อาหารทดแทนจากพืชที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ

อาหารทดแทนจากพืช

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากระแสความนิยมบริโภคสินค้าอาหารทดแทนจากพืช (Plant-Based Foods) ในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสินค้าดังกล่าวในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนในกิจการมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการวิจัยและพัฒนา สินค้ารายการใหม่ ๆ ออกวางจำหน่ายในตลาดเพื่อรองรับกระแสความต้องการบริโภคสินค้าของกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในตลาดต่างแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ากระแสความนิยมบริโภคสินค้าอาหารทดแทนจากพืชในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจะกลายเป็นตลาดสินค้าอาหารกระแสหลักในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณการบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มกลุ่มเนื้อสัตว์ (Meat) และผลิตภัณฑ์จากนม (Diary) ในตลาดปรับตัวลดลงด้วย

จากรายงานข้อมูลภาวะสินค้าอาหารในตลาดโดย The Good Food Institute แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายปลีกสินค้าอาหารทดแทนจากพืชในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าอาหารทดแทนผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์โดยตรง มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31 เป็นมูลค่าทั้งสิ้นเกือบ 4.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2562) โดยสินค้านมจากผลิตภัณฑ์พืช (Plant-Based Milk) มีสัดส่วนตลาดสูงที่สุดเป็นมูลค่า 1.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นสินค้าเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืช (Plant-Based Meat) มูลค่า 801 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าเครื่องดื่มพร้อมดื่ม (Ready-To-Drink Beverages) มูลค่า 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย UBS ยังคาดว่า แนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าอาหารทดแทนจากพืชและสินค้าอาหารเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืชในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องทำให้มูลค่าตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็น 8.50 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 โดย หากคิดเฉพาะกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์นมจากพืชจะมีมูลค่าตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568

ปัจจุบันผู้ประกอบการในตลาดต่างหันความสนใจไปพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มกลุ่มทดแทนจากพืชมากขึ้น เช่น บริษัท Hershey ผู้ผลิตสินค้าช็อคโกแลตรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะวางตลาดสินค้าเนื้อแห้งสำหรับทานเล่น (Jerky) ที่ผลิตด้วยวัตถุดิบทดแทนจากพืชภายใต้แบรนด์ “Krave” ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าที่บริษัทฯ ได้ควบรวมกิจการมาเมื่อปี 2558 โดยล่าสุดบริษัท Kroger ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ ก็ได้เข้าสู่ตลาดสินค้าอาหารทดแทนจากพืชด้วยเช่นเดียวกัน โดยได้เปิดตัวแบรนด์สินค้า “Simple Truth Emerge” จำหน่ายสินค้าอาหารทดแทนเนื้อสัตว์จากถั่วที่ให้ปริมาณโปรตีน 20 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าอาหารทดแทนจากพืชภายใต้แบรนด์ดังกล่าวอีกประมาณ 50 รายการภายในปีนี้ด้วย ข้อมูลศูนย์วิจัย Barclays ระบุว่า ตลาดสินค้าเนื้อสัตว์ทดแทน (Alternative Meats) ทั่วโลกจะมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในทศวรรษหน้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสำคัญส่งเสริมให้ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในตลาดตัดสินใจขยายขนาดกิจการขึ้นเพื่อรองรับตลาดในอนาคต เช่น บริษัท Roquette ผู้ผลิตโปรตีนจากถั่วจำหน่ายให้กับบริษัท Beyond Meat ผู้ผลิตสินค้าโปรตีนทดแทนจากพืชที่ได้ประกาศเพิ่มปริมาณจำหน่ายสินค้าให้บริษัท Beyond Meat ภายใน 3 ปีข้างหน้า และบริษัท “Califia Farm” ผู้ผลิตสินค้านมจากผลิตภัณฑ์พืชที่ได้ประกาศเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการอีกเป็นมูลค่า 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นต้น

