เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 บริษัทและสมาคมการค้า 222 แห่งของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันส่งหนังสือถึงประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้านการจัดหารายได้แผ่นดิน (Ways and Means) และคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการเงินและการคลัง (Finance) ขอให้เร่งผ่านกฎหมายเพื่อต่ออายุสิทธิพิเศษทางศุลกากรหรือ GSP (Generalized System Preference) โดยเร็ว เนื่องจากสิทธิ GSP ที่ได้รับการอนุมัติภายใต้งบประมาณประจำปี 2561 (Omnibus Spending Bill) ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 นั้น กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563
สมาคมการค้าสำคัญในสหรัฐฯ ที่ได้ร่วมมีหนังสือถึงสภาคองเกรสครั้งนี้ เช่น หอการค้าสหรัฐฯ สมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าอเมริกัน (American Apparel and Footwear Association:AAFA) สมาคมอุตสาหกรรมเอาท์ดอร์ (Outdoor Industry Association: OIA) สมาคมเพื่อ GSP (Coalition for GSP) สมาคมอุตสาหกรรมประมง (National Fisheries Institute: NFI) และสมาพันธ์ผู้ค้าปลีก (National Retail Federation: NRF)
กลุ่มเอกชนผู้เรียกร้องกล่าวว่า หลายบริษัทกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกตกต่ำลง พร้อมทั้งยังกล่าวถึงการตัดสิทธิ GSP บางส่วนของไทยเมื่อเดือนเมษายน 2563 ว่า จะเป็นการเพิ่มภาระภาษีนำเข้าให้กับเอกชนสหรัฐฯ หลายล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยหากมีการคืนสิทธิ GSP ที่สูญเสียไป (รวมถึงสิทธิ GSP ที่ให้กับอินเดีย ตุรกี ตลอดจนสิทธิ GSP รายสินค้าหลายรายการ ที่ USTR ปฏิเสธคำขอในการให้สิทธิในการทบทวนรอบปัจจุบัน) จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้กับบริษัทและคนงานสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 นาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้เข้าให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม (hearing) ต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการเงินและการคลัง เรื่อง The President’s 2020 Trade Policy Agenda โดยในช่วงหนึ่ง ได้ตอบคำถามว่า รัฐบาลยังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการในเรื่อง การต่ออายุสิทธิ GSP โดยนาย Lighthizer มองว่า GSP เป็นประโยชน์ แต่ยังต้องมีการปรับเปลี่ยน และขอกลับไปดูรายละเอียดของกฎหมายอีกครั้ง พร้อมทั้งยังกล่าวถึงประเด็นที่สหรัฐฯ เสียเปรียบด้านการค้า เนื่องจากสหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP แบบให้เปล่ากับประเทศคู่ค้า แต่ประเทศเหล่านี้กลับทำความตกลงที่ให้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า (ที่ให้กับสหรัฐฯ) กับประเทศอื่น ๆ อาทิ ประเทศในแถบยุโรป
สหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแก่ไทยประมาณ 3,500 รายการ ต่อมา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ไทยถูกระงับสิทธิ GSP บางส่วน จำนวน 573 รายการ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2562 ไทยใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP จากสหรัฐฯ รวมมูลค่า 4,787.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 81.15 และในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2563 ไทยใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP จากสหรัฐฯ รวม 1,224.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 82.15