิจิทัลถูกออกแบบให้ไม่มีตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เสมือนเป็นอิสระจากการควบคุม แนวโน้มที่รัฐบาลแต่ละประเทศรวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าไปควบคุมสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น อาจจะทำให้ตลาดสกุลเงินดิจิทัลมีความสั่นคลอนและอาจสูญเสียความพิเศษนี้ไป

การกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลในสหรัฐฯ จึงยังเป็นคำถามปลายเปิดที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด

จัดทำ          ศิวรี อินทรทัต

เรียบเรียง    รัชดา สุเทพากุล

345 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top