นอกจากกลุ่มสินค้าอาหารประเภทเนื้อสัตว์และนมทดแทนจากพืชแล้ว กลุ่มสินค้าวัตถุดิบการปรุงอาหารประเภทอื่น ๆ ก็กำลังมีแนวโน้มก้าวเข้าสู่กระแสสินค้าอาหารทดแทนจากพืชเช่นเดียวกัน เช่น ข้าว และเส้นพาสต้า เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อว่าให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าอาหารทั่วไป เช่น คาร์โบไฮเดรตต่ำ พลังงานต่ำ และมีไฟเบอร์สูง เป็นต้น ปัจจุบันสินค้าอาหารทดแทนข้าว (Rice Alternatives) เช่น ข้าวจากดอกกะหล่ำ (Cauliflower Rice) ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยอดจำหน่ายสินค้าทดแทนข้าวที่ผลิตจากผัก (Vegetable-Added Rice) แบรนด์ “RightRice” ที่มียอดจำหน่ายปลีกในตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในปีที่ผ่านมา Mr. Keith Belling ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท RightRice กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ค่อนข้างน่าสนใจที่ตลาดสินค้าอาหารทดแทนจากพืชได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ผู้บริโภคในตลาดยังมีแนวโน้มที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้บริโภคอาหารทดแทนจากพืช (Plant-Based) มากกว่าเป็นมังสวิรัติ (Vegan) และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสินค้าอาหารทดแทนจากพืชเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาหารหลักในการบริโภคอีกด้วย ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดตัวสินค้ารายการใหม่ “RightRice Medley” ซึ่งเป็นสินค้าข้าวผลิตจากผักและถั่วผสมกับธัญพืชที่ให้ประโยชน์ทางโภชนาการ เช่น คินัว ซอร์กัม และผักชนิดอื่น ๆ โดยอ้างว่าให้สารอาหารโปรตีน 8 กรัม และไฟเบอร์ 5 กรัมต่อปริมาณบริโภคหนึ่งหน่วย นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทฯ ยังอาจจะมีแผนดำเนิน ธุรกิจร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่นในการพัฒนาตลาดสินค้าใหม่ ๆ เพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต่อไป

ในส่วนของผู้ประกอบการไทยนั้น กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทดแทนจากพืชอาจจะฟังดูเหมือนเป็นตลาดสินค้าใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ประกอบการไทยหลายรายมีความคุ้นเคยอยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวบางรายการสินค้าอยู่แล้ว โดยเฉพาะรายการสินค้าที่เกี่ยวกับอาหารมังสวิรัติ เช่น น้ำนมถั่วเหลือง นมผงถั่วเหลือง นมจากมะพร้าว น้ำนมข้าว นมจากธัญพืชอื่น ๆ และโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น อีกทั้ง ประเทศไทยยังมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะเป็นแหล่งเพาะปลูกวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทดแทนจากพืชหลายชนิดทั้งถั่วเหลือง ข้าว และธัญพืชอื่น ๆ ดังนั้น แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าวจึงถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดไปสู่กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทดแทนจากพืชสำหรับผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ ในส่วนของแนวโน้มความนิยมในการบริโภคข้าวที่เริ่มปรับตัวลดลงจากกระแสความกังวลในการบริโภคคาร์โบไฮเดรตในตลาดสหรัฐฯ นั้น ยังไม่น่าที่จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยมากนัก เนื่องจากกระแสความนิยมดังกล่าวยังคงอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันผิวขาวเป็นหลัก ในขณะที่ผู้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียที่อพยพไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ หรือผู้ประกอบการร้านอาหารเอเชียในสหรัฐฯ เป็นหลัก

โดยในระยะแรกสินค้าไทยที่น่าจะมีศักยภาพในการทำตลาดในสหรัฐฯ ได้ทันทีน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มน้ำนมทดแทนจากพืช เช่น นมจากข้าว นมถั่วเหลือง นมจากมะพร้าว และนมจากธัญพืชอื่น ๆ รวมถึงสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบในการสนับสนุนการแปรรูป เช่น ถั่วเหลือง มะพร้าว ซอกัม ข้าว และธัญพืชที่ให้ประโยชน์และไฟเบอร์ในปริมาณสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในระยาวผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มอย่างจริงจังตั้งแต่การศึกษาคุณลักษณะเด่นของวัตถุดิบทางการเกษตรของไทยที่อาจจะสามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าสำหรับตลาดดังกล่าวไปจนถึงการพัฒนากระบวนการแปรรูปให้เป็นสินค้าสำหรับการบริโภคโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านคุณค่าทางสารอาหารที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญเป็นหลัก เช่น โปรตีน และไฟเบอร์ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทดแทนจากพืชในอนาคต นอกจากนี้ การให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกในลักษณะเชิงรุก เช่น การสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเฉพาะกลุ่มสินค้าในประเทศเป้าหมาย รวมถึงสร้างโอกาสในการพบปะเจรจาการค้าในเวทีการค้าในระดับโลก เช่น งานแสดงสินค้า THAIFEX – Anuga Asia โดยจัดให้มีพื้นที่การแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนวัตกรรมทดแทนจากพืชและเชิญผู้ประกอบการรายสำคัญในอุตสาหกรรมเดินทางเข้าร่วมงานฯ จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดสินค้าดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

..ขอขอบคุณข้อมูลจาก สคต.ไมอามี

3,642 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top