เพราะในทุกวิกฤติมีโอกาส ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่รุนแรงและส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ธนาคารโลกได้ประมาณการไว้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2563 จะหดตัวถึงร้อยละ 5.9 ธุรกิจทั่วสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ลำบากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านแบบดั้งเดิมในสหรัฐฯ จำต้องปิดร้านนานหลายสัปดาห์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธุรกิจหลายแห่งอาจต้องถึงกับปิดตัวลงไปจากการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ แต่ในวิกฤตินี้ กลับปรากฏโอกาสการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงมากขึ้นและมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นาย Jed Kolko หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัท Indeed กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกจากช่องทางเดิมไปสู่ช่องทางออนไลน์กําลังเกิดขึ้นอยู่แล้วในตลาดสหรัฐฯ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อปี 2562 การค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ในสหรัฐฯ มีมูลค่าทั้งสิ้น 6.02 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.99 ของยอดจําหน่ายสินค้าปลีกทั้งหมดในสหรัฐฯ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเหมือนแรงกระตุ้นที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น Mr. Malcolm Pinkerton ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด บริษัท Kantar เห็นพ้องว่า สถานการณ์ COVID-19 เป็นโอกาสสําหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่จะปรับกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดค้าปลีก และเชื่อว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะยังคงเลือกบริโภคสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่อเนื่อง แม้หลังจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
ในช่วงที่สถานการณ์ยังปรกติเมื่อปี 2562 กลุ่มสินค้าที่ขายได้ผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ หนังสือ เพลง และภาพยนตร์ (ร้อยละ 21.48) รองลงมา ได้แก่ สินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 16.71) สินค้าของเล่น (ร้อยละ 14.40) สินค้าแฟชั่น (ร้อยละ 11.31) สินค้าของใช้สํานักงาน (ร้อยละ 10.41) สินค้าอื่น ๆ (ร้อยละ 9.39) สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน (ร้อยละ 9.19) สินค้าเพื่อสุขภาพ (ร้อยละ 4.34) สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (ร้อยละ 1.53) และสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 1.25) ตามลําดับ โดยบริษัท Amazon เป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐฯ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 38.7
ในช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 ระบาดและตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคม 2563 การจําหน่ายสินค้าออนไลน์ในตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าที่มียอดจำหน่ายออนไลน์เพิ่มสูงเปลี่ยนแปลงไปเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต สินค้าอุปกรณ์ป้องกันและทําความสะอาดขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 807 สินค้ากระดาษชําระขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 231 สินค้าอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 87 และสินค้าเพื่อสุขภาพขายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์พกพาก็มียอดจําหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40
ระหว่างวันที่ 1-17 มีนาคม 2563 Rakuten Intelligence ได้สำรวจการบริโภคสินค้าออนไลน์ในตลาดสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันลดการออกไปซื้อสินค้านอกบ้านลงอย่างเห็นได้ชัดและหันไปเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทดแทนมากขึ้น ยอดจําหน่ายสินค้าปลีกออนไลน์ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24
ยอดจําหน่ายสินค้าออนไลน์ของผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่างบริษัท Amazon บริษัท Target และบริษัท Walmart ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก จากนโยบายการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การปิดร้านค้าปลีกและธุรกิจที่ไม่จําเป็น การไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง ทำให้ผู้บริโภคตุนสินค้า นอกจากนี้ ธุรกิจออนไลน์ยังได้ลูกค้าเพิ่มในกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดค้าปลีกออนไลน์ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกหน้าร้านแบบดังเดิมต้องพักงานหรือเลิกจ้างพนักงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัท Walmart บริษัท Amazon และบริษัท CVS ที่เป็นช่องทางให้ผู้บริโภคซื้อของออนไลน์ กลับต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 ตําแหน่ง เพื่อสนับสนุนกิจการค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ยอดขายออนไลน์พุ่งไม่ได้หมายความว่ากำไรจะดีเสมอไป สินค้ากลุ่มที่มีจําเป็นและเป็นที่ต้องการสูงในช่วง COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นกระดาษชําระและอุปกรณ์ทําความสะอาดมักจะมีสัดส่วนกําไร (profit margin) ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเสื้อผ้าและของเล่น ดังที่บริษัท Target ได้ออกแถลงการณ์เตือนสําหรับนักลงทุนว่า แม้ว่าบริษัทฯ จะมียอดขายขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 ในเดือนมีนาคม 2563 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทฯ จะมีสัดส่วนผลประกอบการดีในไตรมาสนี้จากปัจจัยด้านสัดส่วนกําไรในผลประกอบการที่ค่อนข้างต่ำ ผู้ประกอบการที่สนใจจะขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างจริงจังจึงมีโจทย์สำคัญที่จะต้องทำการบ้านด้วยว่า จะขายสินค้าออนไลน์อย่างไรให้ตอบสนองแนวโน้มความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้สัดส่วนกำไรที่มากขณะที่ทำยอดให้พุ่งไปควบคู่กัน
ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางการจําหน่ายสินค้าปลีกที่สําคัญที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายพบกันได้โดยสะดวก ผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภครุ่นใหม่ได้รับความสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตนถนัดใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ขณะที่ผู้ขายโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยลงเพราะไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าเช่าร้าน ปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าปลีกหลากหลายที่แนะนำวิธีการขายของออนไลน์ไว้พร้อม ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของรูปแบบกิจการ อย่างเช่น amazon.com alibaba.com thaitrade.com 4wholesalesusa.com และ wholesalecentral.com อนาคตค้าปลีกออนไลน์ในตลาดสหรัฐฯ สดใสขนาดนี้ เริ่มลงมือกันเดินหน้ากันเลย!
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี