ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันมาใส่ใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด รายงานของหน่วยวิจัย Economic Research Service (ERS) สังกัดกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันได้รับพลังงานจากน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาถึง 14%

พฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสหรัฐฯ ปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำและปลอดภัยต่อสุขภาพ ภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้ผลิตสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ขณะที่ภาครัฐได้ประกาศขยายโควตาการนำเข้าน้ำตาลออร์แกนิคจากทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำตาลออร์แกนิคที่มีมากกว่ากำลังผลิตในประเทศ
ผลิตภัณฑ์แทนความหวานที่ให้พลังงานต่ำที่น่าสนใจในตลาดสหรัฐฯ ปัจจุบันหลักๆ ได้แก่ น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohols) และสารให้ความหวานธรรมชาติ (Natural Sweeteners) มาลองทำความรู้จักเพิ่มเติมกัน
น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohols)
น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohols) หรือ โพลิไฮดริกแอลกอฮอล์ (Polyhydric alcohol) เป็นสารให้ความหวานที่สกัดมาจากผักและผลไม้ธรรมชาติ มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับน้ำตาลผสมกับแอลกอฮอล์ แต่จะไม่มีสารเอลทานอล (Ethanol) ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการเมาเหมือนตอนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังให้พลังงานน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำตาล
อุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐฯ นำน้ำตาลแอลกอฮอล์มาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ประเภทขนมหวานและขนมขบเคี้ยว โดยติดฉลากสินค้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปราศจากน้ำตาล ("sugar free" หรือ "no sugar added") ตัวอย่างน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่นิยมใช้ ได้แก่ Erythritol, Maltitol, Sorbitol, Xylitol
สารให้ความหวานธรรมชาติ (Natural Sweeteners)
วัตถุดิบให้ความหวานที่กำลังเป็นที่นิยมอีกอย่างหนึ่งคือสารให้ความหวานที่สกัดมาจากธรรมชาติแต่ไม่ให้พลังงาน พืชที่กำลังได้รับความนิยมคือ หญ้าหวาน (Stevia) และหล่อฮั้งก้วย (Monk Fruit)
- หญ้าหวาน (Stevia Leaf) ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นสารให้ความหวานที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับรองไว้เมื่อปี 2551 ว่าให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า ซึ่งเมื่อสกัดเป็นสาร Stevia จะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า และยังเป็นความหวานที่ไม่ให้พลังงานอีกด้วย
- หล่อฮั้งก้วย (Monk Fruit) หล่อฮั้งก้วยให้ความหวานแทนน้ำตาลเช่นเดียวกับหญ้าหวาน องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับรองไว้เมื่อปี 2552 ว่าความหวานของผลหล่อฮั้งก้วยหวานกว่าน้ำตาลถึง 150-300 เท่า เมื่อเทียบกับหญ้าหวาน หล่อฮั้งก้วยมีกลิ่นที่หอมหวานกว่า จึงทำให้ปัจจุบันมีการนำหล่อฮั้งก้วยมาใช้แทนน้ำตาลอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก


ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานในตลาดสหรัฐฯ




พฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันได้เปลี่ยนแปลงไป ชาวอเมริกันต้องการสารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำและไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ ตลาดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เติมน้ำตาลในสหรัฐฯ ได้ปรับตัวอย่างทันท่วงทีเพื่อต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว กระแสคนรักสุขภาพไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอเมริกาแต่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เทรนด์สารให้ความหวานทางเลือกในสหรัฐฯ จึงน่าศึกษาและติดตาม สารให้หวานเป็นตลาดที่ใหญ่เพราะรสชาติความหวานจำเป็นต่ออาหารและเครื่องดื่มไม่ว่าจะสัญชาติใด ในเมื่อประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพอยู่มาก น่าจะยังมีโอกาสในส่วนแบ่งในตลาดสารให้ความหวานทางเลือกอยู่อีกมากเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.