สหรัฐฯ เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมประมงภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามคำสั่งพิเศษ (Executive Order) เรื่อง Promoting American Seafood Competitiveness and Economic Growth เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงในสหรัฐฯ เพิ่มการผลิตสินค้าประมง เพิ่มการจ้างงานในอุตสาหกรรมประมง เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมประมงสหรัฐฯ ในตลาดต่างประเทศ

ภายใต้คำสั่งดังกล่าว สหรัฐฯ จะกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนจ้างงานภายในประเทศ ลดอุปสรรคด้านการค้า แก้ปัญหาการประมงแบบผิดกฎหมาย หรือ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated) เน้นการดำเนินงานให้ของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และลดกฎระเบียบและขั้นตอนอนุญาตที่ยุ่งยาก โดยมีมาตรการหลัก ได้แก่

  • ส่งเสริมกระบวนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพและสามารถคาดคะเนได้
  • เร่งปฏิรูปกฎหมายส่งเสริมการทำประมงเพื่อการพาณิชย์
  • เพิ่มข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าประมงที่ไม่ได้มาตรฐานสหรัฐฯ
  • ส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวตกรรมด้านการประมง

ในด้านการค้าสินค้าประมงกับต่างประเทศ ประธานาธิบดีทรัมป์มีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ร่วมเป็นประธานในคณะทำงาน Seafood Trade Task Force” ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร และกระทรวงมหาดไทย ของสหรัฐฯ ร่วมอยู่ในคณะทำงานอย่างพร้อมเพรียง คณะทำงานฯ จะต้องร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการขยายการค้าสินค้าประมงในต่างประเทศ การแก้ไขอุปสรรคทางเทคนิค และการเข้าถึงตลาดอย่างเป็นธรรม เพื่อเสนอสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน และภายหลังจากนั้น ให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เสนอแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวต่อประธานาธิบดีทรัมป์ในอีก 90 วันถัดไป

โดยที่ปัจจุบัน แทบทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมประมง กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณรวม 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้กฎหมาย CARES Act เพื่อช่วยเหลือชาวประมงและธุรกิจในอุตสาหกรรมประมงในรัฐชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด ได้แก่ รัฐอะแลสกาและรัฐวอชิงตัน ซึ่งได้รับงบประมาณรัฐละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สมาคมการค้าสินค้าประมง National Fisheries Institute (NFI) ได้ออกแถลงการณ์ยินดีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสนใจกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการค้าสินค้าประมงอย่างจริงจังภายใต้คำสั่งดังกล่าว และหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ สามารถเปิดตลาดสำคัญ ๆ มากขึ้น อย่างเช่นจำหน่าย shellfish ไปยังตลาดอียู และส่งออก Alaska pollack ไปยังญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมประมงเป็นอุตสาหกรรมที่นาย Wilbur Ross รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ผลักดันและให้ความสำคัญเป็นพิเศษตั้งแต่เริ่มเข้ามารับตำแหน่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ภายใต้คำสั่งการนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดนโยบายที่ลงลึกในเชิงปฏิบัติอย่างจริงจัง รัฐมนตรรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้ร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบุพื้นที่ที่เหมาะกับการประมงเชิงพาณิชย์สองแห่งภายใน 1 ปี รวมถึงให้มีการปรับปรุงแผน National Aquaculture Development Plan ภายใน 180 วัน

ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการประมงจำนวน 1.7 ล้านงาน และสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่สหรัฐฯ ยังคงนำเข้าสินค้าประมงเพื่อบริโภคสูงถึงร้อยละ 85 เมื่อปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าประมงไปยังสหรัฐฯ ด้วยมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับที่ 7 ขณะที่สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าประมงไปยังประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 9 คงต้องจับตาดูว่า คำสั่งการรอบนี้จะกลายเป็นผลเชิงรูปธรรมอย่างไร และไทยต้องปรับตัวมากน้อยเพียงใด

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล :

Share This Post!

668 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top