โอกาสตลาดสินค้าออร์แกนิคในสหรัฐฯ

Organic Food

ภาพรวมตลาดสินค้าออร์แกนิคในสหรัฐฯ

อาหารออร์เเกนิค หรือ Organic Food ในตลาดสหรัฐฯ หมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี สารเร่งการกระตุ้นการเจริญเติบโต การฉายรังสี หรือ ยาฆ่าเเมลงใด ๆ ทั้งสิ้น สินค้าออร์แกนิคในสหรัฐฯ เป็นตลาดที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สมาคมการค้าสินค้าออร์แกนิค (Organic Trade Association) ได้รายงานว่า ในปี 2561 ยอดจำหน่ายสินค้าออร์แกนิคมีมูลค่ารวม 52.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 6.3% และยอดขายได้เพิ่มขึ้นทุกปีตั้งเเต่ปี 2543 ที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture: USDA) ได้เริ่มออกมาตราฐานการผลิตอาหารออร์เเกนิค

ผลสำรวจของสมาคมการค้าสินค้าออร์แกนิคเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติของชาวอเมริกันต่อการบริโภคสินค้าออร์แกนิค ในปี 2560 ยังพบว่า กลุ่มลูกค้าหลักของสินค้าออร์แกนิคคือกลุ่มวัยรุ่นในศตวรรษที่ 21 หรือกลุ่มผู้บริโภคมิลเลียนเนียล (Millennials) และในการสำรวจเดียวกันยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคสินค้าออร์แกนิคกับการเลี้ยงดูบุตรที่พ่อแม่สมัยใหม่นั้นนิยมเลือกสินค้าที่ปลอดการใช้สารเคมี ฮอร์โมน หรือยาฎิชีวนะ ให้กับลูกและครอบครัว  กลุ่มมิลเลียนเนียลกำลังจะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และในอีก10-15 ปีข้างหน้า 80% ของกลุ่มมิลเลียนเนียลเป็นพ่อหรือแม่ นั้นหมายความว่าตลาดสินค้าออร์แกนิคอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงและจะเติบโตอย่างมาก

กลุ่มมิลเลียนเนียลต้องการให้ห่วงโซ่อาหาร (supply chain) มีความความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันเชื่อถือในสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ USDA Organic เพราะคือตราที่บอกว่าสินค้าผ่านการรับรองจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และเป็นตราสัญลักษณ์เดียวที่บ่งบอกว่าสินค้านั้นไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (non-GMO) ไม่มียาฆ่าแมลง การย้อมสี หรือการใช้สารกันบูด

จากผลสำรวจผู้บริโภค 39% ของชาวอเมริกันกล่าวว่าอาหารที่ทานในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นอาหารออร์เเกนิคในขณะที่ 61% ระบุว่าทานอาหารออร์เเกนิคบ้างเป็นบางครั้ง ในรายงานจาก Pew Research Center ระบุว่าผู้บริโภคอาหารออร์เเกนิคส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงขึ้นไป

เนื่องจากชาวอเมริกันหันมาใส่ใจด้านอาหารการกินโดยเฉพาะอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีใด ๆทั้งสิ้น นักธุรกิจเเละนักลงทุนจึงหันมาทำธุรกิจเชิงอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

ในปี 2562   6% ของอาหารที่ขายทั้งหมดในสหรัฐฯ เป็นอาหารออร์แกนิค ตลาดสินค้าอาหารออร์แกนิคที่มีมูลค่าสูงสุดคือผักและผลไม้ (17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561) รองลงมาคือนมและผลิตภัณฑ์จากนม  นอกจากนี้ ในด้านเครื่องดื่มออร์แกนิค อย่างเช่น น้ำผลไม้สด นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง นมมะพร้าว นมข้าว และนมที่ไม่ได้มาจากสัตว์ ก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ผลสำรวจของสมาคมการค้าสินค้าออร์แกนิค ยังระบุว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารเด็กแรกเกิดและอาหารเด็กว่าจะต้องซื้อที่เป็นสินค้าออร์แกนิค และยังมองว่ามีความสำคัญมากกว่าการซื้อผักและผลไม้ที่เป็นออร์แกนิคอีกด้วย

จะเข้าตลาดออร์แกนิคสหรัฐฯ ต้องได้มาตรฐาน USDA organic

ผู้ประกอบการไทย ที่สนใจจะส่งออกสินค้าออร์แกนิคมาขายในตลาดสหรัฐฯ จะต้องปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิต การจัดการ ให้เข้ากับหลักเกณฑ์การเป็นสินค้าออร์แกนิค พร้อมควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามกฎของ USDA และต้องทำการขอใบรับรองจากผู้ที่สามารถออกใบรับรองให้ได้ตามกฏหมาย  (Certifying agent) เพื่อให้สามารถปิดฉลากอย่างถูกกฎหมายว่าเป็นสินค้าออร์แกนิคได้

การขอประกาศนียบัตรรับรองสินค้าออร์แกนิคตามมาตรฐาน USDA สามารถทำได้ 2 วิธีการ ดังนี้

1. การขอมาตรฐานของ USDA

สำหรับวิธีการนี้ผู้ประกอบการจะต้องขอใบรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก USDA ให้เป็นตัวแทนในการตรวจสอบและออกใบรับรองตามมาตรฐานของ USDA  ซึ่งหน่วยงานที่สามารถให้การตรวจสอบรับรองสินค้าจากไทย ณ ปัจจุบัน ได้แก่

หน่วยตรวจรับรองที่อยู่ในประเทศไทย

หน่วยตรวจรับรองจากต่างประเทศที่สามารถดำเนินการในประเทศไทย

2. การขอตามมาตรฐานระดับนานาชาติ

USDA ได้ทำข้อตกลงความเทียบเท่าด้านอินทรีย์ (Organic equivalency) ไว้กับบางประเทศ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มการเข้าถึงตลาดสินค้าออร์แกนิคทั่วโลก โดยในข้อตกลงระบุไว้ว่า สินค้าออร์แกนิคที่ได้รับการรับรองจากประเทศหนึ่งสามารถนำไปขายในอีกประเทศหนึ่งในฐานะสินค้าออร์แกนิคได้เช่นกัน ในปัจจุบัน USDA รับรองความเทียบเท่าด้านออร์แกนิคกับของแคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสวิสเซอร์แลนด์

 ไทยยังไม่ได้ทำข้อตกลงความเทียบเท่าด้านอินทรีย์กับสหรัฐฯ โดยตรง แต่สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท) ของไทยได้ทำข้อตกลงความเทียบเท่าด้านอินทรีย์กับแคนาดาเอาไว้ ผู้ประกอบการที่สนใจจะนำเข้าสินค้าสู่ตลาดออร์แกนิคสหรัฐฯ จึงสามารถใช้ช่องทางการได้รับการรับรองโดยแคนาดา เพื่อให้ได้การรับรองโดย USDA ของสหรัฐฯ โดยไม่ต้องมีการตรวจประเมินเพิ่ม ยกเว้นในกรณีของผลผลิตจากสัตว์เกษตรอินทรีย์ที่จะต้องมีการตรวจเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่ม

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าออร์แกนิค

นอกเหนือจากตรามาตรฐาน USDA Organic แล้ว กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ บริหารจัดการสินค้าออร์แกนิคในตลาดสหรัฐฯ ภายใต้ National Organic Program (NOP) NOP กำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานปฏิบัติสำหรับสินค้าออร์แกนิคที่ขายในสหรัฐฯ สินค้าที่จัดเป็นออร์แกนิคต้องเป็นสินค้าไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือฆ่าเชื้อโรคโดยการฉายรังสี หากเป็นพืชผักก็ต้องปลูกด้วยดินที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยมูลสัตว์ เนื้อสัตว์และไข่ต้องมาจากสัตว์ที่ไม่ใช้ฮอร์โมนช่วยในการเติบโตและไม่ใช้ยาฏิชีวนะ ยกเว้นการให้อาหารเสริมประเภทวิตามินหรือแร่ธาตุ รวมทั้งต้องได้รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารสัตว์ที่เป็นออร์แกนิคด้วย

นอกเหนือจากกฏระเบียบที่ NOP กำหนด การนำสินค้าออร์แกนิคประเภทต่าง ๆ เข้าไปขายในตลาดสหรัฐฯ ยังคงต้องปฏิบัติตามกฏที่เกี่ยวข้องที่หน่วยงานอื่นกำหนดไว้ควบคู่กัน อาทิเช่น ผู้ประกอบการจะต้องทำตามกฎระเบียบของ NOP ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานการปิดฉลากสินค้าออร์แกนิค ควบคู่ไปกับระเบียบการทำฉลากหรือบอกส่วนประกอบสินค้าอาหารขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S. Food and Drug Administration: USFDA) หรืออย่างเช่นการนำเข้าเครื่องสำอางออร์แกนิค ก็จะต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นออร์แกนิคตามกฏของ NOP ขณะที่ยังคงต้องสอดคล้องกับระเบียบของ USFDA ควบคู่กันไป

งานแสดงสินค้าออร์แกนิคในสหรัฐฯ

ในสหรัฐฯ มีการจัดการแสดงสินค้าออร์แกนิคหลากหลายงาน ผู้ประกอบการอาจพิจารณาเข้าร่วมงานเพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งงานระดับประเทศที่จัดเป็นประจำทุกปี ได้แก่

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดสินค้าออร์แกนิค กฎระเบียบสินค้าออร์แกนิค และการขอใบอนุญาต ได้ที่นี่

ขอบคุณที่มาของข้อมูล
www.ota.com
www.ams.usda.gov
www.thaitradeusa.com
www.actorganic-cert.or.th

2,916 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top