งานประชุม Future of the Automobile Conference 2018 มองอนาคตโลกแห่งยานยนต์ไร้คนขับ
Photo Credit : futureoftheautomobile.org
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 องค์กรอิสระสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส (Los Angeles World Affairs Council) ร่วมกับพิพิธภัณฑ์รถยนต์ปีเตอร์เซน (Petersen Automotive Museum) จัดการประชุมว่าด้วยอนาคตของยานยนต์ (Future of the Automobile Conference) ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่พิพิธภัณฑ์รถยนต์ปีเตอร์เซน ณ นครลอสแอนเจลิส วิทยากรรับเชิญกว่า 25 คน ล้วนเป็น “ตัวจริง เสียงจริง” ในอุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน ที่เป็นคนทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ บุคลากรภาครัฐ คณาจารย์และนักศึกษา เสียงส่วนใหญ่ฟันธงว่ารถยนต์ไร้คนขับเป็นเทรนด์ที่มาแน่ ซึ่งทุกฝ่ายรวมถึงภาครัฐต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี
วิทยากรที่เข้าร่วมสัมมนาฯ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Autonomous Vehicle หรือ AV) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญจนถึงขั้นแทนที่รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง (combustion engine) เนื่องจากมีประสิทธิภาพกว่า ปลอดภัยกว่าและทำให้ต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยเฉพาะในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานและกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานของการพัฒนา AV โดย AV จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ทั้งในเรื่องวิถีการดำรงชีวิต/ไลฟ์สไตล์ และเรื่องการจ้างงาน
ทุกภาคส่วนมีหน้าที่ของตนเองที่จะเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นี้ เพื่อลดผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมโดยส่วนรวม การประชุมฯ ยังชูประเด็นที่น่าในใจ ดังนี้
- Cloud computing และ Big Data ถือเป็นเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักของการนำ AV มาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยผู้ที่จะเป็นผู้นำ หรือกำหนดตลาด คือ ผู้ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีประมวลผลการทำงานของระบบต่าง ๆ ในรถ AV แต่ละคันได้แบบ real-time และเชื่อมต่อกับข้อมูลจราจรของภาครัฐได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
- แรงส่งให้สังคมใช้ AV (Forced adoption) ด้วยหลายปัจจัย เช่น การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ความต้องการเรื่องการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายเพิ่มมากขึ้น นโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศ ความจำเป็นบังคับเฉพาะในพื้นที่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงค่านิยมของคนในประเทศ เป็นต้น
- ประเทศพัฒนาแล้วที่มีความพร้อมในการใช้ AV ก่อน สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ในช่วงต้น ๆ จะยังคงใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงต่อไป และจะเป็นตลาดของรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงมือสองที่ประเทศพัฒนาไม่ใช้แล้วด้วย อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่อาจหลีกหนีความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ โดยจะเริ่มจากการใช้ EV ก่อน
- AV สร้างสังคมแห่งคนไม่ต้องการครอบครองรถ ในสังคมแห่งการใช้ AV คนจะไม่เห็นความจำเป็นที่จะมีรถเป็นของตนเองอีกต่อไป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและไม่สะดวกเท่า ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ประกอบการจึงต้องหาทางรับมือกับค่านิยมที่จะเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว
- การก้าวขึ้นมาของ AV จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์อาจจะเป็น บริษัทประกันภัยรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง ธุรกิจล้างรถ ฯลฯ ซึ่งหากไม่มีมาตรการรับมือให้ดี ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมและกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองต่อไป อย่างไรก็ดี มีการโต้แย้งว่า หากพิจารณาถึงโอกาสที่เกิดจาก AV อย่างถี่ถ้วน อาชีพที่เกิดใหม่จาก AV จะมีมากกว่าอาชีพที่ถูกทำลายไป ขอเพียงแต่ต้องมีการเตรียมพร้อมบุคลากรเหล่านั้นไว้
- การใช้ AV จะทำให้ภาครัฐได้รายได้ลดลง ในปัจจุบัน ภาครัฐของหลายประเทศพึ่งพารายได้หลักจากการเก็บภาษีที่ได้จากอุตสาหกรรมรถยนต์และที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากการครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ในอนาคต AV จะทำให้รายได้ภาครัฐส่วนนี้ลดลง ซึ่งรัฐบาลของประเทศที่สามารถกำหนดนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนรายได้ภาครัฐที่ต้องใช้ในการให้บริการสาธารณะด้านอื่นๆ
- ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้าง ecosystem และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการนำ AV มาใช้จริง แต่มีประเด็นที่ท้าทายคือ ต้องสร้างกฎที่มีสมดุลระหว่างความปลอดภัย ความสงบสุขของคนในสังคม และการไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม
- การใช้เชื้อเพลิง จะค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป โดยเฉพาะน้ำมัน อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้จนถึงยุคแห่ง EV และ AV อย่างแท้จริง ก๊าซธรรมชาติจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้น
แหล่งข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส